การผ่าตัดช่องท้องด้วยหุ่นยนต์! ... สามารถทำแทนมนุษย์ได้จริงหรือ

03 พ.ค. 2561 | 12:20 น.
030561-1907

ถ้าพูดถึงการผ่าตัดด้วย 'หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด' ผู้คนส่วนใหญ่คงจะหลับตาแล้วนึกถึงภาพเหมือนดังในภาพยนตร์ ที่นักแสดงนอนลงบนเตียงผ่าตัดแล้วกดปุ่มเปิดเครื่อง หลังจากนั้นจะมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ลอยออกมาจากเพดานทำการตรวจ และเมื่อพบสิ่งผิดปกติก็จะผ่าตัดรักษาทั้งหมดแทนที่มนุษย์ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นความเข้าใจผิด ที่คิดว่าการใช้หุ่นยนต์และระบบคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันจะสามารถทำการผ่าตัดแทนที่มนุษย์ได้ทั้งหมด เนื่องจากระบบร่างกายของมนุษย์มีความซับซ้อนและคนแต่ละคนมีองค์ประกอบไม่เหมือกัน มีรูปแบบของอวัยวะภายในไม่ได้เป็นแบบเดียวกันทุกคน จึงไม่สามารถใช้โปรแกรมการผ่าตัดชนิดเดียวกันในโรคเดียวกัน เพื่อผ่าตัดแบบเดียวกันกับคนทุก ๆ คนได้

ดังนั้น ปัจจุบัน การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หรือที่เรียกว่า Robotic Assisted Surgery เป็นเพียงแค่การใช้เทคโนโลยีของเครื่องจักรกล ระบบคอมพิวเตอร์ และการสร้างภาพ 3 มิติ มารวมกัน เพื่อช่วยให้การผ่าตัดทำได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น ดังเช่น การพัฒนาของโทรศัพท์มือถือที่สามารถทำอะไร ๆ ได้มากกว่าการพูดคุยกันอย่างเดียว การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดยังคงต้องใช้มนุษย์ หรือ ศัลยแพทย์ผ่าตัด เป็นผู้ดำเนินการผ่าตัด เพียงแต่ต้องเป็นศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จึงจะสามารถทำได้ โดยมีแพทย์ ศัลยแพทย์ผู้ช่วย ช่วยส่งเครื่องมือหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ ของหุ่นยนต์ โดยขั้นตอนคล้ายกับการผ่าตัดทั่วไป คือ หลังจากผู้ป่วยได้รับยาดมสลบแล้ว ศัลยแพทย์จะเป็นผู้นำเครื่องมืออุปกรณ์ของหุ่นยนต์เจาะเข้าไปในร่างกายที่จะทำการผ่าตัด และทำการจัดท่าทางและตำแหน่งของอุปกรณ์ที่เหมาะสม หลังจากนั้นจะมาควบคุมหุ่นยนต์เพื่อทำการผ่าตัด ซึ่งการใช้หุ่นยนต์เป็นเพียงแค่อุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ช่วยทำการผ่าตัดเท่านั้น

 

[caption id="attachment_278629" align="aligncenter" width="357"] เครื่องควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์โดยศัลยแพทย์ เครื่องควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์โดยศัลยแพทย์[/caption]

ข้อดีของการผ่าตัดโดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด คือ

1.ในพื้นที่แคบที่เข้าถึงได้ยากมีความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากแขนของหุ่นยนต์นั้น สามารถงอและหมุนได้มากกว่าข้อมือของมนุษย์ ทำให้การเย็บหรือการตัดเอาต่อมน้ำเหลืองในส่วนที่ลึกหรือมุมอับดีกว่าการผ่าตัดผ่านกล้องปกติ

2.การใช้กล้อง 3 มิติ สามารถมองมิติ 'ความลึก' มีความกำลังขยายภาพผ่าตัดถึง 10 เท่า ทำให้เกิดความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น เพิ่มความปลอดภัยในการผ่าตัดและลดการเกิดอันตรายต่อเส้นเลือดและเส้นประสาทใกล้เคียง

3.การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดช่วยควบคุมไม่ให้เกิดการสั่นไหวของเครื่องมือที่อยู่ภายในตัวผู้ป่วยระหว่างผ่าตัด ทำให้ลดโอกาสการบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง

4.ความแข็งแรงของแขนหุ่นยนต์ ทำให้มีความมั่นคงในการผ่าตัดที่ยากและใช้เวลานาน สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง โดยไม่ลดกำลังลงเหมือนการใช้แขนมนุษย์ในการผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง

5.สามารถใช้กล้อง Fluorescense เพื่อดูการกระจายของต่อมน้ำเหลือง หรือ ใช้ดูเส้นเลือดที่มาเลี้ยงอวัยวะช่วยนำร่องในการผ่าตัด

 

[caption id="attachment_278633" align="aligncenter" width="357"] หุ่นยนต์ที่ทำใช้ในการผ่าตัด หุ่นยนต์ที่ทำใช้ในการผ่าตัด[/caption]

การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นรูปแบบหนึ่งของการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ซึ่งก็จะมีข้อดีอื่น ๆ แบบเดียวกับการผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) ได้แก่ เจ็บแผลน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด หรือ การฟื้นตัวหลังผ่าตัดที่เร็วกว่า เป็นต้น

ส่วนข้อห้ามในการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดก็เหมือนกับการผ่าตัดแบบแผลเล็กทั่ว ๆ ไป แต่การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ยังมีข้อจำกัดอื่น ๆ อีก เช่น ถึงแม้ว่าหุ่นยนต์จะทำการผ่าตัดในพื้นที่แคบได้ดี เนื่องจากมุมมองที่ชัดและข้อต่อแขนหมุนได้วงกว้าง แต่ตัวหุ่นยนต์ภายนอกที่ใหญ่กลับทำให้เป็นปัญหาเวลาที่ต้องเปลี่ยนพื้นที่ผ่าตัดไปยังด้านตรงข้าม หรือ พื้นที่อีกบริเวณที่ห่างออกไปไกล ๆ ซึ่งจำเป็นต้องเอาแขนหุ่นยนต์ออกจากตัวผู้ป่วยก่อนและย้ายตำแหน่งตัวเครื่องหุ่นยนต์ไปยังบริเวณอื่นที่ต้องการ ก่อนจะนำแขนหุ่นยนต์เข้าไปยังตัวผู้ป่วยอีกครั้ง เพื่อทำการผ่าตัดต่อไป ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้องที่ถ้าต้องการเปลี่ยนพื้นที่ผ่าตัดไปยังบริเวณอื่นที่ห่างออกไปจะทำได้ง่ายกว่า

 

[caption id="attachment_278634" align="aligncenter" width="503"] ขั้นตอนการนำหุ่นยนต์เข้าไปยังตำแหน่งที่ต้องการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด ขั้นตอนการนำหุ่นยนต์เข้าไปยังตำแหน่งที่ต้องการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด[/caption]

นอกจากนี้ อุปกรณ์ของหุ่นยนต์ทั้งหมดยังมีราคาที่แพงและต้องอาศัยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ซึ่งปัจจุบันยังมีน้อยและระบบคอมพิวเตอร์ยังมีขนาดที่ใหญ่กินพื้นที่ในการใช้งาน ซึ่งยังคงต้องการพัฒนาให้ดีมากขึ้น เป็นต้น

สำหรับแผนกศัลยศาสตร์ทางเดินอาหารและศัลยศาสตร์ทั่วไป รวมถึงแผนกอื่น ๆ ภายใต้สังกัดภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เปิดให้บริการการผ่าตัดด้วยวิธีนี้และยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถผ่าตัดได้ทั้งกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ และโรคอื่น ๆ จึงเป็นอีกทางเลือก สำหรับการใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานในการผ่าตัดให้มีรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น


 

[caption id="attachment_278635" align="aligncenter" width="503"] ภาพขณะทำการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์โดยศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดจะเป็นผู้ควบคุมจากระยะไกล ภาพขณะทำการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์โดยศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดจะเป็นผู้ควบคุมจากระยะไกล[/caption]

……………….
บทความ โดย ผศ.น.พ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,361 วันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. 2561 หน้า 07

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กสอ.ปั้นเยาวชนรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์แขนกลเสริมแกร่งแรงงานต้นน้ำสู่อุตฯ 4.0
รัสเซียผลิตหุ่นยนต์สงครามใช้ในกองทัพ



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว