นครพนมเร่งใช้ประโยชน์พท.เชิงพาณิชย์รอบสะพานข้ามโขงแห่งที่3

04 พ.ค. 2561 | 04:48 น.
นครพนมเร่งใช้ประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสะพานข้ามโขงแห่งที่3 มุ่งสร้างศักยภาพฮับโลจิสติกส์การค้าอาเซียนเชื่อมจีนตอนใต้ สอท.นครพนมหนุนรัฐเร่งส่งเสริมนักลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

นายวิโรจน์ พิพัฒน์ชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยว่า จังหวัดนครพนมจะต้องเปิดให้มีการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากพื้นที่รอบๆบริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 เพื่อปลดล๊อคศักยภาพของจังหวัดที่จะสามารถเป็นฮับด้านโลจิสติกส์หลักรองรับการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนและจีนตอนใต้ โดยในความเห็นที่ผ่านมาจังหวัดนครพนมยังไม่ได้ประโยชน์ในแง่ตัวเงินมากนัก แม้จะอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบมากๆโดยอยู่ติดพรมแดนลาวและอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง

สำหรับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 มีความยาว 1.4 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างอำเภอเมืองนครพนมกับอำเภอท่าเเขก จังหวัดคำม่วน ของสปป.ลาว ปกติแล้วจุดนี้ถูกใช้เป็นเส้นทางการค้าระหว่างไทย-ลาว- เวียดนาม และจีนตอนใต้

nom1

 

"เราจะเห็นได้ว่าเม็ดเงินการค้าผ่านจังหวัดนครพนมไป แต่ไม่ตกถึงจังหวัดนครพนม เพราะเป็นแค่ทางผ่านของการค้าเท่านั้น ถ้าหากมีการสร้างโรงงานในตัวจังหวัดมากขึ้น ประชากรในพื้นที่ก็จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนคนที่เข้าไปทำงานในพื้นที่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะปูทางไปสู่ธุรกิจอื่นๆตามมา เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล คลินิก ทำให้เกิดการสร้างรายได้ มีเงินสะพัดอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครพนม"

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจม.44 ประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ในจังหวัดนครพนมช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมาเพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุน เขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว ได้ให้สิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีนำเข้าและลดหย่อนค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง(โลจิสติกส์) ให้กับธุรกิจที่ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในพื้นที่ โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนมมีพื้นที่ราว 4.5 แสนไร่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอเมืองและอำเภอท่าอุเทน และราวๆ 13 ตำบล

โดยก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการด้านการสรรหาพื้นที่ที่มีพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ตกลงที่จะจัดสรรพื้นที่ราว 2,938 ไร่รอบๆสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่3 ให้เป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมขั้นต้นเนื่องจากใกล้ประเทศลาว โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่จะดูแลเขตเศรษฐกิจส่วนนี้คือกรมธนารักษ์

nom2

“การใช้ม.44 จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ มีเสียงตอบรับทั้งในทางบวกและลบ ฝ่ายสนับสนุนความเคลื่อนไหวของรัฐบาลในเรื่องนี้ บอกว่ามันเป็นวิธีที่ให้ผลเร็วในการที่จะเริ่มการพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดที่เป็นเมืองรองๆ ซึ่งยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก แต่ฝ่ายที่คัดค้านก็ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ ที่การผลิตทางอุตสาหกรรมที่เกิดอย่างปุบปับและไม่ได้รับการควบคุม จะก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบ”

ด้านนายวัชรินทร์ เจียวิริยะบุญญา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม กล่าวว่าการใช้ม.44 จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ช่วยลดขั้นตอนการเจรจาหารือของหน่วยงานต่างๆกับคนในพื้นที่ซึ่งมักใช้เวลายาวนานออกไป ส่วนใหญ่ก็มักเป็นการถกกันในเรื่องสิทธิ์ครอบครองและแนวคิดที่ว่าควรจะทำอะไรกับที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินในส่วนที่มีผู้ครอบครองร่วมกันหลายราย

"ปกติการหารือกันระหว่างหน่วยงาน อาทิ กรมศุลกากรและกรมธนารักษ์ อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเกิดผลที่เป็นรูปธรรมออกมา จำเป็นต้องมีจุดเริ่มต้น และเชื่อว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นจุดเริ่มต้นแบบให้ผลเร็วในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ"

nom3

ทั้งนี้ข้อมูลจากเว็บไซต์ของจังหวัดนครพนม พบว่า จังหวัดนครพนมอยู่ในอันดับที่ 57 ในแง่จังหวัดที่สร้างรายได้รวมทางเศรษฐกิจในระดับจังหวัด (Gross Provincial Products: GPP) ให้กับประเทศ โดยมี GPP เฉลี่ยที่ 73,000 บาท/คน/ปี ในปี 2556 ส่วนอันดับ1 คือกรุงเทพมหานคร มีค่าเฉลี่ย GPP ที่ประมาณ 466,000 บาท/คน/ปี

"ปัจจุบัน นครพนมยังขาดแคลนบุคลากรคุณภาพที่จะมาขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ประชาชนจะต้องรู้ว่าพวกเขาสามารถสร้างรายได้จากการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา และยังเห็นว่า สถาบันการศึกษาเช่น มหาวิทยาลัยนครพนม ควรจะต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น และสิ่งที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว