หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ... เชื่อมโยงโอกาสอีอีซีสู่การค้าโลก

11 พ.ค. 2561 | 10:20 น.
110561-1653

[caption id="attachment_280391" align="aligncenter" width="503"] ©china-trade-research.hktdc.com ©china-trade-research.hktdc.com[/caption]

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่รัฐบาลหวังจะใช้ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ผ่านการทุ่มงบประมาณลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และหวังจะมีการเข้ามาลงทุนของต่างชาติใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลหวังจะใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงกับ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" หรือ The Belt and Road Initiative (BRI) ยุทธศาสตร์ระดับชาติของจีน ที่จะช่วยผลักดันให้การพัฒนาอีอีซีเกิดขึ้นได้


ช่วยยกระดับอุตฯเป้าหมาย
ทั้งนี้ มีรายงานของ นางอักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยยุทธ์ศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้จัดทำบทวิเคราะห์ "โครงการอีอีซีของไทยจะเชื่อมโยงกับข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง BRI ของจีน ได้ดั่งฝันหรือไม่?"

 

[caption id="attachment_280393" align="aligncenter" width="503"] อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยยุทธ์ศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ©thai.cri.cn อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยยุทธ์ศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
©thai.cri.cn[/caption]

โดยรายงานชี้ให้เห็นว่า โอกาสจาก BRI ในการเชื่อมโยงกับโครงการอีอีซีดังกล่าว จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องและเสริมกันและกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยุคใหม่ ภายใต้นโยบาย Made in China 2025 ของจีน และอุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve ของไทย ที่สอดคล้องและคล้ายคลึงกัน เช่น อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งมีศักยภาพในการเชื่อมโยงขยายเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานการผลิตระหว่างไทย-จีน และขยายส่งออกไปยังตลาดโลกต่อไป อีกทั้งการใช้ประโยชน์และเรียนรู้เทคโนโลยีนวัตกรรมจากจีน ซึ่งขณะนี้ จีนได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้นนำของโลกด้านการคิดค้น AI และพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล เพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต


เชื่อมโยงการค้าโลกด้วยราง
รวมทั้ง การเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งกับแนวเส้นทาง BRI ของจีน ได้ผลักดันการขนส่งระบบรางตามแนวเส้นทางสายไหมไปจนถึงยุโรปได้สำเร็จแล้ว และมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับโครงการอีอีซี โดยเฉพาะการใช้เส้นทางรถไฟเช่ือมโยงจีน-ยุโรป เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขนส่งสินค้า ส่งออกของไทยไปยังประเทศในยุโรป เช่น ไทยสามารถขนส่งสินค้าทางรถไฟจากแหล่งผลิตในมาบตาพุดภายใต้โครงการอีอีซี ผ่านไปทางชายแดน จ.หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟใน สปป.ลาว ที่กำลังก่อสร้าง แล้วข้ามพรมแดนจีนไปใช้รถไฟในมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง และต่อไปยังมณฑลเสฉวน เพื่อขนส่งรถไฟออกชายแดนจีนที่ซินเจียง แล้วข้ามพรมแดนไปยังคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ และกระจายต่อไปยังประเทศต่าง ๆ ในยุโรป โดยใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน แล้วแต่จุดหมายปลายทาง ซึ่งช่วยประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางทะเล


BRI1

ดังนั้น ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงจีน-ยุโรป เพื่อเป็นอีกทางเลือกสำคัญในการขนส่งสินค้าไทย-จีนด้วยระบบราง และยังสามารถใช้จีนเป็นทางผ่านเพื่อส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศคู่ค้าในยุโรปได้อีกด้วย โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ไทยจะผลิตในโครงการอีอีซี


GP-3354_180511_0005

พัฒนาอีอีซีต้องต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.อักษรศรี สะท้อนให้เห็นว่า แม้ BRI ของจีน จะเป็นโอกาสสำหรับอีอีซีก็ตาม แต่รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนของการพัฒนาอีอีซี และได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยมีกฎหมายรองรับ รวมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญของบุคลากรไทยอย่างจริงจัง เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และควรให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่อาจจะถูกกระทบจากการพัฒนาอีอีซี ขณะที่ ในการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ควรเน้นนักลงทุนต่างชาติที่มีคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ โดยมีเป้าหมายให้ความสำคัญกับบริษัทข้ามชาติที่ก้าวหน้าในยุค 4.0 และมีเทคโนโลยีเพื่ออนาคต ตลอดจนการตั้งเงื่อนไขให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบุคลากรไทย และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาของไทย ไปทำงานร่วมกับบริษัทต่างชาติที่มาลงทุน เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีของบริษัทชั้นนำเหล่านั้นไปพัฒนาต่อยอด และพัฒนาทักษะของบุคลากรของไทยให้สอดคล้องต่อไปด้วย

รวมถึงรัฐบาลควรจะเน้นรักษาผลประโยชน์ของท้องถิ่นและกระจายผลประโยชน์ให้ทั่วถึง และการให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญจะต้องนำรายได้จากการลงทุนของต่างชาติจากอีอีซี ไปกระจายความเจริญให้กับภูมิภาคอื่นของไทยด้วย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่อไป อีกทั้งการเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามแผน เพื่อรองรับการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับแหล่งเงินลงทุนเพื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาจจะมีทั้งแบบรัฐลงทุนเองและแบบร่วมลงทุนจากเอกชน PPP เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,354 วันที่ 5-7 เม.ย. 2561 หน้า 11

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นายกฯดันระเบียบศก.อนุภูมิภาคเชื่อมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน
นายกฯชวนจีน-ฮ่องกง เป็นหุ้นส่วน “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว