ชงปลดล็อกจ่ายเงินชดเชยช้า ผู้ค้าLPGเฮหันนำเข้าแข่งปตท.

27 ม.ค. 2559 | 02:00 น.
เปิดเสรีนำเข้าก๊าซแอลพีจี รอกบง.เคาะ 3 ก.พ.นี้ แก้ปัญหาจ่ายเงินชดเชยล่าช้า ลดอุปสรรคการนำเข้า ด้านผู้ค้าแอลพีจีต่างขานรับนโยบาย พร้อมนำเข้าแข่งขัน ลดการผูกขาดจากปตท.เพียงเจ้าเดียว "สยามแก๊ส" ตั้งเป้านำเข้า 9 หมื่นตันต่อเดือน ทำตลาดแข่ง ส่วนปตท.เฮ ลดภาระแบกรับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯไปก่อน ยันไม่กระทบส่วนแบ่งตลาด เพราะมีความได้เปรียบด้านคลังและท่าเรือพร้อมสู้

นายวิฑูรย์ กุลเจิรญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.)กระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่าในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการที่จะเปิดให้มีการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจี ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) นำเสนอโรดแมป และมอบหมายให้ไปจัดทำรายละเอียดนำมาเสนอใหม่ในการประชุมกบง.ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559

โดยเฉพาะในระยะแรก ที่จะต้องมีการยกเลิกอุปสรรคต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการให้ผู้ค้าก๊าซรายอื่นนำเข้า เช่น มาตรการเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าที่ล่าช้า การให้ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดให้บริการโครงสร้างพื้นฐานแอลพีจี เช่น การใช้ท่าเรือนำเข้า และคลังที่เขาบ่อยา จ.ชลบุรี แก่ผู้นำเข้ารายอื่น โดยจะมีค่าบริการและกฎระเบียบการใช้คลังที่เหมาะสม เป็นธรรมนั้น หากสามารถเร่งดำเนินการแก้ไขได้ก็จะสามารถทำให้ผู้ค้ารายอื่นนำเข้าแอลพีจีเข้ามาได้

สำหรับแนวทางดังกล่าวในอดีตทางกบง.ได้เคยมีมติที่เปิดให้มีการนำเข้าแอลพีจีอย่างเสรีอยู่แล้ว แต่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดนำเข้ามา เนื่องจากไม่ต้องการแบกรับภาระการต้องจ่ายเงินชดเชยเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งกว่าจะนำมาคืนได้จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 90 วัน ทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยกับผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ การเปิดเสรีนำเข้าอาจจะส่งผลดีกับผู้บริโภค ใช้ก๊าซฯในราคาถูกลงได้ เนื่องจากผู้นำเข้ารายอื่น ส่วนใหญ่จะซื้อเนื้อก๊าซแอลพีจีในตลาดจร ทำให้ได้ราคาถูกกว่า เมื่อเทียบกับซื้อจากปตท.ที่มีสัญญาระยะยาวกับผู้ขาย ที่มีการกำหนดราคาที่แน่นอนไว้แล้ว ซึ่งการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซฯครั้งนี้ เชื่อว่าหากกบง.มีมติเห็นชอบในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ จะทำให้การนำเข้าจริงจะเกิดขึ้นได้ไม่เกินไตรมาสแรกของปีนี้
ด้านนางจินตนา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การที่กบง.เห็นชอบในกรอบให้มีการนำเข้าแอลพีจีได้อย่างเสรี โดยให้มีผู้นำเข้าแอลพีจีมากกว่า 1 ราย และยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการให้ผู้ค้าก๊าซรายอื่น (ที่ไม่ใช่ ปตท.) นำเข้า เช่น มาตรการเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าที่ล่าช้า และในอนาคตจะเปิดส่วนแบ่งปริมาณนำเข้า ด้วยราคานำเข้าที่ CP+X ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ก็จะทำให้ราคานำเข้าถูกลง จากที่ปัจจุบันยังเป็นราคา CP+85 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนตัวมองว่าเป็นนโยบายที่ดี เพราะปัจจุบันผู้ค้าแอลพีจีมาตรา 7 ทุกราย ต้องพึ่งพา ปตท. เท่านั้น

โดยในช่วงที่ผ่านมาทาง สนพ.ได้เชิญผู้ค้าแอลพีจีมาตรา 7 และกรมธุรกิจพลังงาน เข้าหารือ ทางบริษัทจึงเสนอไปว่า การนำเข้าแอลพีจียังมีอุปสรรคมาก โดยเฉพาะการจ่ายเงินชดเชยที่ล่าช้า หากเป็นเช่นนี้ควรปล่อยให้ ปตท. นำเข้าต่อไป

ทั้งนี้ หากทางกระทรวงพลังงานสามารถปลดล็อกอุปสรรคได้ บริษัทก็พร้อมเป็นผู้นำเข้าแอลพีจีเอง เนื่องจากปัจจุบันก็ดำเนินธุรกิจซื้อขายแอลพีจีจากสิงคโปร์เพื่อจำหน่ายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่ปริมาณการขายยังไม่มากนัก โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 1 พันตันต่อเดือน และในปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 2-3 พันตันต่อเดือน

ขณะที่การนำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศนั้น หากเปิดเสรีอย่างแท้จริง บริษัทเตรียมนำเข้าประมาณ 2 ลำเรือ หรือรวมประมาณ 9 หมื่นตันต่อเดือน ซึ่งยังไม่จำเป็นต้องขยายคลังเก็บแอลพีจีเพิ่มเติม จากปัจจุบันคลังของบริษัทรองรับได้ 2-3 พันตันต่อเดือน เนื่องจากจะใช้เรือลอยลำไปก่อน นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างคลังเก็บแอลพีจีที่ถนนสุขสวัสดิ์ บนเนื้อที่ 100 ไร่ โดยเฟสแรกขนาด 3 พันตัน ใช้เงินลงทุน 500 ล้านบาท และหากคลังเต็มก็จะขยายเพิ่มเป็น 2 หมื่นตันในปีถัดไป

"บริษัทต้องการความชัดเจนจากทางภาครัฐก่อน กรณีการเปิดนำเข้าแอลพีจีแบบเสรี เพราะการเปิดเสรีนั้นจะต้องเอื้อให้มีเอกชนรายใหม่เข้ามา จะต้องไม่เป็นอุปสรรคและปัญหา ซึ่งบริษัทสนใจนำเข้า และมีศักยภาพนำเข้าเอง เบื้องต้นอาจจะมา 2 ลำเรือ ลำละ 4.5 หมื่นตันต่อเดือน ปัจจุบันยอดขายแอลพีจีของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1 แสนตันต่อเดือน หรือ 1.2 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้ไม่รวมปิโตรเคมีอยู่ที่ประมาณ 3.7 แสนตันต่อเดือน"นางจินตนา กล่าว

นายวิโรจน์ จันทราประภาเวช รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายวิสาหกิจสัมพันธ์ และซัพพลายเชน บริษัท พีเอพี แก๊สแอนด์ออยล์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนนำเข้าแอลพีจี หลังจากกระทรวงพลังงานมีนโยบายเปิดนำเข้าแอลพีจีแบบเสรี เนื่องจากราคานำเข้าแอลพีจีในตลาดโลกมีราคาต่ำกว่ารับซื้อจาก ปตท. แต่ในขณะนี้นโยบายดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนกระบวนการศึกษาของทางภาครัฐ ดังนั้นในฐานะเอกชนที่สนใจนำเข้าแอลพีจี คงต้องติดตามความชัดเจนจากทางกระทรวงพลังงานก่อนว่าสุดท้ายแล้วมติจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งทาง ธพ. จะเป็นผู้จัดสรรการนำเข้าต่อไป

โดยบริษัทคาดว่ากระทรวงพลังงานจะเปิดเสรีนำเข้าแอลพีจี 100% ภายในปี ซึ่งบริษัทตั้งเป้านำเข้าแอลพีจีได้ประมาณ 2-5 พันตันต่อเดือน และใช้คลังเก็บแอลพีจีและท่าเรือจุกเสม็ด สัตหีบ จ.ชลบุรี ของบริษัท สามารถรองรับแอลพีจีได้ 2 พันตัน ซึ่งหากนำเข้าที่ระดับ 2 พันต่อเดือน ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนขยายคลังเก็บแอลพีจีเพิ่ม เพราะมีคลังที่จุกเสม็ดรองรับอยู่แล้ว แต่หากต้องนำเข้ามากกว่านี้ก็คงต้องพิจารณาเพื่อลงทุนสร้างคลังเพิ่มเติม ซึ่งยังไม่ได้ประเมินเงินลงทุนไว้เพราะต้องรอความชัดเจนจากทางภาครัฐก่อน เนื่องจากปริมารการนำเข้าขึ้นอยู่กับการจัดสรรของทาง ธพ. ว่าจะให้โควตาบริษัทเท่าไร อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเจรจาซื้อขายแอลพีจีกับทางพันธมิตรประเทศโอมานและอิหร่านบ้างแล้ว

สำหรับยอดขายแอลพีจีของบริษัทในปีนี้ พบว่ายังรับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับราคาน้ำมันถูกลง ทำให้ความต้องการใช้แอลพีจีลดลง โดยเฉพาะในภาคขนส่งที่ลดลงมาก ปัจจุบันยอดขายแอลพีจีรวมของบริษัทอยู่ที่ 1.5 หมื่นตันต่อเดือน จากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เคยอยู่กว่า 2 หมื่นตันต่อเดือน ดังนั้นการเข้านำเข้าแอลพีจีของบริษัทเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าทั้งภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือน และขนส่ง แม้จะไม่ครอบคลุมปริมาณการขายทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งยังต้องรับซื้อจากทาง ปตท. แต่เชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนลดลงบ้าง

"การเปิดให้เอกชนรายใหม่นำเข้าแอลพีจีแบบเสรีนั้น จะทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น เพราะปัจจุบันผู้ค้าแอลพีจีมาตรา 7 จะต้องซื้อแอลพีจีจากทาง ปตท. เท่านั้น ดังนั้นหากมีผู้นำเข้ารายใหม่ยอมเกิดการแข่งขัน ทำให้ประเทศได้ประโยชน์ คาดว่าการนำเข้าแอลพีจีเสรีจะสามารถเกิดขึ้นได้ภายในปีนี้ โดยที่ผ่านมาบริษัทหารือกับทาง สนพ.แล้ว"นายวิโรจน์ กล่าว

แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ในการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซแอลพีจีถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับปตท. เพราะหากมีผู้ค้ารายอื่นๆ นำเข้ามา และเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยกองทุนน้ำมันในระยะเวลาที่เร็วขึ้น จากปกติไม่ต่ำกว่า 45 วันถึงจะได้เงินคืน เมื่อได้เงินคืนเร็วขึ้นก็จะทำให้ปตท.แบกรับภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลงไป จากการส่งเข้ากองทุนน้ำมัน 0.233 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในแต่ละเดือนต้องนำเข้าประมาณ 4.4 หมื่นตัน และยังช่วยลดภาระในการค่าเช่าเรือและค่าเสียเวลาเรือในการขนถ่ายก๊าซแอลพีจีที่สูงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าแอลพีจีเข้ามาได้อย่างเสรี อาจจะส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของปตท.หายไปบ้าง แต่เชื่อว่าไม่มากนัก เนื่องจากปตท.ยังมีความได้เปรียบด้านท่าเรือและคลังก๊าซที่มีอยู่ทั่วประเทศ หากผู้ค้ารายอื่นจะนำเข้า หากเป็นเรือขนาดเล็ก 1-2 พันตันต่อลำ คิดว่าไม่คุ้มกับการดำเนินงาน เพราะค่าขนส่งจะแพง เมื่อเทียบกับเรือขนาด 4.4 หมื่นตันต่อลำ ดังนั้น ปตท.ยังมีความได้เปรียบที่ท่าเรือและคลังของตัวเองที่เขาบ่อยาสามารถรับเรือขนาดใหญ่ได้ ทำให้มีต้นทุนถูกกว่า ขณะที่ผู้ค้ารายอื่นๆ ไม่มี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,125 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2559