เปิดเบื้องหลัง "2 ยักษ์" มือถือ กดดันกสทช. กลับลำประมูลคลื่น 1800

07 พ.ค. 2561 | 15:18 น.
365626 ในที่สุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.มีมติ เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา เห็นชอบเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz ซึ่งจะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการประประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz โดยคลื่นความถี่ที่นำมาประมูลทั้งหมดมีจำนวน 45 MHZ แบ่งขนาดคลื่นความถี่ที่จำนวน 3 ชุดๆ ละ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต

นอกจากนี้ยังจำกัดเพดานการถือครองคลื่นที่ในสัดส่วน 40% ของขนาดคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล ขณะที่ราคาเริ่มต้นของการประมูลกำหนดไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และกำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,873 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งก่อน โดยใช้สูตร N-1 คือถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 4 ราย จะประมูล 3 ใบอนุญาต มีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จะประมูล 2 ใบอนุญาต ระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท

กสทช.กลับลำ ประมูลคลื่น 1800
กว่าจะสรุปจำนวนชุดคลื่นความถี่ได้ลงตัวว่ากันว่ากลุ่มทุนสื่อสารแบ่งออกเป็น 2 ก๊ก ก๊กแรก คือ เอไอเอส และ ทรู เนื่องจากประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต แบ่งเป็นใบอนุญาตละ 15 MHz โดย ทรู เป็นผู้ชนะในราคา 39,792 ล้านบาท ส่วน เอไอเอส เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นในราคา 40,986 ล้านบาท รวมมูลค่าเงินประมูล 80,778 ล้านบาท
4gmobile ขณะที่ ดีแทค ได้รับสัมปทานกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ขนาด 45 MHz สิ้นสุดสัญญาในวันที่ 15 กันยายน 2561
แต่ทว่าช่วงแรก กสทช.กำหนดเงื่อนไขประมูล 3 ใบอนุญาติขนาด 15 MHz หากแต่สุดท้ายเปลี่ยนรูปแบบใหม่เป็น 9 ใบอนุญาติขนาด 5 เมกะเฮิรตซ์ ตามเงื่อนไขที่ ดีแทค ได้เสนอเข้ามา

หากแต่ เอไอเอส และ ทรู ไม่เห็นด้วยถ้าคู่แข่งประมูลได้ 2 ใบอนุญาติขนาด 10 เมกะเฮิรตซ์ และ ราคาตั้งต้นต่ำกว่าที่เคยประมูลคลื่น 1800 ก่อนหน้านี้
"ที่กลับมาใช้เงื่อนไขเดิมเพราะกลัวข้อครหาและผู้ที่ได้คลื่น 1800 MHz บอกว่าทำไมไม่ฟังเสียงข้างมาก แต่กลับไปฟังเสียงข้างน้อย (หมายถึง ดีแทค)" นั่นคือคำบอกเล่าของ พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร รักษาการประธาน กสทช.ที่ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ"

ไม่เพียงเท่านี้ พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร รักษาการประธาน กสทช.กล่าวยอมรับว่า การประมูลคลื่น 1800 MHz ในรอบนี้คลื่นความถี่อาจจะจัดสรรไม่หมดเพราะใช้สูตร N-1 เพราะค่ายมือถือในตลาดมีเพียง 3 รายเท่านั้น

ดีแทคร้องเลิก N-1 ซอยความถี่
กรณีที่ กสทช.กำหนดไปใช้หลักเกณฑ์เดิม ต้องบอกว่า ดีแทค ไม่ปลื้มในเรื่องนี้ เพราะไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ ส่วนขนาดของคลื่นความถี่ควรอยู่ในชุดละ 2x5 MHz (แทนขนาด 2x15 MHz) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถเลือกประมูลจำนวนคลื่นความถี่ที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ
คลื่น 2300 ต่อลมหายใจ ดีแทค

ช่วงรอยต่อประมูลคลื่น 1800 กลุ่มทุนสื่อสารต่างก็ยื้อเกมส์กันไปมา โดยเฉพาะ ดีแทค จำนวนคลื่นความถี่ที่น้อยกว่ารายอื่น และ คลื่น 2300 MHz ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เลือกเป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz มีขนาดความกว้าง 60 MHz ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2560

แต่กว่าจะได้เซ็นต์สัญญาก็หืดจับพอสมควร เพราะอย่างน้อยคู่แข่งต้องเตะตัดขาให้นานที่สุด จนในที่สุด 23 เมษายน 2561 ได้เซ็นต์สัญญากับทีโอที เพื่อเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมจากเทเลแอสเสท ซึ่งเป็นบริษัทลูกของดีแทค ไตรเน็ต นำมาสร้างโครงข่ายโทรคมนาคม สำหรับให้บริการไร้สายความเร็วสูง (Broadband Wireless Access, BWA) ทั้งบริการบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) ผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งความจุโครงข่ายส่วนหนึ่ง (Capacity) ทีโอที ได้นำมาให้บริการตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของลูกค้า และตอบสนองนโยบายของรัฐ และความจุโครงข่าย (Capacity) อีกส่วนหนึ่ง จะนำมาให้บริการแก่บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต ในรูปแบบของการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Roaming) โดย ทีโอที จะมีรายได้จากการให้บริการโรมมิ่งปีละประมาณ 4,510 ล้านบาท สิ้นสุดในปี 2568

เชื่อว่าภายในกลางเดือนมิถุนายนนี้ รอวัดใจ 3 ค่ายมือถือ จะเข้าร่วมประมูลหรือไม่และจะมีรายใหม่จะกล้าเข้ามาเสี่ยงหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องจับตา
.................
รายงาน | เปิดเบื้องหลัง "2 ยักษ์" มือถือกดดัน กสทช. กลับลำประมูลคลื่น 1800  | โดย...โต๊ะข่าวไอทีหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว