"ฉัตรชัย"ปลื้มความสำเร็จบริหารฤดูแล้งไม่มีพื้นที่ประสบภัย

03 พ.ค. 2561 | 10:58 น.
"ฉัตรชัย" เผยความสำเร็จบริหารฤดูแล้ง ไม่มีพื้นที่ประสบภัย ตั้ง 2 คณะเตือนภัยรับมือน้ำหลาก น้ำท่วม ด้านกรมชลฯพร้อมเดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 61

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ วิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2561 ณ ห้องประชุมชั้น 3 ศูนย์ ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน สามเสน

คณะอนุกรรมการฯ นี้ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งเพื่อแก้ไขสถานการณ์น้ำได้ทันท่วงที ลดผลกระทบ/ความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด มีกําหนดประชุมเดือนละ 1 ครั้ง และเพิ่มเติมในกรณีมีเหตุวิกฤติ ในฤดูแล้ง ปี 2561 ที่ผ่านมา มีการจัดสรรน้ำ 23,585 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 94 ของแผน และได้ช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำจากหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
chat1

 

1. กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ 2,365 เครื่อง ซึ่งได้ส่งไปช่วยเหลือสูบน้ำเข้าพื้นที่เกษตร 241 เครื่อง 2. กรมทรัพยากรน้ำสนับสนุนการสูบน้ำรวม 7.87 ล้าน ลบ.ม. ได้รับประโยชน์ 11,870 ครัวเรือน 3. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร 969 แห่ง แล้วเสร็จ 621 แห่งขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,437 แห่ง แล้วเสร็จ 376 แห่ง - ขุดเจาะบ่อบาดาลโรงเรียน 633 แห่ง แล้วเสร็จ 480 แห่ง แจกจ่ายน้ำ 4.58 ล้านลิตร

4.กรมฝนหลวงฯ ปฏิบัติการฝนหลวง 844 เที่ยวบิน ปี 2561 นับเป็นปีแรกที่ไม่มีพื้นที่ใดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือภัยแล้ง ซึ่งเป็นผลมาจากการ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ ทําให้เชื่อมโยงเป็นระบบ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

คาดว่าปี 2561 จะมีปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ สภาพใกล้เคียงปี 2557 ซึ่งในปัจจุบัน ณ วันที่ 1 พ.ค. 61 มีน้ำผิวดิน/น้ำบาดาล ใช้การได้รวม 50,779 ล้าน ลบ.ม. คาดว่า ณ วันที่ 1 พ.ย. 61 ซึ่งเป็นวันสิ้นฤดูฝน จะมีน้ำใกล้เคียงกับวันที่ 1 พ.ย. 60 คาดว่าในเดือน ส.ค. - ก.ย. จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาจจะมีน้ำท่วมจากน้ำระบายไม่ทัน น้ำหลาก และ น้ำล้นตลิ่ง

ทั้งนี้ได้ทําการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมเป็นรายเดือน เช่น เดือน มิ.ย. ได้แก่ จ.น่าน เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี จันทบุรี และ พังงา เป็นต้น โดยคาดการณ์จากทิศทางของฝน/พายุโดยใช้ข้อมูลจาก หลายๆ หน่วยงาน มีการเตรียมการช่วยเหลือ ได้แก่ การปรับเวลาการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกํา/เจ้าพระยา การวางเครื่องสูบน้ำ/เครื่องมือในจุดเสี่ยง เพื่อลดเวลาการเคลื่อนย้ายสามารถช่วยเหลือได้ทันที

chat การวางระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนมีเวลาในการเตรียมการ การกําจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และการจัดจราจรน้ำ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก มีโอกาสที่น้ำจะไหลเข้ามากจากฝนตกหนักมาก ต้องติดตามสภาพอากาศล่วงหน้า วางแผนระบายน้ำ และ ติดตามระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้มีน้ำไหลข้ามสันเขื่อน จนทําให้อ่าง เก็บน้ำเสียหาย

ปรับเวลาการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำมีผลดังนี้ สำหรับทุ่งบางระกํา พื้นที่ 0.38 ล้านไร่ เริ่มปลูกวันที่ 1 เม.ย. 61 เก็บเกี่ยว ส.ค. 61 รับน้ำได้ 450 ล้าน ลบ.ม. ส่วน12 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ เริ่มปลูกวันที่ 1 พ.ค. 61 เก็บเกี่ยว ก.ย. 61 รับน้ำ ได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม.ได้แต่งตั้งคณะทํางาน 2 ชุด เพื่อติดตามสถานการณ์ และบูรณาการข้อมูล เพื่อแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ในทันที ลดผลเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด

ด้านดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้สิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ ภัยแล้งปีนี้ไม่รุนแรงมากนัก พืชผลทางการเกษตรในช่วงฤดูแล้งไม่ได้รับความเสียหาย ส่วนผลการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศ(1 พ.ย. 60-30 เม.ย. 61) การใช้น้ำในปีนี้ถือได้ว่าเป็นไปตามแผน โดยทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปทั้งสิ้น 24,836 ล้าน ลบ.ม. จากแผนที่วางไว้ 25,067 ล้าน ลบ.ม.

เช่นเดียวกันสำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2560/61 ไว้ทั้งสิ้น 7,700 ล้าน ลบ.ม. ปรากฏว่ามีการใช้น้ำไปทั้งสิ้น 8,553 ล้าน ลบ.ม. เกินแผนไปเพียงเล็กน้อย ซึ่งถือว่าไม่มากนัก เนื่องจากได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ร่วมใจกันปฏิบัติตามแผนการเพาะปลูกพืช ฤดูแล้งเป็นอย่างดี ส่งผลให้การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้
rilan1

สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2561 กรมชลประทาน ได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำโดยการใช้มาตรการที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง อาทิ การคาดการณ์และติดตามสภาวะทางอุตุ-อุทกวิทยา การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำโดยใช้ Reservoir Operation Simulation และ Reservoir Operation Rule Curve การตรวจสอบความพร้อมใช้งานของอาคารชลประทาน การใช้ระบบโทรมาตรเพื่อพยากรณ์น้ำและเตือนภัย การควบคุมปริมาณน้ำให้ได้ตามเกณฑ์ การเชื่อมโยงข้อมูล และวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ และการปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกพืช เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก เป็นต้น ส่วนมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้าง นั้น จะดำเนินตามแผนงานขุดลอก

การซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลประทาน เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทาน ตัดยอดน้ำหลากเพื่อป้องกันน้ำท่วมชุมชน รวมไปถึงการใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทานในการควบคุมปริมาณน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เกษตรด้วย
ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

กรมชลประทาน ได้ใช้มาตรการปรับเปลี่ยนปฏิทินการทำนาปี เพื่อใช้พื้นที่การเกษตรเหล่านั้นเป็นพื้นที่รับน้ำหลาก หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว ได้แก่ พื้นที่ตอนบนตั้งแต่นครสวรรค์ขึ้นไป คือพื้นที่ ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ในปีนี้มีการปรับเพิ่มพื้นที่มากขึ้น จากเดิมปีที่แล้วมีพื้นที่ 265,000 ไร่ เพิ่มเป็น 382,000 ไร่ รับน้ำได้มากขึ้นจากเดิม 400 เป็น 550 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน ได้ส่งน้ำให้เกษตรกรทำนาปีแล้วตั้งแต่ 1 เม.ย. 61 เพื่อให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตภายในเดือนกรกฎาคม
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 ส่วนพื้นที่ตอนล่างตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ พื้นที่รวมกว่า 1.15 ล้านไร่ รับน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน ได้ส่งน้ำให้เกษตรกรเริ่มทำนาปี ตั้งแต่ 1 พ.ค. 61 เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนกันยายน ก่อนจะใช้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูหลากต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ พร้อมกับตรวจสอบอาคารชลประทาน ระบบชลประทานต่างๆ ในพื้นที่ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมทั้ง ให้เจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญให้บูรณาการทำงานร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและรายงานสถานการณ์น้ำต่อผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบ และเตรียมการป้องกันได้อย่างทันต่อเหตุการณ์

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว