ติดคิวอาร์โค้ด! เช็ก 'อย.ปลอม' อาหารเสริม

07 พ.ค. 2561 | 11:31 น.
070561-1807 news13

ส.อ.ท. โชว์ไวต์ลิสต์-QR Code สแกนตรวจรายชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำดี ได้มาตรฐาน เปิดทาง 'ดารา-เซเลบ' ส่องดูก่อนรับจ้างรีวิว ขณะที่ กสทช. ผนึก อย. เปิดฉากไล่บี้ทีวีดิจิตอล-เคเบิล-ดาวเทียม กว่า 500 ช่อง วิทยุชุมชน 6,000-7,000 สถานี และสื่อออนไลน์

ปัญหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางเถื่อน ใช้สารต้องห้าม ผิดกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่กรณี 'เมจิก สกิน' ทำให้สังคมตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัวหันมาตรวจสอบและแก้ปัญหาอย่างจริงจังขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพบว่า มีโรงงานผลิตสินค้าที่ผิดกฎหมายกว่า 1 หมื่นแห่ง ส่วนโรงงานผลิตที่ถูกกฎหมายมีเพียง 1,000 แห่งเท่านั้น ขณะที่ งานฟู้ดอินกรีเดียนท์เอเชีย 2018 ระบุว่า ไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีมูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และปีนี้คาดว่าจะมีการเติบโต 6-7%

 

[caption id="attachment_279433" align="aligncenter" width="503"] นาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นาคาญ์ ทวิชาวัฒน์
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)[/caption]

นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เพื่อป้องกันปัญหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใส่สารต้องห้ามที่ผิดกฎหมายนั้น ทางกลุ่มได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อทำบัญชีรายชื่อโรงงานที่มีคุณภาพและผลิตสินค้าถูกต้องตามกฎหมาย หรือ White List ขึ้น พร้อมนำข้อมูลของ อย. ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับดารา นักแสดง หรือผู้ที่จะรับจ้างรีวิวสินค้าหรือโฆษณา รวมถึงเป็นฐานข้อมูลให้กับประชาชนได้ดำเนินการตรวจสอบก่อนการซื้อผลิตภัณฑ์


appvitamins-26622

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังดำเนินการจัดทำ Dragon Code ฉลากคิวอาร์โค้ดที่บันทึกข้อมูลของผลิตภัณฑ์และโรงงานที่ผลิตสินค้า สำหรับการตรวจสอบสินค้า เป็นการป้องกันปัญหาสินค้าปลอม และปัญหาสินค้าที่ผลิตไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากผู้ที่จะใช้ฉลากดังกล่าวได้จะต้องผ่านการพิจารณาจาก ส.อ.ท. ก่อน ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจ ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

[caption id="attachment_279435" align="aligncenter" width="503"] ©Pixabay ©Pixabay[/caption]

ในเบื้องต้น ทดลองใช้ฉลากคิวอาร์โค้ดกับผู้ผลิตที่อยู่ภายใต้สังกัดของ ส.อ.ท. 10 บริษัท ที่มีสินค้ามากกว่า 10 แบรนด์ โดยภายใน 1 เดือน จะเปิดให้บริการกับผู้ประกอบการและแบรนด์สินค้าทั่วไป ที่ต้องการขอฉลากไปใช้บนผลิตภัณฑ์ ซึ่งเงื่อนไขเบื้องต้นนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ สังกัดสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ หรือ ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เพื่อเป็นการคัดกรองว่า เป็นผู้ผลิตที่ดำเนินการถูกต้องและเชื่อถือได้

"ผู้ประกอบการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้ฉลากในอัตราชิ้นละ 2 บาท และจะต้องนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งให้ ส.อ.ท. ตรวจสอบคุณภาพ 4 ชิ้นต่อปี ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่มีคุณภาพได้มาก เพราะผู้บริโภคมีข้อมูลที่จะช่วยในการตัดสินใจ"


 

[caption id="attachment_279436" align="aligncenter" width="503"] น.พ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) น.พ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)[/caption]

ด้าน น.พ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่า มีผู้มายื่นขอจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ 1-2 แสนรายการต่อปี จากอดีตที่กว่า 1 หมื่นรายต่อปี ซึ่งเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ แนวทางการป้องกันเรื่องของการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หรือ โฆษณาเกินจริง อย. ร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการตรวจสอบเนื้อหาโฆษณาที่ออกอากาศ ทั้งทางทีวีดิจิตอล 27 ช่อง ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี 500 ช่อง และวิทยุชุมชน 6,000-7,000 สถานี รวมถึงสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งนี้ หากพบว่าผิด จะยุติการออกอากาศ และหากมีการกระทำผิดจะมีโทษปรับตามประกาศของ กสทช. คือ ปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท และหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับวันละ 1 แสนบาท

ขณะที่ พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า สคบ. ได้ทำงานร่วมกับ อย. ด้วยการจัดส่งข้อมูลผู้ที่ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาโดยตลอด ส่วนกรณีบริษัท เมจิก สกิน จำกัด ที่มีผู้เสียหายมายื่นร้องเรียนกับ สคบ. ได้จัดส่งข้อมูลให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการฟ้องร้องต่อ เพราะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นเป็นคดีความแล้ว


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,363 วันที่ 6-9 พ.ค. 2561 หน้า 01-02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
จับตานมฟลูออไรด์คืนชีพ" มิลค์บอร์ด" บีบ อย. ให้ต่ออายุโรงงาน
ฐานโซไซตี : สังคมถล่ม อย.ปล่อยโฆษณาอาหารเสริม โจ่งครึ่ม!!!!


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว