พาณิชย์ MOU เชื่อมโยงข้าว กข43 - ผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว

11 พ.ค. 2561 | 15:48 น.
พาณิชย์ MOU เชื่อมโยงข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว หวังเพื่อผลักดันการดำเนินนโยบายการผลิตและจำหน่ายข้าวคุณภาพ

วันที่ 11 พ.ค. 2561 - นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการเชื่อมโยงการรับซื้อข้าว กข43 ระหว่างผู้ประกอบการแปรรูปข้าว จำนวน 7 ราย รับซื้อข้าวจากสหกรณ์การเกษตร ผู้ผลิตข้าว กข43 จำนวน 8 ราย ปริมาณผลผลิต 1,121 ตันข้าวเปลือก และเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการแปรรูปข้าว กข43 ทั้ง 7 ราย กับผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด จำนวน 4 ราย ได้แก่ เทสโก้โลตัส, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, เดอะมอลล์ กรุ๊ป และเซ็นทรัลฟูดส์ เพื่อวางจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคในราคา 60 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าข้าวปทุมธานี แต่ไม่สูงกว่าข้าวหอมมะลิ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป พร้อมทั้งจะได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภค ตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.-ก.ค. 2561 ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้แก่ 1) สื่อมัลติมีเดียในสถานีรถไฟฟ้า 2) สื่อประชาสัมพันธ์ในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพและโรงพยาบาลสมิติเวช และ 3) สปอตโฆษณาเผยแพร่ทางสถานีวิทยุชั้นนำ โดยจะประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบถึงช่องทางการจำหน่ายข้าว กข43 อย่างชัดเจน

 

[caption id="attachment_280499" align="aligncenter" width="503"] สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์[/caption]

นอกเหนือจากการจำหน่ายข้าวทั่วไป สร้างการรับรู้ในวงกว้างถึงความสำเร็จในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานข้าว กข43 อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง (เกษตรกรผู้ปลูกข้าว กข43 และสหกรณ์การเกษตร) กลางทาง (ผู้ประกอบการแปรรูปข้าว) และปลายทาง (โมเดิร์นเทรด) ทำให้เกษตรกรมั่นใจว่า มีตลาดรับซื้อข้าวที่แน่นอน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการบริโภคข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวที่ใช้วัตถุดิบของไทยให้กับผู้บริโภคในวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยข้าว กข43 เป็นพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าว ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาวิจัยและพบว่า มีค่าการแตกตัวเป็นน้ำตาลน้อย และมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ คาร์โบไฮเดรตของข้าวมีลักษณะที่ทนต่อการย่อยได้ดีกว่าข้าวอมิโลสต่ำพันธุ์อื่น จึงถือเป็นข้าวทางเลือกของผู้ใส่ใจสุขภาพกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคไต โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการบูรณาการร่วมกันในการดำเนินการภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร

ดังนี้ ในปีการผลิต 2560/61 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้คัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพ วางแผนการผลิตภายใต้ระบบนาแปลงใหญ่ นาปีมีผลผลิตรวม 50 ตันข้าวเปลือก หรือ 20 ตันข้าวสาร สำหรับนาปรังมีผลผลิตรวมประมาณ 1,643 ตันข้าวเปลือก หรือ 657 ตันข้าวสาร สำหรับเป้าหมายฤดูนาปี ในปีการผลิต 2561/62 ผลผลิตรวมประมาณ 50,000 ตันข้าวเปลือก หรือ 20,000 ตันข้าวสาร รวมทั้งกำหนดการรับรองบนบรรจุภัณฑ์ ข้าว กข43 โดยใช้เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์และหลักประกันแก่ผู้บริโภคว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพได้การรับรองจากกรมการข้าว โดยให้เมล็ดพันธุ์ไปปลูกโดยกลุ่มชาวนาที่ขึ้นทะเบียนนาแปลงใหญ่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การดูแลของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิก สีแปรโดยสหกรณ์หรือโรงสีข้าวที่ได้รับมาตรฐาน GMP และข้าวสารได้รับการรับรองมาตรฐาน Q สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) โดยระบบ QR Trace เมื่อผู้บริโภคสแกน QR Code จะทราบถึงข้อมูลแหล่งที่มาของข้าวได้

 

[caption id="attachment_280500" align="aligncenter" width="300"] © ฐานข้อมูลพันธุ์ข้าวรับรองของไทย © ฐานข้อมูลพันธุ์ข้าวรับรองของไทย[/caption]

นอกจากนั้น ได้มีการผลักดันให้มีการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวที่เป็นเครื่องดื่มสุขภาพ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่แพ้นมวัวและนมจากพืชตระกูลถั่ว โดยเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาแปลงใหญ่ นาอินทรีย์ ผู้ผลิตแปรรูป ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาประณีตข้าวอินทรีย์ศรีสำราญ และผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว จำนวน 7 ราย และโมเดิร์นเทรด จำนวน 5 ราย เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว ที่ซื้อวัตถุดิบจากกลุ่มเกษตรกรในราคานำตลาด โดยมีแผนจะนำออกสู่ตลาดในเร็วๆ นี้


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
พาณิชย์เปิดตลาดใหม่ จับมือโมเดิร์นเทรดทำตลาด “แปรรูป-น้ำนมข้าว” กรมการข้าวได้ทีเฟ้น “แปลงใหญ่” เพิ่มผลิต กข43 อีก 1.8 แสนไร่
ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ : ธปท.ขาดทุนสะสม 9 แสนล้านเท่าจำนำข้าว


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว