กยท.สั่งศึกษาร่วมทุนค้ายาง โค่นยางปี58ทะลุ6แสนไร่/ระนอง-สงขลานำจ่าย1.5พัน/ไร่

27 ม.ค. 2559 | 10:00 น.
"รุ่งโรจน์"เฮ ทางเลือกที่ 3 ประธานบอร์ด กยท. ส่งไม้ต่อ สั่งรักษาการผู้ว่าการยางฯ ตั้งทีมเฉพาะกิจศึกษา หวังจะแก้ปัญหาราคายางระยะยาว ขณะวงในเผยส่งรายชื่อให้ตรวจสอบต้องรอบคอบ หลังเกษตรกรขอรับเงินสงเคราะห์ ในปี 2558 ปลูกยางแทนปาล์มพันธุ์หรือปลูกยางทะลุเกินเป้าเป็น 6 แสนไร่ ด้านระนอง ลิ่วแชมป์จ่ายเจ้าของสวนนำโด่ง ส่วน "สงขลา" เอาใจคนกรีดยางฉิว

[caption id="attachment_28217" align="aligncenter" width="500"] รายงานผลการดำเนินงาน 5 จังหวัดในโครงการสร้างความเข้มแข็ง รายงานผลการดำเนินงาน 5 จังหวัดในโครงการสร้างความเข้มแข็ง[/caption]

นายรุ่งโรจน์ เหมันต์สุทธิกุล ประธานกรรมการบริษัท เพาว์เวอร์ ยูนิตี้ จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ได้รับการติดต่อจาก พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้เข้าไปนำเสนอทฤษฎีทางเลือกที่ 3 ในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำโดยการร่วมค้ายาง ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับ กยท.และชาวสวนได้ในอนาคต และที่สำคัญยังใช้วิธีการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรหรือสินค้าอื่นๆ ที่อ่อนไหวในแต่ละประเทศ แทนการใช้วิธีรับจำนำหรือประกันราคา ซึ่งวิธีที่ 3 นี้ หลายประเทศ เช่น มาเลเซีย จีน สิงคโปร์ได้ใช้มาเป็นเวลาร่วม 20 ปีแล้ว

"ผมย้ำกับประธานบอร์ดถึง ข้อดีของทางเลือกที่ 3 นั้นมีมากมาย อาทิไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐจำนวนมาก การบริหารงานคล่องตัวเพราะจะทำให้สินค้าที่อ่อนไหวได้รับการระบายออกไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีต้นทุนแฝงอื่นๆ เช่น ค่าเช่าโกดัง ค่าจัดเก็บรักษา ค่าตรวจสอบคุณภาพค้างสต๊อก นอกจากนี้ทางเลือกที่ 3 ยังสามารถทำให้เกิดความยั่งยืนเนื่องจากจะสามารถได้ตลาดที่ยั่งยืนตรงกับความต้องการของสินค้านั้นๆ และที่สำคัญสามารถขจัดปัญหาการคอร์รัปชันได้อย่างแน่นอน ท่านได้ฟัง จึงได้สั่งการให้คุณเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฎิบัติการแทนผู้ว่า กยท. ให้ตั้งทีมเฉพาะกิจศึกษาทันที"

อนึ่ง บริษัท เพาว์เวอร์ ยูนิตี้ จำกัด เป็นธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินธุรกิจประกอบกิจการบริหารรับซื้อขายพืชผลทางการเกษตร สาระสำคัญของผู้ตรวจสอบบัญชี ได้รายงานงบการเงิน ณ วันที่ 11 มีนาคม 2558 มีลูกหนี้การค้าที่ถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องและศาลให้คำพิพากษาให้บริษัทชำระค่าสินค้าและดอกเบี้ย จำนวนกว่า 711 ล้านบาท ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างขั้นอุทธรณ์ ขอแก้ไขติดหนี้จาก 711 ล้านบาทเป็นเพียง 7.11 แสนบาท

นายเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฎิบัติหน้าที่ผู้ว่าการยางฯ กล่าวว่า จากมาตรการนโยบายการลดซัพพลายยางตามยุทธศาสตร์ 7 ปี (ต.ค. 57 - ก.ย. 64) ปีละ 4 แสนไร่ โดยจะให้การสงเคราะห์สนับสนุนการโค่นต้นยางเก่าที่ให้ผลผลิตไม่คุ้มค่า โดยปลูกปาล์มทดแทน และปลูกยางพาราจะได้รับเงินสงเคราะห์ 1.6 หมื่นบาทต่อไร่ ผลจากราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่องทำให้ปี 2558 มีเกษตรกรมายื่นความจำนงถึง 6 แสนไร่ ทะลุเกินเป้าไป 2 แสนไร่ จากปกติไม่มีนโยบายดังกล่าวจะมีเกษตรกรมายื่นความจำนงโดยเฉลี่ยแต่ละปีประมาณ 2.5 แสนไร่ เท่านั้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยผลการดำเนินการจ่ายเงินของ ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า สาเหตุที่จะต้องมีการตรวจสอบรอบคอบ เนื่องจากในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมามีเกษตรกรขอเข้ารับการสงเคราะห์โค่นต้นยางจำนวนมาก บางรายก็ขายทิ้งเปลี่ยนมือไปเรียบร้อย จะใช้ฐานอ้างอิงแล้วให้เลยไม่ได้ต้องตรวจสอบ และที่สำคัญจะต้องขึ้นทะเบียนสมาชิก กยท. ด้วย

ซึ่งก็มีปัญหาอีก เพราะเกษตรกรบางรายชื่อในโฉนดเป็นของภรรยา แต่กรมส่งเสริมเดิมอะลุ้มอล่วย มีมอบฉันทะ แต่ กยท.ไม่ได้ คือชื่อใครก็ต้องเป็นชื่อคนนั้น จึงทำให้ปัจจุบัน ผลรายงานผลการดำเนินงานโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (เจ้าของสวนยาง)และผู้กรีดยาง จำนวน 1.5 หมื่นราย 111.4 ล้านบาทจึงมีความล่าช้า แต่ล่าสุดได้เริ่มมีความคล่องตัวมากขึ้น และเริ่มจ่ายเงินได้มากขึ้น (ดูตารางประกอบ)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,125 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2559