เร่งฟื้นเศรษฐกิจฐานราก ลดเหลื่อมล้ำ

12 พ.ค. 2561 | 14:02 น.
 

56548 แม้เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ หลายตัวจะมีสัญญาณบวก โดยสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจส่วนใหญ่พากันทำนายว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวในระดับ 4% แต่ถ้าดูจากรายงานภาวะเศรษฐกิจรายภาคของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ จะพบว่า ยังมีความเสี่ยงในเรื่องกำลังซื้อระดับฐานราก จากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับตํ่า และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

เศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาสที่ 1 มีสัญญาณว่ากำลังซื้อค่อยๆฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่การจ้างงานยังทรงตัว หนี้ภาคเกษตรยังสูง ยอดคงค้างสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพิ่มขึ้น สะท้อนภาระการชำระหนี้ของภาคเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง 5.4%
พัฒนาชนบท ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การบริโภคภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหดตัว กำลังซื้อภาคเกษตรยังไม่เข้มแข็ง รวมทั้งยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในระดับตํ่า

ขณะที่ภาคใต้ เป็นภาคที่มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมากที่สุด โดยเฉพาะในไตรมาส 1 ที่ผ่านมารายได้เกษตรกรติดลบสูงถึง 21.1% อันเนื่องมาจากพืชเศรษฐกิจหลัก คือ ยางราคาลดลง 43.7% ราคาปาล์มลดลง 35.7% ราคากุ้งขาวลดลง 14.5% ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 2 ยังขยายตัวบนความเสี่ยงราคาสินค้าเกษตรยังตํ่า แม้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า เกษตรกรและคนต่างจังหวัดยังไม่ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของจีดีพีเท่าที่ควร โดย “สมชาย พรรัตนเจริญ” นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย  ได้สะท้อนปัญหาไว้อย่างน่าสนใจว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

[caption id="attachment_280650" align="aligncenter" width="503"] สมชาย พรรัตนเจริญ สมชาย พรรัตนเจริญ[/caption]

กลุ่มแรกเป็นกลุ่มไฮเอนด์หรือพรีเมียม ซึ่งมีกำลังซื้อดี  กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มออนไลน์ มีการเติบโตดี ค้าขายด้วยเงินสดทำให้มีเงินหมุนเวียนดี ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มคนระดับล่าง หรือตลาดคนจน ยังมีกำลังซื้อที่ไม่ดี ทั้งผู้ประกอบการร้านค้า โชวห่วย จึงเป็นภาวะเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ดีกระจุก แย่กระจาย”

ดังนั้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลนับจากนี้จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก และราคาสินค้าเกษตร ด้วยการจัดกลุ่มแก้ปัญหาและมาตรการให้ชัดเจน เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางและผู้มีรายได้ระดับบน เพราะการปล่อยให้เศรษฐกิจโตแบบกระจุกตัว จะยิ่งซํ้าเติมปัญหาความเหลื่อมลํ้าที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างให้หนักขึ้น แต่ถ้าทำได้ก็เท่ากับแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าไปในตัว
................................
บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ |หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ| ฉบับ 3365 ระหว่างวันที่ 13-16
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว