'ต้าตี้' กำหมื่นล้าน! ผุดโรงงานยางระยอง

11 พ.ค. 2561 | 15:10 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

110561-2155 p3

ทัพทุนจีนประกาศความพร้อมตบเท้ายึดหัวหาดอีอีซีต่อเนื่อง ... 'นิคมฯหลักชัยเมืองยาง' เผย ล่าสุด 'ต้าตี้กรุ๊ป' ยักษ์ใหญ่ยางรถยนต์เตรียมปักฐานลงทุน 1 หมื่นล้าน ในปีนี้ ด้าน นิคมฯ ไทย-จีน รอเซ็น MOU อีกไม่ต่ำกว่า 20 รายภายในปีนี้

นายหลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จ.ระยอง เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าต่อเนื่องในการขยับตัวของกลุ่มทุนจีนที่มีต่อพื้นที่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor Development) ว่า ล่าสุด บริษัท ต้าตี้กรุ๊ปฯ จากจีน มีแผนจะมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยางด้วยเงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท
 เพื่อผลิตยางล้อรถเก๋ง ยางรถสิบล้อและรถบัส กำลังผลิตรวม 12 ล้านเส้นต่อปี โดยกำลังเตรียมทีมงานในการดำเนินการขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ คาดอย่างช้าต้นปีหน้าจะเริ่มก่อสร้างได้ ส่วนใหญ่โรงงานที่นิคมฯหลักชัยจะส่งออกไปยังอาเซียน รวมถึงสหรัฐฯ ยุโรป ออสเตรเลีย ซึ่งโดยรวมจะช่วยเพิ่มการใช้วัตถุดิบยางพาราในประเทศในปีนี้ ประมาณ 2.5 แสนตัน และปีหน้าเพิ่มเป็น 3 แสนตัน ขณะที่ เวลานี้มีผู้ประกอบการจากจีนและยุโรปที่กำลังเข้ามาดูพื้นที่อีกกว่า 10 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง คาดจะมีการลงทุนจริงอีกไม่ต่ำกว่า 5 ราย

 

[caption id="attachment_280486" align="aligncenter" width="346"] หลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด หลักชัย กิตติพล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด[/caption]

ทั้งนี้ ผลจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน รวมถึงผลจากสินค้าจีนถูกกีดกันจากหลายประเทศ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตสินค้าของจีนที่มีศักยภาพจะออกมาลงทุนนอกประเทศเพิ่มขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับไอที ที่สหรัฐฯ เพ่งเล็งจีน มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ การลงทุนในต่างประเทศเพื่อใช้เป็นฐานผลิตและส่งออกแทนฐานจากประเทศจีน ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สำคัญ

ปัจจุบัน มีบริษัทจากจีนได้เข้ามาลงทุนในนิคมฯหลักชัยเมืองยางแล้ว 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัท เซ็นจูรี่ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด (บจก.) ลงทุนผลิตยางรถยนต์ทั่วไป และยางล้อรถบรรทุก กำลังผลิต 12 ล้านเส้นต่อปี เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท, 2.บจก.เจ เอส วาย ลาเท็กซ์โปรดักส์ (ประเทศไทย) ผลิตหมอนและที่นอนจากยางพารา ลงทุนเฟสแรก 500 ล้านบาท เตรียมขายลงทุนในเฟส 2 อีกเท่าตัว, 3.หวาอี้ กรุ๊ป ลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ผลิตยางรถหกล้อ สิบล้อ ยางรถบัส และยางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป้าหมาย 2 ล้านเส้นต่อปี, 4.บจก.LK Energy ผลิตไอน้ำป้อนให้กับโรงงานแปรรูปยางพาราในนิคม ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดโรงงานจะแล้วเสร็จเดือน ก.ย. ปีนี้


p1

สอดคล้องกับที่ นายจ้าว ปิง รองประธาน บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยอง (ไทย-จีน) จำกัด เปิดเผยว่า มีลูกค้าเข้ามาติดต่อคึกคักมากขึ้น นับจากที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยภายในปีนี้ จะมีการเซ็น MOU ซื้อที่ดินในนิคมไทย-จีนตั้งแต่ 15-20 ราย ในจำนวนนี้มี 2-3 ราย ต้องการที่แปลงใหญ่ขนาดกว่า 100 ไร่

ส่วนความพร้อมของนิคมไทย-จีน ปัจจุบัน มีที่ดินทั้งหมด 8,000 ไร่ พัฒนาไปแล้ว 50% ที่เหลือจะทยอยพัฒนาพื้นที่รองรับกลุ่มทุนจีนได้อีก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตยางรถยนต์ โซลาร์เซลล์ อิเล็กทรอนิกส์


p2

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในครึ่งปีหลัง บีโอไอมีแผนเดินสายชักจูงการลงทุนจากจีนมาไทย โดยวางเป้าหมายไปที่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ออโตเมชัน ดิจิตอล ซอฟต์แวร์ รถยนต์ไฟฟ้า

สำหรับสถิติการขอรับการส่งเสริมของทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย เฉพาะที่ผ่านบีโอไอ เมื่อปี 2560 มีจำนวน 87 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 27,500 ล้านบาท และในช่วง 3 เดือนแรก ปี 2561 มีจำนวน 27 โครงการ มูลค่า 2,800 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ 3 เดือนแรกปีที่ผ่านมา มีเงินลงทุนรวม 695 ล้านบาท


1500

ด้าน สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง เผยข้อมูลการลงทุนของจีนในไทย ว่า จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์จีน ณ เดือน ก.พ. 2560 การลงทุนโดยตรง (FDI) ของจีนในไทย มีโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วจำนวน 607 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 6,637 ล้านหยวน โดยนักธุรกิจจากมณฑลยูนนานถือเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่ได้ทยอยเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องในกลุ่มธุรกิจการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่ โรงแรม การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร

กลุ่มนักลงทุนของมณฑลยูนนานในไทย ได้แก่ 1.บจก.Thai Xinxing Rubber ดำเนินธุรกิจผลิตยางพารา, 2.บจก.Yunnan Jiefeng Investment ดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์, 3.บจก.Haicheng Group ในธุรกิจโรงแรม เช่น โรงแรมดาราเทวี นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่เข้ามาลงทุนด้านการผลิตสิ่งทอและด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,364 วันที่ 10-12 พ.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'เอ็กซอน' ลุ้นใช้พื้นที่ป่า! ตั้งโรงงานปิโตรเคมี 2 แสนล้าน - ชงนายกฯ ไฟเขียวตาม พ.ร.บ.อีอีซี


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว