บริษัทในอาเซียนตบเท้าเข้าลงทุนในเวียดนาม

30 ม.ค. 2559 | 07:00 น.
การดำเนินนโยบายต่างประเทศในด้านการค้าอย่างชาติฉลาดของรัฐบาลฮานอย ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศเนื้อหอมสำหรับบริษัทในอาเซียนด้วยกัน บริษัทของไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ตบเท้าตามเกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในตลาดเวียดนามไม่ขาดสาย

หนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์รายงานอ้างข้อมูลสำนักงานลงทุนจากต่างประเทศ ของรัฐบาล ว่ากระแสการเข้ามาลงทุนในประเทศเวียดนามคึกคักต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว โดยคาดว่าในปีนี้ บริษัทจากประเทศจีนคงต้องเข้ามาลงทุนเพื่อหวังขายตลาดอเมริกา

บริษัทต่างชาติรายล่าสุดที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามที่มีการประกาศกันออกมาในวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา คือสายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์ส ของญี่ปุ่นซึ่งเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทเวียดนามแอร์ไลน์ส ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติจำนวน 8.8 % โดยนาย ฟามง๊อกมิง (Pham Ngoc Minh) ซีอีโอ ของสายการบินเวียดนามฯ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า การซื้อขายจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนปีนี้

ก่อนหน้านั้น บริษัทเมเปิ้ลของสิงคโปร์ ได้ใบอนุญาตสร้างโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปมูลค่าลงทุน 110 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,960 ล้านบาท) ที่นิคมอุตสาหกรรมเวียดนาม-สิงคโปร์ที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของจังหวัดบั๊กนิญ โดยมีกำลังการผลิต 22 ล้านชิ้นต่อปีโรงงานเปิดดำเนินการในปี 2561

ทางด้านมาเลเซีย มีรายงานว่า บริษัท ยูไนเต็ดมอร์ (United More SDN Bhd) ได้รับอนุญาตลงทุน 21 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 756 ล้านบาท) ทำกรอบและแผ่นพลาสติกครอบจอโทรทัศน์ ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมไซ่ง่อนไฮ-เทค เริ่มผลิตในไตรมาส 2ปีนี้เริ่มต้นที่ 4 ล้านชิ้นต่อปี

นอกจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แล้ว เวียดนามนิวส์รายงานว่าการลงทุนจากประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็คึกคักไม่แพ้กันโดยหนังสือพิมพ์ออนไลน์ของรัฐบาล baochinphu.vn รายงานว่าค่ายเบียร์สิงห์ของไทย ลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 36,000 ล้านบาท) ซื้อหุ้น 25% ของ Masan Holdings และ 33% ของ Masan Brewery เจ้าของเบียร์ยี่ห้อสิงโตขาวและเครื่องดื่มอีกจำนวนหนึ่ง

นอกจากเบียร์สิงห์แล้วในช่วงปลายปีที่แล้วบริษัทพาวเวอร์บายฯ ในเครือของกลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าซื้อหุ้น 49% ของบริษัท NKT ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ เครือข่ายร้านขายปลีกสินค้าเครื่องไฟฟ้า เหวียนคิม โดยมีรายงานในสื่อออนไลน์ ndh.vn ของรัฐบาลระบุว่า บริษัทของไทยหลายรายย้ายการลงทุนไปเวียดนาม มาเลเซียและสิงคโปร์ เพราะประเทศไทยไม่อยู่ในภาคีเครือข่ายข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี)

เวียดนามนิวส์รายงานว่า การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในเวียดนามที่คึกคักในเดือนมกราคมปีนี้เป็นผลมาจากการลงทุนของบริษัทซัมซุงและแอลจีจากเกาหลีใต้ซึ่งใช้เวียดนามเป็นฐานในการผลิตสินค้าหลายชนิด โดยแอลจี อิเล็กทรอนิกส์ ยักษ์ผู้ผลิตโทรทัศน์อันดับ 2 ของโลกย้ายโรงงานผลิตโทรทัศน์จากไทยไปอยู่เวียดนามตามหลังซัมซุงที่ย้ายโรงงานจากไทยไปเวียดนามเช่นกัน

เวียดนามนิวส์ระบุว่า ก่อนหน้าที่บริษัทจากอาเซียนจะตบเท้าเข้าลงทุนในเวียดนาม บริษัท ซัมซุง บริษัทแคนนอน บริษัทฮุนได บริษัทพอสโค และบริษัทเคปโก โดย 2 บริษัทหลังนี้คือผู้ผลิตเหล็กและไฟฟ้ารายใหญ่ของเกาหลีใต้ได้ปักหลักลงทุนในเวียดนามไปก่อนหน้านี้แล้ว

นายคันวานลัค (Can Van Luc) ที่ปรึกษาอาวุโสของธนาคารเพื่อการลงทุนแลพัฒนาแห่งเวียดนามและผู้อำนวย การโรงเรียนฝึกอบรม BIDV ให้สัมภาษณ์สื่อออนไลน์ ndh.vn ว่า ในปีนี้นอกจากนักลงทุนจากประเทศไทยแล้วนักลงทุนจากประเทศจีนก็จะหวนกลับมาลงทุนในเวียดนามเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐกำลังขึ้นดอกเบี้ยและเศรษฐกิจจีนชะลอตัวทำให้เงินทุนต้องแสวงหาที่ลงทุนใหม่

นายโตตรุงธาน (To Trung Thanh) อาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัย เนชันแนลอีโคโนมิคส์ยูนิเวอร์ซิตี้กล่าวว่า ในปีที่แล้วเวียดนามได้ทำสัญญาและข้อตกลงการค้าเสรีกับ 3 กลุ่มการค้าด้วยกันคือประชาคมเศรษฐกิจยูเรเชีย ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ทีพีพี และประเทศเกาหลีใต้ นอกจากจากเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วยทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามสามารถบูรณาการกับตลาดหลายกลุ่มประเทศได้อย่างรวดเร็ว

ตัวเลขของทางการเวียดนามระบุว่าขณะนี้เศรษฐกิจเวียดนามบูรณาการกับเศรษฐกิจ 55 ประเทศระดับโลกทำให้มีการลดภาษีซึ่งกันและกันเหลือ 0% ในปริมาณถึง 90% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด ทำให้สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าเศรษฐกิจของเวียดนามมีโอกาสขยายตัวในระดับต้นๆ ของอาเซียน สูงกว่า 5.2% ของอินโดนีเซีย 4.5 % ของมาเลเซีย 3.2% ของไทยและ 2.3% ของสิงคโปร์

เวียดนามนิวส์รายงานว่าในปีที่แล้วมีการลงทุนจากต่างประเทศรวม 23,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 828,000 ล้านบาท) และคาดว่าในปีนี้กระแสการลงทุนยังมาแรงไม่แพ้กัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559