‘โออีซีดี’แนะอาเซียนผนึกกำลัง ยกระดับแผนรวมตัวของภูมิภาค

27 ม.ค. 2559 | 12:30 น.
โออีซีดีแนะอาเซียนเพิ่มความพยายามในการสร้างความเข้มแข็งภายใน ด้วยการประสานความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ และขยายความร่วมมือออกสู่ด้านใหม่ๆ เพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่มาจากภายนอก

นายเคนสึเกะ ทานากะ หัวหน้าฝ่ายเอเชียของ OECD Development Centre องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การสร้างความเข้มแข็งภายในภูมิภาคนับเป็นหนทางหนึ่งในการตอบโต้กับปัญหาความต้องการจากภายนอกที่ชะลอตัวลงในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นจากจีน หรือประเทศในกลุ่มโออีซีดี

อย่างไรก็ตาม การรวมตัวกันของภูมิภาคอาเซียนยังมีความท้าทายสำคัญหลายประการ ประการแรกคือต้องมีการประสานความร่วมมือที่ดีขึ้น โดยการศึกษาของโออีซีดีพบว่าเป้าหมายภายในของแต่ละประเทศกับเป้าหมายของกลุ่มอาเซียนนั้นมีเพียงส่วนน้อยที่มีความสอดคล้องกัน นอกจากนี้ควรมีกระบวนการติดตามตรวจสอบความคืบหน้าที่ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน อีกทั้งควรขยายขอบเขตความร่วมมือระหว่างกันออกไป จากปัจจุบันที่เน้นไปที่ด้านการค้าและการลงทุนเป็นหลัก ไปสู่ด้านอื่นๆ เช่น พลังงานสะอาด ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม การขยายโอกาสข้ามชายแดนสำหรับภาคเอกชน เป็นต้น พัฒนาการเหล่านี้จะช่วยให้การรวมตัวภายในภูมิภาคมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ โออีซีดีคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนในปี 2559 ไว้ที่ 4.9% และคาดว่าในช่วง 5 ปีต่อจากนี้อาเซียนจะเติบโตได้เฉลี่ย 5.2% ต่อปี โดยมีฟิลิปปินส์และประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เป็นผู้นำขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ขณะเดียวกันโออีซีดีคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 3.1%

โออีซีดีระบุว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะเป็นหนึ่งในความเสี่ยงสำคัญต่อภูมิภาคอาเซียน ขณะที่การปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะส่งผลกระทบในระดับที่ต่ำกว่า โดยนายทานากะกล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจจีนในแง่ของการค้าและเม็ดเงินลงทุนเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่การเข้ามากระทบอย่างรุนแรงหรือ big shock ซึ่งประเทศต่างๆ จะต้องค่อยๆ ปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาทิเช่น ปรับเปลี่ยนสัดส่วนของการส่งออก เป็นต้น

ด้าน ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง มองว่าแม้ปัญหาการชะลอตัวของจีนจะส่งผลกระทบกับไทยและประเทศอาเซียน แต่ความเสี่ยงค่อนข้างจำกัดซึ่งขึ้นอยู่กับสัดส่วนการส่งออกของประเทศต่างๆ ไปยังจีน ในกรณีของประเทศไทยเองการส่งออกไปจีนก็มีแนวโน้มที่ลดลงมา เช่นเดียวกับปัจจัยเสี่ยงจากการปรับดอกเบี้ยของเฟด เชื่อว่าอาเซียนจะสามารถรับมือได้ เนื่องจากหนี้ภายนอกไม่มากและมีเงินทุนสำรองเพียงพอ แต่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนที่เกิดขึ้น

ดร. ศรพลกล่าวต่อไปว่า ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จากภายนอก สิ่งที่ไทยและอาเซียนควรทำคือสร้งความแข็งแกร่งจากภายใน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศและระดับภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น สำหรับประเทศไทยนั้นมองว่าการลงทุนจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญในเวลานี้ แต่จะต้องหาทางโน้มน้าวให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุน

ด้าน ดร. ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (สายนโยบายการเงิน) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและความผันผวนของตลาดการเงินว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจที่แท้จริง และกระทบต่อเนื่องมายังอาเซียนอย่างไร ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานกว่าในอดีตที่ผ่านมาซึ่งจะกระทบกับแนวโน้มเงินเฟ้อและนโยบายการเงิน ตลอดจนความเสี่ยงจากทิศทางนโยบายการเงินที่สวนทางระหว่างสหรัฐฯ ที่เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยและประเทศอื่นๆ ที่ยังใช้นโยบายแบบผ่อนคลาย ซึ่งจะนำมาซึ่งความผันผวน

นอกจากนี้ ธปท.ยังแสดงความกังวลต่อความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจกระทบภาคการท่องเที่ยว และหนี้สินของภาคบริษัทที่มีความเสี่ยงจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและการอ่อนค่าของเงินบาท ทั้งนี้ ดร. ชญาวดีแนะนำให้อาเซียนเพิ่มการค้าภายในภูมิภาคเพื่อช่วยแก้ปัญหาการส่งออกที่อ่อนแอ โดยปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศอาเซียนยังทำได้ไม่เต็มศักยภาพ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,125 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2559