IMF เตือน! ปัญหาหนี้ท่วมโลก

02 พ.ค. 2561 | 07:46 น.
020561-1421

รายงานล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ฉบับเดือน เม.ย. (April Fiscal Monitor) เตือนว่า ระดับหนี้สินรวมทั่วโลกได้พุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 164 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในปี 2559 นับว่าสูงเป็นประวัติการณ์ และคิดเป็นสัดส่วน 225% ของจีดีพีโลก รัฐบาลนานาประเทศจึงควรเร่งลดภาระหนี้สินและสร้างกันชนทางการคลังในช่วงเวลานี้ที่เศรษฐกิจในภาพรวมยังดีอยู่

ไอเอ็มเอฟส่งสัญญาณเตือน โดยระบุว่า ระดับหนี้สินรวมที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานี้ นับว่าสูงกว่าสถิติเดิมที่เคยมีในปี 2552 ถึง 12% ซึ่งในเวลานั้น เป็นช่วงที่ทั่วโลกประสบภาวะวิกฤติการเงิน ทั้งนี้ ภาวะหนี้ในประเทศอุตสาหกรรมนับว่าสูงเกินกว่าหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยสัดส่วนหนี้ของประเทศอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับจีดีพีรวมนั้น สูงถึง 105% ขณะที่ ประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง มีสัดส่วนหนี้เฉลี่ยประมาณ 50% ของจีดีพี ส่วนประเทศในกลุ่มรายได้น้อยนั้น สัดส่วนหนี้อยู่เหนือ 40% ของจีดีพี แม้ดูว่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ 2 กลุ่มแรก แต่ก็เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น


12994465 - 1000 baht banknotes isolated on white background

นายไวเทอร์ กาสปาร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินการคลังของไอเอ็มเอฟ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ควรจะสร้างกันชนการคลังและเร่งลดระดับหนี้สาธารณะลงมา เพื่อรับมือกับความเสี่ยงและสิ่งที่เป็นความท้าทายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต รายงานฉบับนี้ยังคาดหมายว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะ หรือ หนี้ภาครัฐต่อจีดีพี (Public Debt-to-GDP Ratio) ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม จะลดลงในช่วงสิ้นปี 2566 ยกเว้น สหรัฐอเมริกา ที่ไอเอ็มเอฟพยากรณ์ว่า จะมีสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีพุ่งสูงขึ้น โดยเพิ่มจากระดับ 108% ของจีดีพีในปี 2560 เป็น 117% ของจีดีพี ในปี 2566 เมื่อพิจารณาจากร่างงบประมาณใช้จ่ายที่ได้รับการรับรองจากสภาคองเกรสไปแล้ว ประกอบกับมาตรการลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคลและนิติบุคคล

ไอเอ็มเอฟคาดหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2561 นี้ ที่อัตรา 3.9% ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะเป็นการขยายตัวในอัตราสูงที่สุดนับจากปี 2554 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ปีนี้อาจเป็นปีที่ดีที่สุดของเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่ที่โลกได้เผชิญวิกฤติการเงิน แต่สภาวะการเติบโตที่ดีนี้ก็อาจจะสิ้นสุดลงภายใน 2-3 ปีข้างหน้า


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,361 วันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
IMF แนะรัฐดึงเงินสำรองตั้งกองทุน
“IMF” แนะดึงทุนสำรองตั้งกองทุนหารายได้ "สมคิด" บอกเป็นเรื่องอ่อนไหว ต้องศึกษาให้รอบคอบ


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว