ชง ม.44 ปลดล็อกก่อสร้าง! เสนอลดเวลาขอใบอนุญาตเหลือ 30 วัน - ยกอันดับขีดแข่งขัน

13 พ.ค. 2561 | 11:40 น.
130561-1821 20180408_180421_0003

'กอบศักดิ์' เตรียมหารือนายกฯ ขอใช้ ม.44 ปลดล็อกขออนุญาตก่อสร้างจาก 110 วัน เหลือ 30 วัน หวังเพิ่มคะแนนขีด ... กรมศุลฯ เร่งนำระบบไอทีมาใช้ ตรวจปล่อยของร่นเวลาจาก 3 นาที เหลือ 20 วินาที ... กฟน. หั่นค่าบริการไฟฟ้าลดต้นทุนธุรกิจ

ระหว่างวันที่ 15-18 พ.ค. นี้ ทีมวิจัยจากธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ จะเดินทางเข้ามาเก็บคะแนนความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจของไทย เพื่อนำข้อมูลกลับไปจัดทำรายงานจัดอันดับประเทศที่มีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในช่วงปลายปี ซึ่งปี 2560 ประเทศไทยขยับมาอยู่ที่ 26 ของโลก และในปีนี้ รัฐบาลต้องการให้อันดับของไทยดีขึ้นอีก จึงได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ หนึ่งในนั้น คือ การลดระยะเวลาอนุญาตก่อสร้างของกรุงเทพมหานครจาก 110 วัน ให้เหลือ 30 วัน

 

[caption id="attachment_280787" align="aligncenter" width="503"] ©Reuters ©Reuters[/caption]

แหล่งข่าวจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ที่ผ่านมา การขอใบอนุญาตก่อสร้างของ กทม. ยังมีความล่าช้า ต้องใช้เวลานานถึง 110 วัน และต้องตรวจการก่อสร้าง 7 ครั้งต่อปี ทำให้การก่อสร้าง 7 ครั้งต่อปี ทำให้การก่อสร้างช้า รัฐบาลจึงตั้งเป้าลดเวลาขออนุญาตให้เหลือ 30 วัน แต่ กทม. ยังทำเรื่องนี้ไม่เสร็จ เพราะจากมติที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2561 เพิ่งมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางปรับปรุงแก้ไขระเบียบข้อบัญญัติด้านโยธาและผังเมืองกรุงเทพมหานคร ภายในระยะเวลา 120 วัน ซึ่งไม่ทันปลดล็อก ก่อนที่ธนาคารโลกจะมาเก็บคะแนน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลดเวลาการอนุมัติก่อสร้างจาก 110 วัน ให้เหลือ 30 วัน จะช่วยให้คะแนนความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยดีขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจะพิจารณาว่าจะสามารถทำทันภายในเดือนนี้หรือไม่ และจะมีบางเรื่องอาจใช้มาตรา 44 ได้ ตนจะลองนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดูว่าสามารถออก ม.44 เพื่อลดเวลาขออนุญาตก่อสร้างจาก 110 วัน เหลือ 30 วัน ได้หรือไม่ เพราะถ้าเราเร่งทำตรงนี้ได้ ก็จะได้ประโยชน์กับคะแนนความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยด้วย


GP-3365_180513_0017

เวิลด์แบงก์เก็บข้อมูล 10 ด้าน
นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า วันที่ 15 และ 16 พ.ค. ทีมนักวิจัยจากธนาคารโลกจะเดินทางเข้ามาเก็บข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การให้คะแนน 10 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ 2.ด้านการได้รับสินเชื่อ 3.ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง 4.ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง 5.ด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 6.ด้านการขอใช้ไฟฟ้า 7.ด้านการชำระภาษี 8.ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน 9.ด้านการค้าระหว่างประเทศ และ 10.ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย

"จากนั้นวันที่ 17 พ.ค. ตัวแทนธนาคารโลกจะเข้าพบเก็บข้อมูลจากผู้กำหนดนโยบายโดยตรงจาก พล.อ.ประยุทธ์, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และในวันที่ 18 พ.ค. ธนาคารโลกจะเก็บข้อมูลจากภาคเอกชน ในฐานะเป็นผู้ใช้บริการว่า ใช้แล้วได้รับบริการและประสิทธิภาพอย่างไร" นางอารีย์พันธ์ กล่าว

 

[caption id="attachment_280788" align="aligncenter" width="294"] กุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กุลณี อิศดิศัย
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า[/caption]

จดทะเบียนธุรกิจครึ่งวันเสร็จ
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมได้มีการลดขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ โดยการพัฒนาระบบให้สามารถจองชื่อนิติบุคคล พร้อมจดทะเบียนนิติบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ ได้ในขั้นตอนเดียวผ่าน Smart Device ที่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2561 นอกจากนี้ ยังได้ลดขั้นตอนการดำเนินการลง 5 ขั้น จากเดิมในปี 2560 ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 25.5 วัน เหลือ 4.5 วัน ในปีนี้ เช่น การจองชื่อบริษัทใช้เวลา 0.5 วัน การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใช้เวลา 1 วัน เป็นต้น และในปี 2562 จะลดขั้นตอนการดำเนินงานบริการให้กับผู้ประกอบการเหลือ 3 ขั้นตอน ใช้เวลาในการดำเนินงาน 2 วัน ด้วยการนำระบบอีรีจิสเตอร์เข้ามาช่วยในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการ โดยจะใ้ชเวลาเพียงครึ่งวันเท่านั้น


กรมศุลฯ เร่งใช้ไอที
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า การประเมินด้านการค้าระหว่างประเทศถือว่ามีความพร้อมในหลายเรื่อง เช่น กระบวนศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงท่าเรือ หรือ ท่าอากาศยาน (Pre-Arrival) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้นำของเข้าได้มีทางเลือกในการผ่านพิธีการศุลกากร หากสินค้าที่ไม่มีความเสี่ยงสามารถส่งมอบสินค้าได้ทันทีเมื่อสินค้ามาถึง เป็นการลดระยะเวลา ค่าใช้จ่าย โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. สำหรับท่าเรือและสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรทั่วประเทศ ส่วนท่าเรือแหลมฉบังได้เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นี้


07-3347-30

นอกจากนั้น ยังได้พัฒนาร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยในการพัฒนาระบบ E-Matching ผ่าน National Single Window โดยนำมาใช้กับท่าเรือขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพฯ ลดระยะเวลาจากเดิม 3 นาที เหลือ 20 วินาที รวมทั้งยังได้ลงนามกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยในการตรวจปล่อยของจากท่าเรือแหลมฉบังได้เลย รวมทั้งมีการเปิดให้สอบถามพิกัดล่วงหน้า เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน

ขณะเดียวกัน ยังปรับปรุงในเรื่องสินค้าถ่ายลำ จากเดิมจะต้องมายื่นเอกสาร 19 ชนิด แต่ปัจจุบัน สามารถดำเนินการทางออนไลน์ได้เลย และในวันที่ 16 พ.ค. จะมีการเปิดระบบการใช้ E-Matching อย่างเป็นทางการ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง หากเป็นไปได้ อยากให้เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกไปดูด้วยตัวเองว่า ได้ลดขั้นตอนการตรวจปล่อยของจาก 3 นาที เหลือ 20 วินาทีเท่านั้น


resize_org_1517972699-กรมศุลกากร

ส่วนที่คืบหน้าน้อยที่สุด คือ การออกใบอนุญาตรวมศูนย์ที่กรมศุลกากรที่เดียว หรือ Single Form ซึ่งเป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อให้ใช้บริการทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจสามารถติดตามผลในทุก ๆ ขั้นตอนของการดำเนินงานนำเข้า ส่งออก และการอนุมัติผ่านทางอินเตอร์เน็ต (E-Tracking) ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง


กฟน. หั่นค่าบริการไฟฟ้า
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และโฆษก กกพ. กล่าวว่า เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการในเรื่องค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) โดยประกาศให้เร็วขึ้น 1 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนต้นทุนการผลิตได้ล่วงหน้า ส่วนปี 2561 นี้ ทางการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะปรับลดอัตราค่าบริการไฟฟ้าลง ซึ่งก่อนหน้านี้ ประชาชนร้องเรียนว่าเป็นอัตราที่แพงเกินไป


MP11-3255-1

ดังนั้น กกพ. จึงมีมติปรับลดค่าบริการ โดยตัดค่าต่อไฟฟ้าและค่าสมทบออกไป เหลือเพียงค่าตรวจไฟฟ้าเท่านั้น ส่งผลให้อัตราค่าบริการใหม่ เป็นดังนี้ มิเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (ต่ำกว่า 30 แอมป์) จากเดิมอัตราค่าบริการไฟฟ้าอยู่ที่ 2,080-11,800 บาท ลดเหลือ 700 บาท มิเตอร์ไฟฟ้าขนาดกลาง (30-100 แอมป์) จากเดิมอัตราค่าบริการไฟฟ้าอยู่ที่ 26,900-41,650 บาท ลดลงเหลือ 1,500 บาท มิเตอร์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (100-400 แอมป์) จากเดิมอยู่ที่อัตราค่าบริการไฟฟ้าอยู่ที่ 77,050-131,650 บาท ลดลงเหลือ 2,500 บาท


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,365 วันที่ 13-16 พ.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
บูมทำเลตลิ่งชัน - บางขุนนนท์ รับก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ศาลายา-ศิริราช
'สมคิด' เร่งไฮสปีดเฟส 2! ร.ฟ.ท. ขอ 200 ล้าน ศึกษาอู่ตะเภาต่อขยายถึงตราด ก่อสร้างปี 63


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว