รอบนี้ ‘ซูเปอร์ไซเคิล’ ราคาสินค้าเกษตรไม่ดีอีกหลายปี

26 ม.ค. 2559 | 05:00 น.
จากอุณหภูมิสินค้าเกษตรในปี 2559 หากพิจารณาเป็นรายชนิดจะเห็นว่าแนวโน้มหลายตัวน่าเป็นห่วงทั้งราคาที่ตกต่ำ และปริมาณที่เกินจากความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและทั่วโลก ประกอบกับราคาน้ำมันตกต่ำมาก ส่งผลให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหลายประเทศมีกำลังซื้อที่ลดลง และสั่งนำเข้าสินค่าลดลง ขณะที่เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในของไทยก็ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ แต่ทิศทางแนวโน้มสินค้าเกษตรของไทยนับจากนี้จะเป็นอย่างไรนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์พิเศษ "รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร" นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ถึงมุมมอง ตลอดจนแนวทางการปรับตัวของเกษตรกร และรัฐบาลไทย ในช่วงวัฏจักรสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ

 ของล้นตลาด

รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ทิศทางสินค้าเกษตรนับจากนี้ มีแนวโน้มราคาไม่ดีอีกหลายปี เรียกว่าเป็นวัฏจักร "ซูเปอร์ไซเคิล" หากย้อนไปในรอบ 60 ปี ตอนนั้นเกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในปี 2516 ช่วงนั้นราคาน้ำมันแพงมาก หลังจากนั้นก็เกิดกรีนโซลูชัน หรือปฏิวัติเขียว มีการคิดค้นเทคโนโลยีทางด้านเพิ่มผลผลิตเกษตรก็เกิดขึ้นทั้งข้าว สาลี ข้าวโพด รวมทั้งรัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ลงทุนสร้างเขื่อน ผลผลิตก็ออกมามาก ราคาก็ร่วงมาตลอด ทุกครั้งที่ราคาตกต่ำ จะเกิดฝนแล้ง ผีซ้ำดั้มพลอยซ้ำเติมเกษตรกร

"ช่วงนั้นสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยมีคนอพยพเข้าเมืองมาก ขณะนั้นภาคอุตสาหกรรมยังไม่เจริญ แต่โชคดีที่ญี่ปุ่นมาลงทุนในช่วงหลังจึงทำให้ดูดซับแรงงานกลุ่มนี้ได้ และช่วงนั้นการสั่งให้ปิดทีวีตอน 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม และในที่สุด พล.อ.เปรมต้องยกเลิกค่าพรีเมียมข้าวในช่วงปี 2529 กว่าราคาสินค้าเกษตรจะค่อยปรับราคาขึ้นใช้เวลากว่า 10 ปี รอบนี้ก็เช่นเดียวกันไม่ใช่ 1-2 ปีแน่ เพราะของล้นตลาด"

ส่วนในปีที่แล้วเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญทั่วโลก แต่ผลผลิตข้าวโลกลดลงเพียง 1-2% ขณะที่ไทยมีสต๊อกข้าวจำนวนมากปัจจุบันมีอยู่ 13 ล้านตันเศษ ซึ่งความจริงยังมีประเทศอื่นที่มีสต๊อกมากกว่าไทย อาทิ จีนและอินเดียมีข้าวในสต๊อกมากกว่า 100 ตัน แต่ไม่กระทบเพราะทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้นำเข้า แต่ถ้าสต๊อกข้าวน้อยจะกระทบ เพราะไว้ใช้กดราคาภายในประเทศไม่ให้ราคาสูงขึ้น โดยเฉลี่ยในแต่ละปีทั่วโลกซื้อขายปีหนึ่งโดยเฉลี่ยกว่า 30 ล้านตัน

  เร่งขจัดสต๊อก "ขายเร็วขาดทุนน้อย"

คนทั่วไปก็ทราบว่าถ้าวันใดรัฐบาลขายข้าวมาในตลาดราคาจะตก แล้วรัฐบาลก็ประกาศด้วยว่าจะขายข้าว จะขายเร็วเกิดอะไรขึ้น ทุกคนก็คิดว่าหากวันนี้ซื้อราคาแพง เพราะฉะนั้นหากจะซื้อก็จะเผื่อราคาเอาไว้ หากรัฐบาลขายออกมาแล้วราคาจะถูกลง ดังนั้นราคาที่เผื่อเอาไว้เรียบร้อยแล้ว จะมีผลทำให้แนวโน้มราคาต่ำตลอด หากไม่เร่งขจัดสต๊อกข้าว โดยเฉพาะข้าวที่ไม่เหมาะกับการบริโภค เกือบๆ 5 ล้านตันเศษ ซึ่งความจริง ไม่มีรัฐบาลไหนอยากจะขายต่ำ แต่ก็กลัวว่าหากมาขายเป็นเกรดบริโภคทั่วไป แล้วคนที่ซื้อไปไม่รู้จะนำข้าวเน่าไปผสมอยู่ในข้าวถุงจะทำให้เสียชื่อแล้ว กลัวว่าจะเป็นการทำลายตลาด จึงได้วางกฎเกณฑ์ออกมาอย่างรอบคอบ ซึ่งปรากฏว่าราคาสูงจนน่าแปลกใจ เพราะราคาอย่างนี้หากไม่นำไปแยกหรือนำไปทำข้าวถุง ไม่คุ้ม แต่ถ้ากำจัด 5 ล้านตันจะเหลือ 8 ล้านตัน(จาก 13 ล้านตัน)

"วิธีการระบายข้าวในสต๊อกที่ดีที่สุด จะต้องสมติฐานหลายตัวๆ ออกมาเพื่อพิจาณาว่า วิธีไหนขาดทุนน้อยที่สุด แต่โดยหลักใหญ่วิธีที่ขาดทุนน้อยที่สุดก็คือขายเร็วยิ่งขาดทุนน้อย ขายช้ายิ่งขาดทุนมาก เพราะมีต้นทุนในการเก็บ (อาทิ ดอกเบี้ย ค่าเช่าโกดัง ค่ารมยา) ถ้าวันนี้ขายชาวนาขาดทุนเพราะราคาตก หรือรัฐบาลขาดทุนน้อยจากการรีบขาย ผมไม่ตัดสิน ต้องให้รัฐบาลเป็นคนตัดสิน หากรัฐบาลตัดสินใจบอกว่าต้นฤดูจะไม่ขายเพราะรัฐบาลไม่ใช่พ่อค้า แต่ถ้าเป็นพ่อค้าไม่สนใจเพราะจะขายในวันที่ราคาดีที่สุด นี่คือปัญหาเพราะรัฐบาลไม่ใช่พ่อค้า และบังเอิญโชคดีที่ผมไม่ใช่เป็นรัฐบาล แต่ผมจะเสนอโมเดลและคำนวณให้รัฐบาลไปโดยตั้งตุ๊กตาว่าจะขายวันนี้ได้ราคาเท่าไร หากชะลอขายออกไป 1 ปีจะขาดทุนเท่าไร คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 2 เดือน ผลลัพธ์เพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด แต่เป้าหมายกำจัดให้หมด ปิดโกดังเลิกสัญญา"

รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า มีข้อเสนอของผู้ประกอบการที่อยากจะให้รัฐบาลขายข้าวได้ราคาดี ก็คือตรวจสอบข้าวโดยการฉ่ำ(แทง)ทีละกระสอบ กระสอบไหนไม่ดีขนเข้ารถจอดอีกคัน กระสอบไหนดีจับแยกไปอีกคันหนึ่ง แล้วนำไปประมูลตามคุณภาพ แต่พอทำไปเพียง 2 ชั่วโมง กรรมกรหมดแรงแล้วก็ทิ้งเลยไม่ไหว ถ้าจะทำอย่างนี้พร้อมๆ กัน 5 จุด ก็คำนวณออกมาเลยว่าจะต้องใช้เวลากว่า 10 ปี ยังไม่นับโกดังที่ไม่มีพื้นที่ว่างในการแยกข้าว ซึ่งไม่รู้ว่าตอนไปทำสัญญาทำไปได้อย่างไร เป็นการฉ้อฉลทุจริตกันตั้งแต่ต้น ซึ่งในข้อสัญญารายละเอียดก็แจ้งแล้วว่าจะต้องมีพื้นที่ช่องว่างทางเดินเท่าไร แต่ปรากฏพอไปจริงหลังคารั่ว ข้าวกองติดประตู เปิดออกไม่ได้ ระบบนี้เป็นบทเรียนใหญ่มากของรัฐบาลไม่ต้องมายุ่ง นำข้าวมาเก็บไว้ในสต๊อกเพราะไม่มีทางกำกับควบคุมการดูแลได้ ซึ่งจะเห็นว่าทั้งเซอร์เวเยอร์(บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว) เจ้าหน้าที่และเจ้าของโกดังมีการร่วมกันทุจริตตลอดเส้นทำ ทำให้เสียรัฐเสียหายมาก และปล่อยให้เอกชนทำเซฟตี้สต๊อก เพราะไทยไม่เคยขาดแคลน ยกให้เป็นหน้าที่ของเอกชนสต๊อกข้าวเองเพื่อทำธุรกิจ และคอยดูแลไม่ให้ผูกขาดทางการค้า

  หน้าที่รัฐคือลดความเสี่ยง

สำหรับสถานการณ์วันนี้ชัดเจนชาวนาปลูกข้าวน้อยลงด้วยกลไกตลาดและธรรมชาติบังคับ ได้แก่ ไม่มีน้ำในการทำนา และ 2.ราคาตกต่ำ แต่บางคนก็ต้องเห็นใจ เพราะถ้าไม่ปลูกข้าวจะให้ทำอะไร เพราะเป็นอาชีพ ดังนั้นระยะสั้นจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และไม่ใช่ข้าวอย่างเดียวยังมี ยางพารา มันสำปะหลัง แต่ยังมีอ้อย ที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากปลูกข้าวปลูกอ้อยแทน อย่างสวนผัก ไม่เคยมีปัญหาเพราะอะไร ทั้งที่ราคาผักบางช่วงตกต่ำมาก ก็หันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนที่ได้ราคาดีกว่า เกษตรกรต้องทำตัวเป็นผู้ประกอบการต้องตัดสินใจอยู่ตลอดเวลาเพราะมีความเสี่ยง ที่สำคัญเป็นเรื่องที่จะต้องตัดสินใจเอง ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล

"ตอนราคายางพาราแพง ไปส่งเสริมปลูก พอราคาตกใครรับผิดชอบ เป็นความผิดพลาด ไม่ควรที่จะนำเงินไปส่งเสริมเท่ากับไปเติมไฟในกองเพลิง ไปเติมฟองสบู่แล้วทำให้ฟองสบู่ใหญ่ขึ้น วันนี้ฟองสบู่แตกแล้วหน้าที่ของรัฐบาล ก็คือ ลดความเสี่ยงได้ ปลูกกระจายหลายชนิด มีความรู้และหันไปปลูกวิธีที่ถูกต้องและพยายามให้มีตลาดรองรับ และให้กลไกตลาดเป็นตัวบ่งบอกและให้เกษตรกรเรียนรู้เองว่าจะปลูกอะไรคุ้มที่สุด เพระต้นทุนแต่คนไม่เท่ากัน"

รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ปัญหาของไทยมีแรงงานภาคเกษตรประมาณ 30% มากเกินไป เพราะรายได้ของภาคเกษตรเพียงแค่ 10% ของจีดีพีทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นวิธีที่จะทำให้รายได้ภาคเกษตรและแรงงานนอกภาคเกษตรมีความสมดุล 1.รัฐบาลต้องพัฒนาชนบท สร้างโรงงาน และกิจกรรมต่างๆ เพื่อดูดซับแรงงานให้ออกนอกภาคเกษตรให้มากที่สุด 2.จะต้องทำระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และต้องแก้กฎหมายผู้เช่า-ผู้ให้เช่า ให้มีความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย กว่าจะทำให้รายได้ทั้งแรงงานภาคเกษตรและในภาคเกษตรมีรายได้ใกล้เคียงกัน สหรัฐอเมริกาใช้เวลาเป็น 100 ปี ที่สำคัญสุดเวลาสินค้าเกษตรขายได้ราคาสูง เกษตรกรจะต้องออมเงินเอง ไว้ใช้ในช่วงราคาสินค้าตกต่ำจะต้องรับความเสี่ยงบ้าง

"เศรษฐกิจโลกตกต่ำจะใช้ระยะเวลานาน หากเศรษฐกิจดีขึ้น ราคาน้ำมันจะค่อยๆ ปรับตัว แต่วันนี้ซัพพลายล้น เป็นเรื่องระยะยาวที่จะทำให้ราคาสินค้าในประเทศและทั่วโลกยังคงตกต่ำอีกหลายปี วันนี้รัฐบาลมาถูกทางแล้ว ขอให้กำลังใจ "

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,125 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2559