ลดดอกเบี้ย SME! จัดเกรดปล่อยกู้

07 พ.ค. 2561 | 09:12 น.
070561-1541 app12994452_s

แบงก์ประสานเสียงคิดดอกเบี้ยเอสเอ็มอีตามความเสี่ยง ตามการแข่งขันของระบบเดินหน้าจัดเกรดปล่อยกู้ตามความเสี่ยง ศักยภาพการชำระหนี้ของลูกค้า ย้ำ! ดอกเบี้ยไม่ใช่ปัญหาเข้าถึงสินเชื่อยาก มั่นใจทุกธนาคารพยายามอุ้มผู้ประกอบการเต็มที่

นายสุรัตน์ ลีลาทวีรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า
ภาพรวมการแข่งขันในด้านอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์พยายามช่วยลูกค้าผ่านการลดอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ลง และหากดูอัตราดอกเบี้ยรายใหญ่ชั้นดี (MLR) ปัจจุบันจะพบว่าลดลงต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าตอนนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้นก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันในระบบ


06-SN-MCC-Decision-ara

คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยง
ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดกับลูกค้าเอสเอ็มอีจะอยู่ที่ MLR บวก ลบ เฉลี่ยอยู่ที่ 2-3% ขึ้นอยู่กับภาวะการแข่งขันและความแข็งแกร่งของบริษัท ซึ่งธนาคารพยายามตั้งราคาสะท้อนตามความเสี่ยง เช่น ลูกค้ามีวินัย มีความเสี่ยงเครดิตที่ดี ธนาคารจะพิจารณาต้นทุนการเงินที่ต่ำ หากลูกค้าที่มีความเสี่ยงเครดิตสูง ธนาคารจะต้องปล่อยในต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากลูกค้ามีปัญหา ส่วนลูกค้าที่มีบัญชีเดียว หรือ งบการเงินดี กลุ่มนี้จะได้รับการพิจารณาในต้นทุนที่ถูกลงด้วย


GP-3363_180507_0009

"ธนาคารพยายามตั้งราคาตามความเสี่ยง ซึ่งแบงก์ส่วนใหญ่ปกติจะปล่อยดอกเบี้ยอิงกับความเสี่ยงของลูกค้า ราคาจะสะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริง ซึ่งตอนนี้ ลูกค้าเอสเอ็มอีรายเล็กทั่วไปปกติจะกู้ในอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 10% อยู่แล้ว หากบริษัทมีความแข็งแรงจะได้ดอกเบี้ยต่ำ หากลูกค้ามีความเสี่ยงสูงก็ต้องได้ดอกเบี้ยแพงกว่าเพื่อชดเชยความเสี่ยง"


เอสเอ็มอีขนาดเล็กหนี้เสีย 7%
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า อัตราดอกเบี้ยในการปล่อยกู้ของธนาคารโดยเฉลี่ยในปัจจุบัน หากเป็นลูกค้ารายย่อย หรือ สินเชื่อบุคคล จะคิดดอกเบี้ยมากกว่า 20% สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยมากกว่า 12% ธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ดอกเบี้ย 10% เอสเอ็มอีขนาดกลาง ดอกเบี้ยมากกว่า 6% และบริษัทขนาดใหญ่ อัตราดอกเบี้ยมากกว่า 3% ขณะที่ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แยกตามขนาดธุรกิจในปัจจุบัน พบว่า สินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อย สินเชื่อบุคคล เอ็นพีแอลอยู่ที่ 8% ไมโครไฟแนนซ์ 9% เอสเอ็มอีขนาดเล็ก 7% เอสเอ็มอีขนาดกลาง 4% และบริษัทขนาดใหญ่ 2%

 

[caption id="attachment_279381" align="aligncenter" width="503"] สยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) ©theleader.asia สยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย)
©theleader.asia[/caption]

นางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคารยูโอบีจะขึ้นอยู่กับวงเงินและความเสี่ยงของลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งมีตั้งแต่ MLR และลูกค้าเบิกเงินเกินบัญชี (MOR) โดยธนาคารจะมีการจัดเกรดลูกค้าตามความเสี่ยง เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย ซึ่งเป็นนโยบายของธนาคารที่ปฏิบัติมาอยู่แล้ว เนื่องจากธนาคารไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าได้ทั้งพอร์ต เพราะลูกค้ามีทั้งที่เสี่ยงน้อยและเสี่ยงมาก จึงมีการจัดเกรดและเซ็กเมนต์ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้รับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและยุติธรรมกับลูกค้า

ธนาคารจะพิจารณาวินัยทางการเงินลูกค้า ประวัติการชำระเงิน วินัยการใช้วงเงินสินเชื่อ และการดำเนินธุรกิจของลูกค้าย้อนหลัง 3 ปี เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม หากเป็นลูกค้าที่มีวินัยจะได้รับอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ MLR-2% หรือ ลบมากกว่า ส่วนลูกค้าที่มีความเสี่ยงขึ้นมา จะได้รับอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย MLR+1% เป็นต้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอีตามนโยบายภาครัฐเพื่อให้ลูกค้าเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อในต้นทุนการเงินที่เหมาะสม

 

[caption id="attachment_279383" align="aligncenter" width="503"] เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย เบญจรงค์ สุวรรณคีรี
หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย[/caption]

ห่วงเข้าถึงสินเชื่อยาก
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยของลูกค้าเอสเอ็มอีในท้ายที่สุดจะสะท้อนกลไกความเสี่ยงของระบบ เนื่องจากประเด็นที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกังวลจะเป็นเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากกว่าเรื่องของอัตราดอกเบี้ย หรือ ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะต้องสะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของลูกค้า หากลูกค้ามีความเสี่ยงสูงแต่ปล่อยอัตราดอกเบี้ยต่ำ จะทำให้การเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการทำได้ยาก และในท้ายที่สุดจะไหลไปสู่เงินกู้นอกระบบ

ด้าน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยเอสเอ็มอีเริ่มดีขึ้น สะท้อนถึงการแข่งขันระหว่างธนาคารสูงขึ้น โดยการขยายตัวทางสินเชื่อเอสเอ็มอียังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่จะเน้นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูง ปัญหาขณะนี้ อยู่ที่ผู้ประกอบการในกลุ่มที่ขาดความสามารถในการแข่งขัน ที่ยังไม่สามารถยกระดับการแข่งขันได้เท่าทันตลาดใหม่ ๆ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยสินเชื่อ เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้มีปัญหาความเสี่ยงสูง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,363 วันที่ 6-9 พ.ค. 2561 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โกลเบล็กจับตาศก.สหรัฐ-คาดเฟดยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยให้กรอบ1,750-1,805 จุด
เฟดประกาศคงอัตราดอกเบี้ย หนุนราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น


e-book-1-503x62