อุทาหรณ์ ... จากคดีปกครอง | คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ! ไม่ขัดต่อ ก.ม. - คู่พิพาทต้องปฏิบัติตาม!! (ตอน 2)

09 พ.ค. 2561 | 05:03 น.
090561-1145

[caption id="attachment_279769" align="aligncenter" width="503"] ©Max Pixel ©Max Pixel[/caption]

ตอนที่แล้ว (อุทาหรณ์ ... จากคดีปกครอง | คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ไม่ขัดต่อ ก.ม. - คู่พิพาทต้องปฏิบัติตาม (ตอน 1)) ... จบลงที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาตรงตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ จึงไม่จำต้องเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้อง (หน่วยงานของรัฐ ซึ่งในคดีนี้ คือ อบต.) ชำระเงินค่าจ้างให้ผู้คัดค้าน (ผู้รับจ้าง) ไม่มีลักษณะที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงยกคำร้องของผู้ร้อง

ปัญหาว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่? หากไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยมาตรา 45 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 กำหนดว่า ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้น ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน (3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้น ไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (4) ผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งพิจารณาคดีนั้น ได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา (5) เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราว ...

 

[caption id="attachment_279770" align="aligncenter" width="503"] ©succo ©succo[/caption]

ซึ่งคดีนี้ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดว่า ผู้คัดค้านส่งมอบงานไม่ถูกต้องครบถ้วนตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดในสัญญา จึงไม่อาจตรวจรับงานได้ตามระเบียบของทางราชการ

จึงขอให้กลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ


090561-1157

ศาลปกครองสูงสุด
 ได้ตรวจสอบคำอุทธรณ์ การรับฟังและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการ แล้ววินิจฉัยว่า การวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการได้มีการรับฟังและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว และเมื่อไม่มีเหตุที่แสดงให้เห็นว่า มีการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบ อันจะทำให้การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) และไม่มีเหตุหรือกรณีตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง (2)-(5) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงถือเป็นคำอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมาย


 

[caption id="attachment_279771" align="aligncenter" width="501"] ©lokwannee.com ©lokwannee.com[/caption]

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ร้องตามข้อ 108 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยพิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 (ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.360/2560)

โดยสรุป ครับ! คดีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทและอำนาจของศาลปกครองในการตรวจสอบคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 จะกำหนดให้คำชี้ขาดมีผลเป็นที่สุดและผูกพันให้คู่พิพาทต้องปฏิบัติตามก็ตาม แต่หากคู่พิพาทไม่พอใจคำชี้ขาดนั้น ก็มีสิทธิที่จะร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นได้ ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และหากผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นจะต้องอุทธรณ์ภายใต้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

 

[caption id="attachment_279772" align="aligncenter" width="503"] ©Cal Injury Lawyer ©Cal Injury Lawyer[/caption]

นอกจากนี้ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ ยังเป็นการวางบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีให้แก่หน่วยงานของรัฐว่า การที่หน่วยงานของรัฐได้ยินยอมหรือสมัครใจที่จะใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท และเมื่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดข้อพิพาทตามกฎหมายที่คู่พิพาทกำหนดไว้ ตลอดจนรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องครบถ้วนทุกฝ่ายแล้ว หน่วยงานของรัฐพึงจะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น เว้นแต่คำชี้ขาดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังเช่นข้อเท็จจริงในคดีนี้ เมื่อคำชี้ขาดมิได้เกิดจากการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย หรือมิได้เกินขอบเขตของข้อตกลง หรือการยอมรับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ไม่ได้เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หน่วยงานของภาครัฐจึงต้องชำระเงินค่าจ้างให้แก่ผู้คัดค้าน อันเป็นการปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว


……………….
คอลัมน์ : อุทาหรณ์ ... จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,363 วันที่ 6-9 พ.ค. 2561 หน้า 06

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อุทาหรณ์ ... จากคดีปกครอง | คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ไม่ขัดต่อ ก.ม. - คู่พิพาทต้องปฏิบัติตาม (ตอน 1)
ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ! 'คดีคลองด่าน' ไม่เสียค่าโง่ 5 พันล้าน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว