กรมวิชาการเกษตรประกาศผลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 61

13 พ.ค. 2561 | 06:02 น.
กรมวิชาการเกษตร ประกาศผลการคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น 2 สาขา เชิดชูเกียรติเกษตรกรสาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช และเกษตรกรสาขาเกษตรอินทรีย์ เพื่อเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2561 วันจันทร์ที่ 14 พ.ค. 61 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้ส่วนราชการในสังกัดดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่นตามสาขาอาชีพที่กำหนด เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก ยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตร ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรได้พิจารณาเกษตรกรที่ผ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือก เพื่อเข้ารับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำ ปี 2561 จำนวน 2 สาขา คือ เกษตรกรดีเด่นสาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายบุญมี นามวงศ์ จังหวัดชัยภูมิ เกษตรกรชาวสวนส้มโอในระบบการจัดการคุณภาพ GAP พืช ที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตามหลักวิชาการและข้อกำหนดของระบบ

kaset

โดยมีการจัดการคุณลักษณะของสวนส้มโอ มีการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรอย่างถูกต้องและเหมาะสม มีการจัดหาและจัดระบบปัจจัยการผลิตจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ มีการปฏิบัติตามและควบคุมระบบการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตส้มโอที่มีขนาดตรงตามมาตรฐาน และมีคุณภาพที่ปลอดภัยจากสารพิษและปลอดศัตรูพืช ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงานของกระบวนการผลิตและแหล่งที่มาของปัจจัยการผลิตอย่างเคร่งครัดในทุกขั้นตอน โดยมีพื้นที่สวนส้มโออยู่ในอำเภอบ้านแท่นประมาณ 15 ไร่ และปลูกส้มโอพันธุ์ทองดีที่มีคุณลักษณะเด่นแตกต่างจากที่อื่น คือ เนื้อส้มโอจะแห้งไม่แฉะ รสชาติหวานอมเปรี้ยวกลมกล่อมกว่าที่อื่น ทำให้ส้มโอในพื้นที่อำเภอบ้านแท่นเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันยังคงรักษามาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง

เกษตรกรดีเด่นสาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นายสฤษดิ์ โชติช่วง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกษตรกรเจ้าของสวนมะพร้าวอินทรีย์บนเกาะพะงัน ที่ยึดหลักการผลิตพืชอินทรีย์ โดยการอาศัยระบบธรรมชาติและเทคโนโลยีการผลิตพืชตามหลักวิชาการที่ถูกต้องและเหมาะสม มีการวางแผนการจัดการตามมาตรการปฏิบัติป้องกันการปนเปื้อนที่ชัดเจน มีการจัดการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ มีการจัดการศัตรูพืชด้วยเทคโนโลยีการนำศัตรูธรรมชาติมาใช้ในการกำจัดศัตรูพืชภายในสวน เรียนรู้กระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนมะพร้าวเกาะพะงัน ต่อยอดผลิตภัณฑ์มะพร้าวอินทรีย์แปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า อาทิ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวเกาะพะงันอย่างยั่งยืน

kaset1

พร้อมขยายผลสร้างความยั่งยืนในอาชีพการผลิตมะพร้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานพืชอินทรีย์ ด้วยการคัดเลือกสายพันธุ์มะพร้าวใหญ่เกาะพะงันจากระบบการผลิตพืชอินทรีย์ที่ให้ผลผลิตคุณภาพดีมาทำการขยายพันธุ์ คุณลักษณะเด่นของพันธุ์มะพร้าวใหญ่ คือ สะโพกโต เนื้อหนา กะลาแข็ง ก้านใหญ่ ทางใบยาว เนื้อมะพร้าวสองชั้น น้ำมันใส ใยเปลือกเหนียว และเนื้อหวานมัน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดในระดับสากลต่อไป

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า เกษตรกรดีเด่นทั้ง 2 สาขานี้ นับเป็นเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอาชีพเกษตรกร โดยใช้ความรู้ทางด้านการเกษตร ความคิดริเริ่ม มีความอุตสาหะ มีความขยันหมั่นเพียร รวมถึงเป็นผู้นำที่เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และที่สำคัญยิ่งคือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกษตรกรในชุมชน และเกษตรกรทั่วไปได้นำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างดียิ่ง จึงสมควรได้รับรางวัลดังกล่าว

kaset2

e-book-1-503x62