ติงกติกาจ้างผลิตปิโตรเลียมมีรูรั่ว! สศช.-อสส. เตือนรัฐแบกความเสี่ยง

01 พ.ค. 2561 | 14:14 น.
ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดสัญญาจ้างสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ด้าน สศช. - อัยการสูงสุด รีบติงให้อุกช่องโหว่ ชี้ให้สิทธิเอกชนโอนสิทธิหลังครบ 3 ปี มีความเสี่ยง แนะตรวจร่างสัญญาให้ครบถ้วน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 พ.ค. 2561 มีมติอนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างบริการ พ.ศ... หรือ สัญญาจ้างสำรวจและผลิตตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งยกร่างโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ


apptp8-3169-a

โดยกระทรวงพลังงาน รายงานต่อ ครม. ว่า พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่7) พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 ซึ่มาตรา 53/10 วรรคสอง บัญญัติว่าให้ดำเนินการออกกฎกระทรวงแบบสัญญาจ้างบริการในแต่ละรูปแบบให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับประกอบกับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2559 และ 26 ก.ย. 2559 ให้กระทรวงพลังงานดำเนินการคัดเลือกผู้ดำเนินการในพื้นที่สัมปทานที่จะสิ้นสุดอายุโดยวิธีการเปิดให้มีการประมูลแข่งขันยื่นเสนอโดยทั่วไปเป็นการล่วงหน้าก่อนที่สัมปทานจะสิ้นอายุสัมปทานให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2560 แต่ก่อนจะเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องออกกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างบริการ

ส่วนเนื้อหาของร่างกฎกระทรวงมีทั้งหมด 25 ข้อ ประกอบด้วยบททั่วไป การกำหนดระยะเวลาและการคืนพื้นที่ แผนงาน และงบประมาณสำหรับกิจกรรมปิโตรเลียม การจัดการกิจการค่าจ้างสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและการจ่ายค่าจ้าง ฯ ซึ่งในจำนวน 25 ข้อ มีข้อท้วงติงจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในข้อ 18 ในเรื่องการโอนสิทธิ ซึ่งในกฎกระทรวงระบุว่า "ห้ามผู้รับสัญญาขาย ให้มอบ โอน จำหน่ายจ่ายโอน ก่อให้เกิดขึ้นอนุญาตให้เกิดขึ้น หรือ ยอมให้เข้ามามีอยู่ ซึ่งสิทธิใดในหลักทรัพย์แก่บุคคลใด ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิ ผลประโยชน์ และข้อผูกพันภายใต้สัญญาไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่ได้ดำเนินงานตามแผนงานและงบประมาณครบ 3 ปีแรก ได้ครบถ้วน และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี"


app-Arthit_01

ซึ่ง สศช. โดยสำนักวิเคราะห์โครงการลงทุนภาครัฐ มีข้อเสนอแนะว่า เห็นควรให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าว อย่างไรก็ตามในการพิจารณาให้ผู้รับสัญญาสามารถโอนสิทธิในหลักทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิผลประโยชน์ และข้อผูกพันภายใต้สัญญาได้ภายหลังการดำเนินงานครบ 3 ปี โดยได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตามที่กำหนดไว้ในข้อ 18 การโอนสิทธิ ซึ่ง สศช. เสนอให้ควรพิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับภาครัฐจากการโอนสิทธิของผู้รับสัญญาให้รอบคอบก่อนการอนุญาตให้โอนสิทธิด้วย

"เนื่องจากสิทธิการบริหารจัดการในรูปแบบสัญญาจ้างบริการส่วนมากจะอยู่ที่ภาครัฐ ทำให้รัฐต้องเป็นผู้บริหารความเสี่ยงมากกว่าเอกชนผู้รับจ้างตามสัญญา"


appP1-2-3162

ส่วนอีกหน่วยงานที่มีข้อเสนอแนะ คือ สำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า สัญญาจ้างบริการ เป็นสัญญารูปแบบหนึ่งที่รัฐอาจเลือกใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม โดยที่แบบสัญญาจ้างบริการนั้นจะต้องกำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขของสัญญาให้สอดคล้องกับความในหมวด 3/2 สัญญาจ้างบริการแห่ง พ.รบ.ปิโตรเลียมด้วย ดังนั้น จึงต้องพิจารณาตรวจสอบว่าร่างแบบสัญญาจ้างบริการนี้ได้กำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขแห่งสัญญาถูกต้องและครบถ้วนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวหรือไม่และดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทางออกนอกตำรา : ปิโตรเลียมในอ่าวไทย ขุมทรัพย์ข้าใครอย่าแตะ
มูบาดาลา ปิโตรเลียม มุ่งมั่นจริงจังในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน


e-book-1-503x62