ทุนจีนกดราคาก๊าซ 50%! ชิงประมูลปิโตรเลียม

08 พ.ค. 2561 | 10:44 น.
080561-1726 apptp8-3169-a-1

ประมูลปิโตรเลียมแข่งเดือด! มีผู้ยื่นความจำนงพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น 6 ราย ... 'มูบาดาลา-โอเอ็มวี' ตัวแปรสำคัญชิงแหล่งเอราวัณ-บงกช แข่งสู้รายเดิม จับตาม้ามืด "กิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด" จับมือจีน ดัมพ์ราคาแข่งสู้ ประกาศราคาก๊าซต้องลดลง 50%

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นแบบฟอร์มแสดงความจำนงในการเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น เพื่อเข้าร่วมการประมูลสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในอ่าวไทย หมายเลข G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) มีผู้มายื่นแบบฟอร์มจำนวน 6 ราย ได้แก่


appBONG

1.บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ., 2.บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด, 3.บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด, 4.บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท จากออสเตรีย, 5.บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด จากฝรั่งเศส และ 6.กิจกรรมร่วมค้าพลังงานสะอาด 101, Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber Group


GP-3363_180508_0013

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า เชฟรอนได้เข้ายื่นแบบฟอร์มความจำนงในการเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ทั้งแปลงเอราวัฯและบงกช

โดยมั่นใจว่าจะชนะการประมูลครั้งนี้ เนื่องจากมีประสบการณ์ที่ผลิตก๊าซในอ่าวไทยมานาน มีเทคโนโลยีจากบริษัทแม่ ที่สามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตก๊าซตามธรณีวิทยาของอ่าวไทยได้ อีกทั้งผลงานที่ผ่านมา ทั้งด้านความปลอดภัยในการผลิตและเสถียรภาพการผลิตก๊าซที่ป้อนก๊าซให้กับ ปตท. ได้ต่อเนื่องตามสัญญามาโดยตลอด ก็เป็นผลงานที่พิสูจน์ว่า เชฟรอนพร้อมที่จะแข่งขัน ซึ่งปัจจุบัน บริษัทต้องใช้เงินลงทุนเพื่อเจาะหลุมผลิตปีละประมาณ 300-400 หลุม หลุมละประมาณ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทุก ๆ ปี เพื่อรักษาปริมาณการผลิตปิโตรเลียมให้ได้ตามสัญญา หากการดำเนินการประมูลเป็นไปตามระยะเวลาที่รัฐกำหนด ทราบผลการประมูลว่าบริษัทเป็นผู้ชนะ ล่วงหน้าประมาณ 3 ปี ก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2565 บริษัทก็พร้อมที่จะลงทุนเจาะหลุมผลิตเพื่อสร้างความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซได้


appPetro-3163

นายราเชด อัล บลูชิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา บริษัทดำเนินธุรกิจด้านน้ำมันและก๊าซมาโดยตลอด และมีประสบการณ์ด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทั้งในตะวันออกกลางและอาเซียน ซึ่งการเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ ก็มีความต้องการจะขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและบริษัทยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลไทยมาโดยตลอด

ส่วนการพิจารณาผู้ร่วมทุนนั้น บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเป็นผู้ลงทุนเพียงรายเดียว หรือให้บริษัทอื่นเข้าร่วมลงทุนด้วย โดยขอที่จะดำเนินการไปตามขั้นตอนของการประมูลทีละขั้นไปก่อน เพราะยังมีเวลาที่จะตัดสินใจจนถึงวันที่ 25 ก.ย. 2561


app1422427482302

นายยุทธ เพียรดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลังงานสะอาด 101 จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทร่วมกับ Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, จากจีน AL Jaber Group จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ตั้งกิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 (บริษัท พลังงานสะอาด ถือหุ้น 35%, Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group ถือหุ้น 50% และ AL Jaber Group ถือหุ้น 15%) โดยสนใจร่วมประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช โดยบริษัทพร้อมดัมพ์ราคาแข่งขันกับคู่แข่ง ซึ่งพันธมิตรจากจีนมีประสบการณ์ด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ขณะที่ AL Jaber Group มีเงินทุนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม บริษัทพร้อมดัมพ์ราคาแข่งขันกับคู่แข่ง และส่งผลให้ราคาก๊าซลดลง 50% จากราคาก๊าซปัจจุบัน และทำให้คนไทยใช้ก๊าซราคาถูกที่สุดในโลก


app3597955_ml

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การประมูลครั้งนี้จะก่อให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน 1.2 ล้านล้านบาท และทำให้เกิดรายได้จากการขายปิโตรเลียมประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วคิดเป็นกำไร จะอยู่ที่ประมาณ 9 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นกำไรในส่วนของภาครัฐกว่า 7 แสนล้านบาท นับจากปี 2565 ไปอีก 10 ปีข้างหน้า ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ ทั้งนี้ กรมฯ มีความมั่นใจว่าจะดำเนินการเปิดการประมูลได้ตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,363 วันที่ 6-9 พ.ค. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ : ขุมทรัพย์ปิโตรเลียมไทยอยู่ที่ไหน
เผย! "6 ผู้ประกอบการ" ยื่นเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติ ร่วมประมูลแหล่งปิโตรเลียมอ่าวไทย G1/61 - G2/61


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว