'น้ำตาล' เริ่มไม่หวาน!!

12 พ.ค. 2561 | 09:18 น.
120561-1601 ไร่อ้อย2

... คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ผลิตน้ำตาลในโลกเริ่มยืนอยู่บนความเสี่ยง มองกันตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว ที่พลเมืองโลกต่างใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เริ่มให้ความสำคัญต่อยานพาหนะที่ไม่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น ดูจากการพัฒนาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี รถยนต์ไฮบริด ที่หลายประเทศลงมาชิงความรวดเร็วด้านเทคโนโลยีและความได้เปรียบจากการทำตลาด ในขณะที่ ไทยก็อยู่ในช่วงโหนกระแสไปด้วย ดูจากแอคชันภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เป็นตัวเร่งกระตุ้นการลงทุน หรือแม้แต่การใช้ชีวิตเดินทางประจำวัน ที่หลายคนยอมจอดรถทิ้งไว้ที่บ้าน หันมาขึ้นบีทีเอสแทน ทำให้แนวโน้มคนใช้น้ำมันน้อยลง และเมื่อการบริโภคน้ำมันลดลง กระทบต่อราคาเอทานอล (เอทานอลผลิตจากอ้อย, มันสำปะหลัง และข้าวโพด) ทันที

ประการต่อมา เมื่อราคาเอทอนอลถูกลง ผู้ผลิตน้ำตาลรายสำคัญในตลาด เช่น บราซิลก็นำอ้อยไปผลิตน้ำตาลแทน ยิ่งตอกย้ำให้ผลผลิตน้ำตาลโลกมีปริมาณมากเกินความต้องการใช้


ไร่อ้อย1

สอดคล้องกับที่บริษัทวิจัยในเยอรมนี F.O.licht ประมาณการดุลยภาพน้ำตาลโลก ว่า ปี 2560/2561 ผลผลิตน้ำตาลรวมอยู่ที่ 194.0 ล้านตันน้ำตาล ขณะที่่ การบริโภครวมอยู่ที่ 183.6 ล้านตันน้ำตาล และปี 2561/2562 ผลผลิตน้ำตาลรวมอยู่ที่ 192.7 ล้านตันน้ำตาล มีการบริโภครวมอยู่ที่ 186.6 ล้านตันน้ำตาล สะท้อนให้เห็นว่า ปริมาณน้ำตาลล้นตลาดต่อเนื่อง

อีกทั้ง ผลผลิตทั้งอ้อยและน้ำตาลรายใหญ่ ต่างมีปริมาณที่สูงขึ้น นอกจาก 'บราซิล' ในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 1 ของโลกแล้ว ที่น่าจับตาในเวลานี้ คือ 'ไทย' ในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 2 ของโลก ที่ปีนี้มีผลผลิตอ้อยมากถึง 133-135 ล้านตันอ้อย และคาดว่าจะผลิตน้ำตาลได้ 14.5-15 ล้านตันน้ำตาล และ 'อินเดีย' ที่ปีนี้จะมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นจาก 20.3 ล้านตันน้ำตาล เป็น 31.5-32 ล้านตันน้ำตาล (บริโภคในประเทศประมาณ 25 ล้านตัน) ต่างมีผลผลิตในปีนี้สูงเกินคาด

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กำลังจะเป็นตัวแปรทุบราคาน้ำตาลร่วงลงต่อเนื่อง!


120561-1608
Thairath_214255481629

หากมองเฉพาะประเทศไทย จะเห็นว่า ฤดูกาลผลิตอ้อยและน้ำตาล ปี 2560/2561 ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ภาพรวมปริมาณอ้อยทะลุ 130 ล้านตันอ้อยมาแล้ว สูงสุดนับแต่มีอุตสาหกรรมอ้อยในประเทศ เทียบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณอ้อยโดยรวมไต่ระดับอยู่ที่ 92.95 ล้านตันอ้อย ในขณะที่ ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกขณะนี้ ยืนอยู่ที่ระดับ 11 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งเวลานี้ เริ่มมีเสียงบ่นจากวงการน้ำตาล ว่า ปลายปีนี้มีโอกาสที่ราคาน้ำตาลจะดิ่งลงเหลือเลขหลักเดียวก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมอย่างดิน ฟ้า อากาศด้วย

แต่ที่แน่ ๆ ปัญหาที่น่าติดตามต่อมา คือ ราคาอ้อยเบื้องต้นที่กำหนดโดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ซึ่งประกาศออกไปแล้วก่อนหน้านี้ ที่ราคา 880 บาทต่อตัน ในค่าความหวานที่ 10 ซีซีเอสนั้น กำลังจะกลับมาสู่วังวนเดิม ที่ทำให้ระบบอ้อยและน้ำตาลกระทบ เพราะเวลานี้ สถานการณ์เปลี่ยนราคาน้ำตาลร่วง โรงงานน้ำตาลที่ควักกระเป๋าจ่ายค่าอ้อยเบื้องต้นไปแล้ว ซึ่งขณะนั้น เป็นการกำหนดราคาตามที่ บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) แจ้งมา เป็นประมาณการราคาส่งออก ที่ราคาน้ำตาลทรายดิบราว 16.4 เซ็นต์ต่อปอนด์ เป็นราคาที่สูงกว่าตลาดในปัจจุบัน ที่ล่าสุดลงมาอยู่ที่ 11 เซ็นต์ต่อปอนด์แล้ว


M23321605

นอกจากนี้ 'ไทยพรีเมียม' ซึ่งเป็นเงินส่วนเพิ่มจากราคาขายน้ำตาลที่ผู้ซื้อน้ำตาลเพิ่มให้ผู้ขายน้ำตาลของไทย ที่เคยได้รับตั้งแต่ระดับ 50-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ปัจจุบัน ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันนั้น ยิ่งทำให้รายได้ของระบบอ้อยและน้ำตาลลดลง เพราะผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มในภาวะที่น้ำตาลล้นตลาดโลกแบบนี้ เพราะมีช่องทางซื้อน้ำตาลได้มากขึ้นกว่าเดิม

จากข้อสังเกตทั้งหมดที่กล่าวถึง ... หากมองในมุมของผู้ผลิตน้ำตาล รวมถึงรายได้ที่เข้ามายังระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลในสัดส่วน 70:30 ที่ลดลง ... 'น้ำตาล' ที่เคยว่าหวาน เพราะเป็นธุรกิจที่ทำให้โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย (บางราย) กอบโกยรายได้จนรวยอื้อไปเป็นแถวนั้น ก็อาจจะขมได้!!!


……………….
รายงานพิเศษ โดย TATA007

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
KTISเผยผลิตน้ำตาลทะลุพันล้านกก.ชี้ปริมาณอ้อยพุ่งส่งผลรายได้ขายไฟเพิ่ม
"กฤษฎา"สั่งการด่วนที่สุดอุ้มเกษตรกรปลูกอ้อยในที่นา หวั่นโรงงานน้ำตาลทิ้งหลังราคาตกต่ำ


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว