อุทาหรณ์ ... จากคดีปกครอง | คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ไม่ขัดต่อ ก.ม. - คู่พิพาทต้องปฏิบัติตาม (ตอน 1)

03 พ.ค. 2561 | 05:09 น.
030561-1153

คดีคลองด่านที่ศาลปกครองกลางได้ตัดสินไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2561 ส่งผลให้สังคมหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการใช้อำนาจ ที่เรียกว่า "อนุญาโตตุลาการ" กันมากขึ้น

อนุญาโตตุลาการ คือ ใคร มีอำนาจอย่างไร และศาลปกครองสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวได้หรือไม่

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ "การอนุญาโตตุลาการ" กันก่อนนะครับ

การอนุญาโตตุลาการเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล ซึ่งเกิดจากความสมัครใจของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ที่ได้ตกลงกันทำสัญญาโดยให้นำข้อพิพาทของตนทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว หรือ อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เสนอให้บุคคลภายนอก ที่เรียกว่า "อนุญาโตตุลาการ" ทำการชี้ขาด

 

[caption id="attachment_278481" align="aligncenter" width="503"] ©succo ©succo[/caption]

กล่าวง่าย ๆ ว่า "อนุญาโตตุลาการ" หมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการตัดสินชี้ขาดข้อพิพาท อาจกระทำได้ทั้งในศาล (อยู่ภายใต้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง) และนอกศาล (อยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545) และเมื่อคู่สัญญา ซึ่งเป็นคู่พิพาทตกลงกันให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นคู่พิพาทต้องนำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อให้มีคำชี้ขาด ซึ่งคำชี้ขาดนี้มีผลเป็นที่สุด หรือ เสร็จเด็ดขาด และผูกพันคู่พิพาทที่จะต้องปฏิบัติตาม

ปัญหาว่า เมื่อคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมีผลเป็นที่สุดและผูกพันคู่พิพาทแล้ว องค์กรตุลาการหรือศาลจะมีบทบาทในการตรวจสอบคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้เพียงใด?

เนื่องจากมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ให้สิทธิคัดค้านคำชี้ขาด โดยคู่พิพาทฝ่ายที่ไม่พอใจผลของคำชี้ขาด สามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ (โดยพิจารณาจากมูลคดี ซึ่งอาจเป็นศาลยุติธรรม หรือ ศาลปกครอง) เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดนั้นได้ภายใน 90 วันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด ซึ่งศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้ก็ต่อเมื่อ (1) คู่พิพาทพิสูจน์ให้เห็นว่า คำชี้ขาดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายตามเหตุที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือ (2) มีกรณีหนึ่งกรณีใดตามที่กฎหมายกำหนดปรากฏต่อศาล

 

[caption id="attachment_278482" align="aligncenter" width="503"] ©Cal Injury Lawyer ©Cal Injury Lawyer[/caption]

นายปกครองมีคำตอบจากคดีปกครองที่ อ.360/2560 และเพื่อให้เนื้อหาสาระครบถ้วนตามประเด็นที่ตั้งไว้ นายปกครองจึงขอแบ่งเรื่องนี้ออกเป็น 2 ตอน นะครับ ... ซึ่งในตอนแรกนี้ เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่ศาลท่านได้วินิจฉัยประเด็นตามคำร้องของ อบต.

โดยมูลเหตุเกิดจาก องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทำสัญญาจ้างบริษัท (ผู้รับจ้าง) ให้ก่อสร้างถนนลาดยาง กำหนดการจ่ายเงินค่าจ้างโดยแบ่งชำระเป็น 5 งวด และทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ (สำนักงานศาลยุติธรรม) ต่อมาเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น เนื่องจาก อบต. ไม่เบิกจ่ายเงิน งวดที่ 1 งวดที่ 4 และงวดที่ 5 ผู้รับจ้าง (ผู้เรียกร้องในชั้นอนุญาโตตุลาการ) จึงเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการและคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้ อบต. (ผู้คัดค้านในชั้นอนุญาโตตุลาการ) รับผิดชำระเงินค่าจ้างให้แก่บริษัทผู้รับจ้างตามสัญญา

อบต. เห็นว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการขัดต่อกฎหมายและการยอมรับ หรือ การบังคับตามคำชี้ขาดนี้จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 40 (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 เนื่องจากบริษัทผู้รับจ้างทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาและแบบรูปรายการละเอียด จึงตรวจรับงานไม่ได้ตามข้อ 48 (4) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538

 

[caption id="attachment_278484" align="aligncenter" width="503"] ©Blogtrepreneur ©Blogtrepreneur[/caption]

อบต. จึงนำคดีมาร้องต่อศาลปกครอง (ศาลที่มีเขตอำนาจในสัญญาทางปกครอง) ขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือ คำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการขัดต่อกฎหมายและการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่?

ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า
งานที่ผู้คัดค้านทำ (ผู้รับจ้าง) (ในชั้นร้องต่อศาลจะเรียกคู่พิพาทว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้าน) และส่งมอบต่อผู้ร้อง (อบต.) แม้เกิดความชำรุดเสียหายก่อนส่งมอบงาน แต่เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจากความผิดพลาดบกพร่องในการคำนวณออกแบบโครงการที่ไม่เป็นไปตามหลักการวิศวกรรมของฝ่ายผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่อาจกล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธการจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้คัดค้านได้ และเมื่อผู้คัดค้านไม่ติดใจเรียกร้องค่างานในส่วนระยะทาง 50 เมตร ผู้ร้องจึงต้องรับผิดชำระเงินค่างานงวดที่ 1 งวดที่ 4 และงวดที่ 5 ให้แก่ผู้คัดค้าน


hammer_books_law_court_lawyer_paragraphs_rule_jura-738499.jpg!d

ดังนั้น การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาด ของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชำระเงินค่าจ้างให้ผู้คัดค้านนั้น จึงไม่มี ลักษณะอย่างหนึ่งใดที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

จึงไม่จำต้องเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

กล่าวโดยสรุป คือ ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาตรงตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ แต่ผู้ร้องซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้น จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร? ติดตามต่อตอนที่ 2 ครับ ...


……………….
คอลัมน์ : อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,361 วันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. 2561 หน้า 6

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อุทาหรณ์ ... จากคดีปกครอง | สั่งยกเลิกการสอบราคา 'ด้วยวาจา' ถือว่าผู้เสนอราคาทราบแล้ว ... ขอรับ!!
อุทาหรณ์ ... จากคดีปกครอง | 'ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า' ออกใบอนุญาตไม่ได้ ไม่เป็นละเมิด?


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว