"ปตท.-เชฟรอน" หืดจับ! ชิงปิโตรฯ

13 พ.ค. 2561 | 18:16 น.
130561-0104 apptp8-3169-a-1

จับตา 28 พ.ค. นี้ ลุ้น 6 ราย ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นประมูลปิโตรเลียมหมดอายุ ต้องมีมูลค่ากิจการ 2-4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ งานนี้ "เชฟรอน-ปตท.สผ." หืดขึ้นคอแน่ รายใหม่ล้วนเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการ มีทั้งประสบการณ์ เงินลงทุนหนา และเทคโนโลยี พร้อมดัมพ์ราคาสู้แน่ หวังชิงรายได้ 2.1 ล้านล้านบาท

หลังจากที่มีผู้ยื่นความจำนงในการเข้าร่วมประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 ของแหล่งเอราวัณและบงกชไปแล้ว เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา จำนวน 6 ราย โดย 4 ราย เป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินงานอยู่ในไทยอยู่แล้ว ได้แก่ เชฟรอน, ปตท.สผ., โททาล และมูบาดาลา และมี 2 รายใหม่ อย่าง โอเอ็มวี อัคเทียน เกเซลชาฟท์ ของออสเตรีย และกลุ่มกิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 มีบริษัท Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group จากจีน ถือหุ้น 50% AL Jaber Group จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี ถือหุ้น 15% ที่ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนในไทยแต่อย่างใด


appBONG

จับตาผ่านคุณสมบัติ
โดยในวันที่ 15-16 พ.ค. นี้ จะมีการเปิดให้ยื่นคุณสมบัติเบื้องต้น และจะประกาศผลว่า ทั้ง 6 รายนี้ จะผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นตามที่กำหนดหรือไม่ ในวันที่ 28 พ.ค. นี้ เพื่อที่จะมีสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูลต่อไป คุณสมบัติที่มีการจับตากันมากจะเป็นด้านการเงินของผู้ยื่นขอสิทธิ์ประมูลในแหล่งเอราวัณ จะต้องมีมูลค่าการถือครองหุ้นในกิจการอย่างน้อย 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างปี 2559-2560 และแหล่งบงกช 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากผ่านไปได้ทั้งหมด เท่ากับว่าการประมูลครั้งนี้จะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพราะทุกรายพร้อมที่จะกดราคาขายก๊าซธรรมชาติให้ลงมาต่ำสุด หวังเป็นผู้ชนะในแหล่งปิโตรเลียมที่จะสร้างรายได้สูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท หรือ มีกำไรสูงถึง 9 แสนล้านบาท นับจากปี 2565 เป็นต้นไป จนสิ้นสุดสัญญา 10 ปี จากการลงทุนราว 1.2 ล้านล้านบาท

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่า ผู้ประกอบการใดจะขาดคุณสมบัติหรือไม่ เพราะต้องให้ทั้ง 6 ราย ยื่นเอกสารคุณสมบัติเบื้องต้นมาก่อน และหลังจากนั้นถึงจะพิจารณา โดยส่วนตัวมองว่า ผู้ประกอบการที่มายื่นแสดงความจำนงในการประมูลนี้ คงมีความมั่นใจว่า คุณสมบัติครบถ้วน เพราะแต่ละรายล้วนอยู่ในวงการปิโตรเลียมอยู่แล้ว


appoil-rig-334417

OMV บิ๊กข้ามชาติออสเตรีย
ทั้งนี้ หากเจาะลึกลงไปในการดำเนินธุรกิจของ บริษัท อัคเทียนเกเซลชาฟท์ ของออสเตรีย มีตั้งแต่การสำรวจพัฒนาและขุดเจาะน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ ผลิตผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานและปิโตรเคมี มียอดขายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 19,000 ล้านยูโร หรือกว่า 7.29 แสนล้านบาท เป็นองค์กรธุรกิจข้ามชาติ มีพนักงานรวมกว่า 22,500 คน โดยข้อมูลปี 2559 พบว่า ธุรกิจด้านพลังงานต้นน้ำของโอเอ็มวีมีครอบคลุม 15 ประเทศทั่วโลก และเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ออสเตรีย

ขณะที่ บริษัท โททาลฯ (Total SA) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากฝรั่งเศส ได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 7 บริษัทน้ำมันใหญ่ของโลก ครอบคลุมธุรกิจด้านพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ มีการจ้างพนักงานเกือบ 1 แสนคน ใน 130 ประเทศทั่วโลก โดยกลางปี 2560 โททาลได้ทำสัญญากับรัฐบาลอิหร่านมูลค่า 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติและขุดเจาะก๊าซจากแหล่ง South Pars ที่ได้ชื่อว่า เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก


appPetro-3163

มูบาดาลา ยักษ์ใหญ่ยูเออี
สำหรับบริษัท Mubadala Petroleum (Thailand) เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท Mubadala Petroleum ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE ที่ไม่ได้มีธุรกิจเฉพาะในประเทศไทย แต่ยังได้รับสัมปทานแหล่งน้ำมัน แหล่งก๊าซ ในอีกหลายประเทศ เช่น ในกาตาร์, โอมาน, บาห์เรน, อินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังเข้ามาซื้อกิจการทั้งหมดของ บริษัท Pearl Energy ที่เป็นสัญชาติอเมริกัน ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ จึงได้สิทธิสัมปทานปิโตรเลียมในไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ของบริษัทมาด้วย

ส่วนบริษัท ไห่เฉิง ปิโตรเลียมฯ เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ขุดเจาะน้ำมันรายใหญ่ของจีน ป้อนให้กับบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของจีน ไม่ว่าจะเป็น ซีเอ็นพีซี หรือ ซิโนเปค รวมถึงมีลูกค้าและพันธมิตรโครงการในหลายประเทศทั่วโลก เช่น คูเวต รัสเซีย ไนจีเรีย และอิรัก อีกทั้งยังมีบริการด้านวิศวกรรมแท่นขุดเจาะน้ำมัน และยังได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 50 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องจักรกลขุดเจาะน้ำมันของจีน ขณะที่ AL Jaber เป็นบริษัทดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของกาตาร์

 

[caption id="attachment_280835" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง
รองนายกรัฐมนตรี[/caption]

'ประจิน' ยันพร้อมรับรายใหม่
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุ โดยส่วนตัวไม่มีความกังวลว่าจะเป็นรายเก่าหรือรายใหม่จะชนะการประมูลครั้งนี้ เพราะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศ อาทิ ออสเตรีย จีน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเทคโนโลยี มีศักยภาพด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่อง เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ทำให้การผลิตมีศักยภาพ ต้นทุนก็จะต่ำลง ดังนั้น ส่วนตัวไม่กังวลว่า จะเป็นรายเก่าหรือรายใหม่ชนะประมูล แต่ต้องการผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ

นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการสำรวจขุดเจาะและผลิตในอ่าวไทย จะได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างราว 1 หมื่นคน ในกรณีที่เป็นรายใหม่ชนะการประมูลนั้น เชื่อว่าจะไม่มีผลอย่างแน่นอน เนื่องจากในทีโออาร์เขียนไว้ชัดว่า ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอสัดส่วนการจ้างพนักงานไทยไม่ต่ำกว่า 80% ในสิ้นปีที่ 1 และไม่ต่ำกว่า 90% ในสิ้นปีที่ 5 ของการดำเนินงาน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,365 วันที่ 13-16 พ.ค. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทุนจีนกดราคาก๊าซ 50%! ชิงประมูลปิโตรเลียม
ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ : ขุมทรัพย์ปิโตรเลียมไทยอยู่ที่ไหน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว