“ประยุทธ์”ไม่สบายใจเร่งเเก้”บ้านเชิงดอย”วอน”อย่าชิงชังศาล”

05 พ.ค. 2561 | 03:56 น.
“ประยุทธ์”ไม่สบายใจเร่งเเก้”บ้านเชิงดอย”วอน”อย่าชิงชังศาล”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า “ประเด็นสำคัญ เรื่องแรกก็คือการเคลื่อนไหวของ P-Move ก็คงเป็นเรื่องที่เราจะต้องแก้ปัญหาให้ต่อไป ก็นำเข้าพิจารณาในคณะทำงานของ คทช. การจัดสรรที่ดิน ก็ได้สั่งการไปหมดแล้ว เพียงแต่หลายคนก็ใจร้อน เร่งรัด อย่างนี้ก็ต้องเข้ากติกาของเรา ไม่อย่างนั้นก็ไม่พอหรอก ทุกคนต้องการโน่นต้องการนี่กันหมด โดยไม่มีการจัดระเบียบให้ ก็กลับไปที่เดิมหมด นั่นแหละ เหมือนเดิม นะครับ ก็ต้องเข้าใจกันบ้าง

เพราะฉะนั้นบรรดาแกนนำต่างๆก็ต้องระมัดระวังในการเคลื่อนไหวด้วย ไม่อยากให้มีปัญหาต่อไปในอนาคต รัฐบาลไม่มุ่งหวังที่จะไปปิดกั้นท่านเลย เพียงแต่ว่ารับเข้ามาในการพิจารณาของ คทช.ในการจัดที่ดินด้วย ไม่ใช่จะไปชี้ตรงโน้น ตรงนี้นะ เอาที่ดินตรงนี้มาเป็นของตัวเอง อันนี้เป็นการทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

กรณีที่สอง คือ การสร้างบ้านพักตุลาการ บริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมไม่สบายใจ ทุกคนไม่สบายใจ ครม.ไม่สบายใจ เป็นกังวลใจมาโดยตลอด เพราะมีผลกระทบกับพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ ผมได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร จากหน่วยงานราชการ นักวิชาการ และสื่อทุกแขนง ในทุกแง่มุม

ทั้งนี้ ไม่ว่าปัญหาจะเกิดจากใคร และเมื่อใดก็ตาม ผมอยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้มั่นใจว่ารัฐบาลและ คสช. จะพยายามทำอย่างเต็มที่ ด้วยความรอบคอบ ก็ขอให้ไว้ใจผม เหมือนที่เคยไว้ใจมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ว่าเราจะต้องหา “ทางออก” ที่ดีที่สุดให้กับประเทศ หลายอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว เราไปแก้ไขอะไรแบบที่ไม่ระมัดระวังไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศดังที่กล่าวมาแล้ว

tu-sad

ปัจจุบัน ผมได้มอบหมายให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะทำงาน เข้าไปพูดคุยหารือ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ทราบว่าการพูดคุยในปัจจุบัน เป็นไปในทิศทางที่ดี

สิ่งแรกที่ผมอยากให้ทำก่อนเลย ก็คือการปลูกป่าขึ้นมาก่อน เรื่องอื่นเดี๋ยวก็ค่อยพูดค่อย เจรจาหารือคณะทำงาน ฝ่ายกฎหมายมาดูกัน

แต่ข้อสำคัญก็คืออย่าไปแสดงความรังเกียจ ชิงชัง ข้าราชการของศาล เพราะเหล่าข้าราชการเหล่านั้นไม่ได้เป็นคนไปสร้างเอง เป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

คราวนี้ก็ต้องมาดูซิว่าเราจะบริหารจัดการกันได้อย่างไร แต่แน่นอนไม่มีใครไปอยู่ แน่นอน ผมก็ยังไม่อนุมัติให้ใครไปอยู่ทั้งสิ้น

แล้วลองบริหารจัดการป่าดูสิ ว่ามันจะใช้เวลาในฤดูฝนหน้าจะปลูกป่าขึ้นมาได้ไหม จะทำให้พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ป่าได้เหมือนเดิมหรือไม่นะครับ

เรื่องอื่นก็เดี๋ยวค่อยเจรจาว่ากันต่อไป อย่าเพิ่งมากดดันกันเห็นบอกจะมีการเคลื่อนไหวกันอีก ผมขอร้องนะครับ ไม่งั้นจะวุ่นวายไปทั้งประเทศ ก็มีคนมาฉวยประโยชน์เข้าไปอีกนะครับ

tulak1

การเคลื่อนไหวต่างๆ นั้น ผมอยากให้พวกเรานั้นปรับเปลี่ยนทัศนคติ มาสู่การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีนะครับ ไม่ใช่ในเชิงกดดันกันไปกันมา แล้วมันก็ทำไม่ได้อยู่ดี เพราะว่าการชุมนุมเพื่อเรียกร้องขอที่ดินเราก็ดำเนินการอยู่ ถ้าไปกดดันมากๆ มันก็ทำไม่ได้อยู่ดี ทุกคนก็ต้องการมาก ต้องการมากที่สุดนะครับ บางครั้งมันก็ต้องฟังเหตุผลกันบ้างนะครับ

ที่ผ่านมานั้นเราคงคุ้นเคยการทำงานของบรรดาสมาชิกหรือ ส.ส. ในสภาฯ นะครับ ที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ “ฝ่ายรัฐบาล กับ ฝ่ายค้าน” ซึ่งต่างก็ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองเหมือนกัน เรามักจะเรียกว่า “ฝ่ายค้าน” กับ “ฝ่ายรัฐบาล” ทำไมเราไม่ลองเรียกดูนะครับ ว่าในทางปฏิบัตินะครับ ก็เรียกว่าฝ่ายหนึ่งคือ “ฝ่ายรัฐบาล” อีกฝ่ายหนึ่งคือ “ฝ่ายค้านและสนับสนุน” ฝ่ายค้านก็คือว่ามีการตรวจสอบนะครับ มีการทักท้วง

แต่เรื่องใดก็ตามที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ เป็นนโยบายที่มีการปฏิรูป อันนี้ก็ต้องสนับสนุนกัน ไม่งั้นมันก็ล้มกันไปหมด มันก็เลยทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ประเทศชาติมันก็ไม่มีแนวทางในการพัฒนาประเทศที่มันยั่งยืน มันอาจเปลี่ยนชื่อไม่ได้นะครับ

แต่ผมอยากให้สร้างความรู้สึกใหม่ๆขึ้นมา เรียกว่าฝ่ายรัฐบาล อีกฝ่ายก็ ฝ่ายค้านและสนับสนุนนะครับ เพื่อจะได้มีการตรวจสอบด้วย ไม่อยากให้ค้านกันไปกันมาทุกเรื่อง ค้านก็เพื่อเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลในสิ่งที่มันควรจะเป็น “ติเพื่อก่อ” มีข้อเสนอแนะ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง เพื่อสนับสนุนให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ไม่ว่าจะจากพรรคใดก็ไม่สำคัญนะครับ แต่ต้องมี “ธรรมาภิบาล” มีโครงการ มีแผนงาน มีนโยบายที่ถูกต้องนะครับ เหมาะสม

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ถ้าหากเป็นเช่นนั้นได้ เราก็จะเป็นการสร้างวัฒนธรรม “การปรองดอง” ที่ไม่ใช่การเอาชนะ คัดค้านกัน เหมือน “การโต้วาที” ที่มุ่งเป้าหมายของตัวเองเป็นหลัก โจมตีกันไป กันมา แล้วก็ปิดทุกประตูทางออก ปฏิเสธทุกข้อเสนอ ทุกความเห็นต่าง เหมือนพยายามผลักปัญหาเข้าสู่ “ทางตัน” สุดท้ายแล้ว...ประเทศชาติ และเราทุกคน ก็เป็นผู้เสียหาย

ดังนั้น ผมจึงขอฝากให้ช่วยกันพิจารณาการสร้างวัฒนธรรม “การปรองดอง” นี้ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานใหม่กับสังคมไทย ไม่ได้หมายความว่าปรองดองเพื่อหาประโยชน์ร่วมกันอีกนะครับ จะต้องทำให้เกิดธรรมาภิบาลให้ได้ อยู่ที่พวกเราทุกคนนะครับ ให้เราสามารถบริหารความขัดแย้งได้ ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยกฎหมายปกติที่มีอยู่แล้ว หา “จุดลงตัว” ให้ได้ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ใช้นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ “ร่วมกัน” ในการพิจารณาหาทางออกซึ่งเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่พระราชทานไว้ ให้เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติ นะครับ”

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว