“สมคิด” ย้ำปีนี้จีดีพีเกิน 4% “เป็นครั้งแรกในทศวรรษ” แม้มีหลายอย่างที่ต้องเร่งทำ

10 พ.ค. 2561 | 10:58 น.
- 10 พ.ค. 61 - นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งรัฐบาลพยายามทำให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ดำเนินไปอย่างดีที่สุด ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจไทยดีขึ้นเรื่อยๆ แม้ไม่ดีที่สุด เพราะการบริหารประเทศไทยยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่เมื่อรู้ว่ามีข้อจำกัดจึงต้องเร่งทำงาน และช่วยกันเพื่อปูพื้นฐานประเทศไปสู่อนาคต ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยเติบโตต่อเนื่อง

นายสมคิด กล่าวว่า ปี 2561 จะเห็นจีดีพีเกิน 4% เเละเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ ซึ่งจะเป็นกำลังใจให้ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า โดยดัชนีความเชื่อมั่นต่างๆ เป็นบวก เช่น การบริโภค การลงทุน แม้ตลาดหุ้นแม้จะตกลงมาเล็กน้อย แต่เป็นเช่นเดียวกับทั่วโลก เพราะไทยยังได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ มีแขกมาหารือหัวบันไดไม่แห้ง และสัปดาห์หน้าจะมีตัวแทนผู้นำรัฐบาลจากมาเก๊า ฮ่องกง เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เข้ามาพบ ดังนั้น ถือเป็นโอกาสของไทยถ้ารวมพลังเปลี่ยนโอกาสเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคตข้างหน้าได้

นายสมคิด กล่าวว่า แม้จีดีพีจะเติบโตเกิน 4% แต่ยังมีความท้าทาย จากภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้ง ความสามารถในการแข่งขันในประเทศที่ยอมรับว่าอ่อนแอลง แต่รัฐบาลพยายามพลิกพื้นด้วยไทยแลนด์ 4.0 แม้เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นเรื่องที่ตนกังวลมากสุด เพราะที่ผ่านมาเราไม่ค่อยให้ความสำคัญเทคโนโลยี ส่วนใหญ่ยังเป็นอนาล็อก แต่ในอนาคตโลกดิจิทัลจะเปลี่ยนพฤิตกรรม เช่นการบริโภค การจับจ่าย กระทบภาคการผลิต และจะเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ ถ้าใครไม่เปลี่ยนจะลำบาก

นายสมคิดกล่าวว่า รัฐบาลรับรู้เรื่องนี้ จึงเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อสร้างความตื่นตัวตระเตรียมสู่อนาคต โดยสิ่งที่ให้ความสำคัญคือเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะภาคการเงินที่ช่วยผลักดันการขยายตัวเศรษฐกิจ แต่ความท้าทาย เช่น คนเดินเข้าธนาคารลดลง การจับจ่ายบนโลกออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพราะเเต่เดิมธุรกิจประกันภัยมีคณิตศาสตร์ประกันในการคิดเบี้ยประกัน แต่สมัยนี้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และข้อมูลลูกค้าในการคำนวณ

“ตลาดหุ้นนั้นเเต่เดิมต้องอาศัยโบรกเกอร์รายใหญ่เป็นตัวนำการลงทุน แต่ในอนาคตสามารถใช้เอไอในการช่วยตัดสินใจลงทุนได้ การใช้เงินสดกำลังจะลดลง และเทคโนโลยีบล็อกเชนที่กำลังจะมา สิ่งเหล่านี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบซึ่งรัฐบาลตระหนักและต้องการส่งเสริม แต่ในส่วนฝ่ายกำกับและตรวจสอบของรัฐต้องตามให้ทัน เพราะเป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่ปิดกั้น และต้องดูแลเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ส่วนเอกชนต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าเอกชนมีการพัฒนาไปไกลมากแล้ว รวมทั้งบิ๊กดาต้าที่เข้ามา ภาครัฐกำลังเร่งพัฒนาเพื่อนำมาเชื่อมโยงกับระบบของเอกชนพัฒนาเป็นระบบเปิดนำข้อมูลมาพัฒนาใช้ประโยชน์ในทุกๆ ด้านต่อไป”