นายกฯ ชี้! การลงพื้นที่ 'นครชัยบุรินทร์' ต่อยอดการพัฒนาเเละรายได้ ปชช.

13 พ.ค. 2561 | 04:33 น.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า เมื่อต้นสัปดาห์ ผมและคณะรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ ผมขอยกตัวอย่างโครงการประชารัฐ และผลสัมฤทธิ์ที่น่าสนใจจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ มาเล่าให้ฟังคร่าว ๆ นะครับ เพื่อให้เห็นแนวทางการทำงาน และเราก็มีความหวังนะครับที่ปลายทาง ดังนี้

1.โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเกษตร–อุตสาหกรรมและแปรรูป ได้แก่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาผักตบชวาให้เกิดความยั่งยืน โดยน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" มาเป็นหลักคิด และอาศัย "พลังประชารัฐ" มาเป็นกลไกในการปฏิบัติ ในการนำวัชพืชที่ไร้ค่ามาใช้ประโยชน์ด้วยการแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นยิ่งกว่าการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน โดยประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนพื้นที่และสถานการณ์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหน่วยบัญชาการทหารพัฒนากองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกับดร.ไพจิตร แสงไชย ผู้ประกอบการ Start-up ที่ได้รับรางวัลผู้ประดิษฐ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมของ World Economic Forum ได้จัดทำโครงการต้นแบบการแปรรูปผักตบชวา เป็น วอลเปเปอร์ 3 มิติ, ฝ้าเพดาน, อิฐดินประสาน, อิฐมอญ, แผ่นพื้นทางเท้า, งานจักสาน, เฟอร์นิเจอร์, งานศิลปะจากผักตบชวาอื่น ๆ เป็นต้น


F

ผลิตภัณฑ์แปรรูปเหล่านี้ จะดำเนินการด้านมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจดสิทธิบัตรต่อไป เช่น ดินปลูกปลอดสารเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งมีผักตบชวาเป็นส่วนผสมสำคัญ ที่ผ่านการวิเคราะห์และประเมินคุณภาพจากกรมพัฒนาที่ดินแล้ว รวมทั้งการใช้ผักตบเป็นวัสดุทดแทน เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือก สามารถลดต้นทุนการผลิตลง 20–30% และราคาขายก็ถูกกว่าวัสดุในท้องตลาด 80 ถึง 100 % เช่น ฝ้าเพดานแผ่นเรียบ ปกติราคาแผ่นละ140 บาท แต่ฝ้าเพดานจากผักตบชวามีต้นทุนเพียงแผ่นละ 65 บาท เท่านั้น พื้นแผ่นทางเดินเท้าราคาตลาดแผ่นละ 70 บาท ลดต้นทุนได้ "ครึ่งหนึ่ง" เหลือแผ่นละ 35 บาท อิฐบล็อกประสานผักตบชวาราคา 4.50 บาทต่อก้อน ในขณะที่ราคาตลาด 10–12 บาทต่อก้อน เป็นต้น อย่าลืมศึกษาการตลาดก่อนการผลิต

นอกจากนี้ ก็มีการคิดค้นและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเก็บ การขนย้าย และแปรรูปผักตบชวาให้กับราษฎรอีกหลายรายการ ทั้งนี้ ข้อมูลและองค์ความรู้นี้ ไม่ได้หวงห้ามแต่อย่างใด


สุรินทร์_๑๘๐๕๐๗_0008

2.การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ไหม ได้แก่ หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง ซึ่งเริ่มจากพระราชเสาวนีย์และ "เงินก้อนแรก" ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่อาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย ซึ่งเป็นอาจารย์วิทยาลัยในวังชายและเป็นลูกหลานของคนบ้านท่าสว่าง จึงได้เกิดโรงทอจันทร์โสมาขึ้น เพื่อผลิตผ้าไหมยกทองรูปแบบราชสำนักโบราณและเคยใช้ตัดเสื้อมอบแก่ผู้นำ APEC ซึ่งทำให้ผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่างเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกประเทศ ต่อมาบ้านท่าสว่างได้พัฒนาเป็น "หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ" โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและส่งเสริมให้ทุกชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้

โดยในปี 2560 บ้านท่าสว่างได้รับงบประมาณจากกลุ่มจังหวัด เพื่อพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เวทีกลางและพิพิธภัณฑ์บ้านท่าสว่าง รวมถึงได้รับการพัฒนาเป็นหมู่บ้านสัมมาชีพชุมชนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหม มีจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมจำนวน 20 ครัวเรือน และได้ขยายครัวเรือนเพิ่มอีกเป็น 26 ครัวเรือน ในปี 2561 นี้

ที่ผ่านมา กลุ่มร้านค้าในพื้นที่มีรายได้จากการจำหน่ายผ้าไหมและของที่ระลึกทั้งในรูปแบบการขายหน้าร้านขายตามการสั่งซื้อในระบบอินเตอร์เน็ต เฉลี่ยร้านค้าละ 150,000 บาทต่อเดือน มีผู้ได้รับประโยชน์ 35 ครัวเรือน 120 คน ส่วนกลุ่มผู้ทอผ้ามีรายได้จากการจำหน่ายผ้าทอจำนวน 40 ราย ๆ ละ 8,000 บาทต่อเดือน รวมผู้ได้รับประโยชน์ 40 ครัวเรือน


สุรินทร์_๑๘๐๕๐๗_0002

นอกจากนี้ โรงทอผ้าไหมยกทองโบราณมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าไหมยกทองโบราณและให้บริการต่าง ๆ เฉลี่ยจำนวน 1,200,000 บาทต่อเดือน และมีการจ้างงานราษฎรในหมู่บ้านในการทอผ้าทำให้มีรายได้กว่าเดือนละ 180,000 บาท นอกจากในเรื่องการทอผ้าแล้ว ยังมีการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ที่พักโฮมสเตย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมอีกนะครับ พร้อมกับจะต้องรักษาของโบราณไว้ด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องหรือตรงกับความต้องการของตลาด ผมมีข้อมูลทางสถิติของเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2561 ในสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่อย่างจะเล่าเพิ่มเติม คือ นางกุลกนก เพชรเลิศ  ที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถสร้างรายได้ กว่า 282,600 บาต่อปี ซึ่งเป็นรายได้จากอาชีพด้านหม่อนไหมที่ "ครบวงจร" จากการปลูกหม่อน 2.5 ไร่ ให้ผลผลิต 2,900 กิโลกรัมต่อไร่, เลี้ยงไหม 8 รุ่นต่อปี ได้เส้นไหม 16 กิโลกรัม, ทอผ้าไหมได้ 150 เมตรต่อปี รวมทั้งแปรรูปสบู่โปรตีนไหม 500 ก้อนต่อปี และขนมทองม้วนจากใบหม่อน 400 กิโลกรัมต่อปี ส่วนรายละเอียดรายได้แยกเป็นรายการแล้ว ก็ยิ่งมีความน่าสนใจนะครับ โดยมีรายได้จากส่วนอื่น ๆ อีก เช่น การทำนา การเลี้ยงหมูหลุม การเป็นวิทยากรงานด้านไหม และบ้านพักโฮมสเตย์ อีกด้วย

นอกจากนี้ ในพื้นที่ภาคอีสานไม่เพียงแต่ "ผ้าไหม" เท่านั้น ที่น่าสนใจนะครับ เรายังมี "ผ้าขาวม้า" ที่สามารถ "ขยายจุดแข็ง เป็นจุดขาย" อาทิ โครงการ "ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย" ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2559 โดยความร่วมมือกันของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) กับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นการเสริมสร้างอัตลักษณ์ให้กับผ้าขาวม้าไทย ซึ่งเป็นผ้าท้องถิ่นที่มีประวัติยาวนานกว่า 500 ปี ให้เป็นผลิตภัณฑ์ประจำท้องถิ่น และสามารถนำมาต่อยอดแปรรูปผ้าขาวม้า ให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ รวมทั้ง การพัฒนาคุณภาพและช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน


สุรินทร์_๑๘๐๕๐๗_0001

สนับสนุนให้มีการจดสิทธิบัตร เพื่อให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในอาชีพ และเชิดชูผ้าขาวม้าให้เป็นสินค้าประจำท้องถิ่นด้วย หลายรายก็เริ่มจากที่ตลาดคลองผดุงนี่นะครับ วันนี้ก็สามารถจะริเริ่ม สร้างสรรค์เพิ่มเติมมาใช้ตกแต่งบ้าน สถานที่ประชุม กระเป๋า ย่าม หรืออื่น ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2561 ก็ได้สานต่อความสำเร็จของโครงการมุ่งสร้างความต่อเนื่อง และต่อยอดกิจกรรมการพัฒนาชุมชนผู้ผลิตที่ได้จากการประกวดในปี 2560 ผ่านกิจกรรม "การเฟ้นหาทายาทผ้าขาวม้าไทย" เพื่อจะสร้างการรับรู้ ให้เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ "ผ้าขาวม้าทอมือ" ในการสืบสานภูมิปัญญา อนุรักษ์ศิลปะท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด "ทอมือ ทอใจ ช่วยชุมชน อย่างยั่งยืน"

โดยการรวมตัวเป็น Cluster เพื่อจะเพิ่มศักยภาพการผลิต และต่อยอดทางธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมชุมชนผู้ผลิตต้นแบบที่สืบสานปัญญาท้องถิ่น และนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป รวมทั้ง มีการประกวดออกแบบผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด "วอัตลักษณ์" 3 สาขา ได้แก่ ด้านแฟชั่น, เคหะสิ่งทอ และการออกแบบลายผ้าขาวม้า


สุรินทร์_๑๘๐๕๐๗_0003

ที่ผ่านมา ตัวอย่างชุมชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ ด้วยศักยภาพของชุมชนทอผ้าขาวม้า จ.อำนาจเจริญ ภายใต้แบรนด์ "นุชบา" ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "คลัสเตอร์ผ้าขาวม้าเงินล้าน" มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์การแปรรูปผ้าขาวม้า ให้เป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน การบริหารจัดการวัตถุดิบการผลิต องค์ความรู้ในการใช้สีธรรมชาติ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนช่องทางการตลาด ทั้งการออกร้านจำหน่ายสินค้าและตลาดออนไลน์ ทั้งนี้ สามารถแยกรายได้ "เพิ่ม" ในแต่ละกลุ่มงานได้ ดังนี้

(1) กลุ่มทอผ้า จากคนละ 5,000 บาทต่อคนต่อปี เป็นสูงสุดประมาณ 20,000 บาทต่อคนต่อปี
(2) กลุ่มแปรรูปผ้าขาวม้า ปัจจุบันมีรายได้จากการตัดเย็บกระเป๋าผ้าขาวม้าเฉลี่ยคนละประมาณ 20,000 บาทต่อคนต่อเดือน
(3) กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า มีรายได้จากการตัดเย็บเสื้อผ้าขาวม้า ส่งจำหน่ายที่ร้านประชารัฐและออเดอร์จากกลุ่มแปรรูปผ้าขาวม้านุชบา เฉลี่ยเดือนละประมาณ 60,000-100,000 บาท เป็นต้น


สุรินทร์_๑๘๐๕๐๗_0022

3.การส่งเสริมพัฒนาการค้าการลงทุนและการค้าชายแดน ได้แก่ จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม และโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรช่องจอม ทั้งนี้ "ช่องจอม" เป็นช่องทางข้ามแดนไทย-กัมพูชาที่ใหญ่ที่สุดของ จ.สุรินทร์  ซึ่งการค้าชายแดนบริเวณนี้มีมูลค่าสูง ปีที่แล้วมีมูลค่าการส่งออกเกือบ 880 ล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้ากว่า 2,200 ล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2557 จ.สุรินทร์ มีโครงการด่านศุลกากรช่องจอมขึ้น เพื่อจะรองรับศักยภาพการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสนับสนุนการให้บริการแบบจุดเดียวของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดการบริการที่สะดวก รวดเร็ว มีมาตรฐาน สากล รวมถึงเพื่อช่วยลดการจราจรที่แออัด ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ

นอกจากนี้ การเพิ่มศักยภาพของด่านช่องจอม จะเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการจะผลักดันการเจริญเติบโตของกลุ่มจังหวัด ด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ระบบโลจิสติกส์ เพื่อเป็น hub และศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค ซึ่งจะเชื่อมต่อกันได้ ทั้งระบบขนส่งทางบก คือ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ทางหลวงพิเศษบางปะอิน-นครราชสีมา ถนนมิตรภาพ รวมถึงทางน้ำ ได้แก่ 3 ท่าเรือหลัก ก็คือ แหลมฉบัง สัตหีบ และมาบตาพุด นอกจากนี้ จะเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ทั้งระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกภายใต้ความร่วมมือ GMS และเป็นประตูเชื่อมโยงกลุ่ม 3 ประเทศ "สามเหลี่ยมมรกต" ได้แก่ กัมพูชา ลาว และไทย รวมถึงต่อไปยังเวียดนามได้อีกด้วย

คาดว่าเมื่อเปิดดำเนินการจะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และการบริการทางการแพทย์ ซึ่งจะหมายถึงรายได้ของพี่น้องในพื้นที่และใกล้เคียงได้อย่างยั่งยืน โดยต้องไม่ลืมที่จะพิจารณาในเรื่องเขตแดนด้วยนะครับ ความปลอดภัยต่าง ๆ การเป็นเจ้าบ้านที่ดีเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญทั้งสิ้น


822642

4.การยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้แก่ โครงการประชารัฐ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน Homestay บ้านสนวนนอก เป็นอีกตัวอย่างที่เราได้เห็นการร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่เป็นการสร้างความแข็งแกร่งของชุมชนจากภายในหรือ "ระเบิดจากข้างใน" ที่ชัดเจน โดยในชุมชนมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 165 ครัวเรือน ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลักและมีการประกอบอาชีพเสริม เช่น ทอผ้า จักสาน หัตถกรรม ที่น่าสนใจและนำมาใช้ต่อได้ ก็คือ การบริหารงานหมู่บ้าน โดยคณะกรรมการที่ยึด "หลักธรรมนูญหมู่บ้าน" ที่ประกอบด้วย เป็นคนดี มีปัญญา มีรายได้ที่สมดุล สุขภาพแข็งแรง สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์ ครอบครัวอบอุ่น หลุดพ้นอาชญากรรม กองทุนพึ่งพาตนเองคณะกรรมการหมู่บ้านเข้มแข็ง โดยเน้นการขับเคลื่อนชุมชนด้วยพลัง "บวร" หรือ บ้าน วัด โรงเรียน นอกจากนี้ ชุมชนสนวนนอก ยังเป็นชุมชนคุณธรรมที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ที่มีการรวมกลุ่มจัดตั้ง กองทุนพึ่งพาตนเอง โดยนำเงินจากกองทุนไปบริหารและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนในชุมชน เช่นการสร้างถนนคอนกรีต

นอกจากนี้ ยังมีการรวมกลุ่มแปรรูปสินค้าชุมชน เช่น เสื้อ กระเป๋าอเนกประสงค์กระเป๋าดินสอ ตุ๊กตาผ้า เป็นต้น ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ "ตู้เย็นรอบบ้าน ATM ข้างกาย" และ ฃมีฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงให้กับชุมชนด้วย นอกจากนี้ ยังริเริ่มหมู่บ้านท่องเที่ยวไหมบ้านสนวนนอก เนื่องจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมการทอผ้าไหม เป็นวิถีดั้งเดิมของชนเผ่าในภาคอีสาน ทั้งชนเผ่า ไทยอีสาน ไทยลาว ไทยส่วย ไทยเขมรสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม จากรุ่นสู่รุ่น จึงมีการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมจนเกิดเป็นลายผ้าไหม ที่มีเอกลักษณ์เพื่อจะส่งเสริมให้คนในหมู่บ้านมีอาชีพเสริม ที่พัฒนามาจากองค์ความรู้ และภูมิปัญญาในท้องถิ่น บ้านสนวนนอกจึงได้ผลักดันกลุ่มทอผ้าไหม ให้เป็นหมู่บ้าน ท่องเที่ยวไหมบ้านสนวนนอก


8142

เริ่มจากการส่งเสริมการรวมกลุ่มของแม่บ้านที่มีอาชีพทอผ้าไหม และมีการระดมเงินจำนวน 10,000 บาท เพื่อเป็นทุน โดยในระยะแรกสินค้าและผลิตภัณฑ์เป็นผ้าไหมที่มีสีสันลวดลายแบบดั้งเดิมตามที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ยังไม่สามารถจำหน่ายตลาดนอกชุมชนได้ จึงมียอดจำหน่ายเพียงปีละ 10,000 บาท  ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการให้มีการฝึกอบรมทักษะการผลิตไหมการแปรรูป การตลาดมีการรับสมัครสมาชิกเพิ่ม เพื่อขยายกำลังการผลิตและนำผลิตภัณฑ์มาลงทะเบียน OTOP ซึ่งได้เป็นผลิตภัณฑ์ระดับ 4 และ 5 ดาวรวมถึงพัฒนาจนได้ลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของ จ.บุรีรัมย์ คือ "ผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดง" ซึ่งมีคุณภาพมีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของตลาด

ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้ขับเคลื่อนการเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP เชิงวัฒนธรรมโดยมีผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตไหมเป็นแนวคิดจนทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และเป็นอีกหนึ่งจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่อยากเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน ชมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้ฝึกทำและชิมขนมพื้นเมือง ชมการแสดงพื้นบ้าน นั่งรถกระสวยอวกาศชมธรรมชาติ รวมถึงการพักโฮมสเตย์ ส่งผลให้กลุ่มทอผ้าไหมมีความเข้มแข็งและขายผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่องจนสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน "เพิ่มขึ้น" กว่า 3 ล้านบาท ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมได้ไปตรวจเยี่ยมความพร้อมของประเทศไทย สำหรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก สนามที่ 15 รายการ PTT Thailand Grand Prix ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต


823993

ซึ่งเราได้รับการคัดเลือกให้จัดการแข่งขันรายการระดับโลกนี้ เป็นครั้งแรก เป็นเวลา 3 วัน ช่วง 5-7 ต.ค. นี้ คาดว่าจะได้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม กว่า 2 แสนคน นอกจากนี้ จะมีการถ่ายทอดผ่านช่องกีฬาชั้นนำกว่า 200 ช่อง ใน 207 ประเทศ สู่สายตาชาวโลกกว่า 800 ล้านคู่ จะเกิดผลดีทางเศรษฐกิจ อาทิ ข้อมูลจากการจัดการแข่งขัน ในรายการเดียวกันนี้ที่เมืองเซปัง ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 7 ปีที่แล้ว มีรายได้ "โดยตรง" จากผู้เข้าชมชาวต่างชาติและจากกิจกรรมต่อเนื่องราว 1,200 ล้านบาท

รายได้ "โดยอ้อม" มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเมืองรอง เมืองใกล้เคียง อีกกว่า 4,300 ล้านบาทนะครับ ทั้งนี้ เพื่อรองรับมหกรรมกีฬาครั้งนี้รัฐบาลช่วยสนับสนุนความพร้อม ในการปรับปรุงท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ทั้งขยายทางวิ่งและเพิ่มอาคารที่พักผู้โดยสาร ให้เหมาะสมต่อไป ภาคส่วนต่าง ๆ ก็จะต้องปรับตัวนะครับ ทั้งร้านอาหาร, ที่พัก - โฮมสเตย์, การเดินทาง, การท่องเที่ยว, สินค้าชุมชน-ของที่ระลึก รวมไปถึงการบริหารจัดการในพื้นที่ การจราจร การอำนวยความสะดวก การรักษาความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และการเดินทาง เป็นต้น  ต้องช่วยการคิดให้เป็นระบบ ช่วยกันทำอย่างมีแบบแผน และเป็นสากลโดยเฉพาะการเป็นเจ้าภาพ เป็นเจ้าบ้าน ที่ดีด้วยนะครับ ทั้งนี้ การที่รัฐบาลจะพิจารณาสนับสนุนกิจกรรมใด ๆ นั้น ก็ต้องดูศักยภาพ ดูความพร้อมของพื้นที่อีกด้วย


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ประยุทธ์ชี้! 'นครชัยบุรินทร์' คือ ประตูเชื่อม 'อีอีซี' และ CLMV
ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ : ครม.ตู่สัญจร นครชัยบุรินทร์ของบ 2 หมื่นล้าน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว