ไทยพาณิชย์ขยับตัวสู่‘อีโคซิสเต็ม’ ใช้เงิน 1-1.5% ของกำไรลงทุน

27 ม.ค. 2559 | 10:30 น.
ไทยพาณิชย์ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิตอลล โฟกัสสร้างฐานลูกค้า 3 กลุ่ม " เอสเอ็มอี ธุรกิจเวลธ์ และลูกค้าระดับกลางของธุรกิจรายใหญ่ เผยอยู่ระหว่างขออนุญาตธปท.ตั้งบริษัททั้งสร้างห้องแล็บและเวนเจอร์แคปลงทุนกลุ่มสตาร์ตอัพ ขณะที่ปี 59 มุ่งโฟกัสการสร้างประสบการณ์ใหม่และบริหารความเสี่ยง-เพิ่มขีดความสามารถในการเป็นธนาคารชั้นแนวหน้า

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)(บมจ.) (SCB) เปิดเผยว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มองปัจจัยภายนอกเป็นความน่ากลัว ประกอบกับทิศทางภัยแล้งภายในประเทศเหล่านี้ธนาคารจึงต้องเตรียมความพร้อมให้ตัวเอง โดยในเชิงการทำธุรกิจนั้นแบ่งเป็นแผนระยะสั้นและสร้างธุรกิจระยะยาว โดยปีนี้เตรียมพร้อมถ้าเกิดวิกฤติจากภาวะเศรษฐกิจต้องมีภูมิคุ้มกันหรือ Buffer ที่เพียงพอ รวมถึงการทำงานใกล้ชิดกับลูกค้าโดยมีทีมงานแนวหน้าทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือธุรกิจรายใหญ่ หรือรายย่อยก็ตาม

ขณะเดียวกันธนาคารต้องมั่นใจว่าจะบริหารความเสี่ยงให้กับลูกค้าทุกด้านภายใต้ตลาดทุนและตลาดเงินที่ผันผวน คือ การบริหารความเสี่ยงจึงไม่ใช่เพียงเรื่องเครดิตเท่านั้น แต่หมายถึงทุกด้าน โดยเฉพาะ Market Risk ทั้งจากอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ย และรวมทั้งบริหารความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการหรือ Operational Risk ที่สมเหตุสมผลโดยไม่เน้นเร่งการเติบโตแต่จะให้น้ำหนักกับเรื่องความเสี่ยงเป็นพิเศษ เราตัดสินใจเตรียมความพร้อมจากแพลตฟอร์มเดิม แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนธุรกิจแบ่งเป็น 3 กลุ่มลูกค้าคือ กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี เวลธ์และกลุ่มลูกค้าระดับกลางของธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งเป็น 3 กลุ่มหลักที่ต้องสร้างธุรกิจด้วยการเพิ่มฐานลูกค้าจากปัจจุบันอาจจะมีน้อยเกินไปหรือกระจุกตัวในบางกลุ่มย่อย และเรื่องการสร้างแบงก์ คือ การปรับกระบวนการทำงาน/ วิธีการทั้งภายในแบงก์และการให้บริการกับลูกค้า เป็นการทรานส์ฟอร์มแบงก์ และการใช้เทคโนโลยีทั้งเพิ่มขีดความสามารถของแบงก์ในการสร้างประสบการณ์และตอบโจทย์ลูกค้า ฉะนั้นการลงทุนและสร้างแบงก์จึงเป็นแผนระยะยาวของไทยพาณิชย์"

นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยพาณิชย์อยู่ระหว่างขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จัดตั้งบริษัทเกี่ยวกับดิจิตอลหรือซอฟต์แวร์ โดยใช้เงินลงทุนจากำไรสุทธิ 1-1.5% ของกำไร(ซึ่งจะประเดิมจากกำไรสุทธิของปีก่อน)เป็นการลงทุนสร้างห้องแล็บดิจิตอล และอีกประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อเป็นกองทุนเวนเจอร์แคปิตอลลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพ อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์หลักของบริษัทดังกล่าวนั้น เพื่อให้ธนาคารไทยพาณิชย์เข้าไปอยู่ในระบบเทคโนโลยีและมีพันธมิตรธุรกิจใหม่ที่ธนาคารไม่เคยทำมาก่อน

" เบื้องต้นผมจะเป็นประธานบริษัท และมีคุณธนา เธียรอัจริยะ อดีตผู้บริหารดีแทคเข้ามาช่วยสร้างห้องแล็บและเวนเจอร์แคปที่จะไปลงทุนในสตาร์ตอัพ นอกจากดิจิตอลแล้วอาจเป็นการลงทุนในรูปแบบอื่นโดยกระจายการลงทุน รวมทั้งจะเข้าร่วมกับพันธมิตรเพิ่มเติมเพื่อพาตัวเองเข้าไปอยู่ในเครือข่ายธุรกิจอีโคซิสเต็มในพื้นที่ที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น LINE แต่ที่สำคัญเรามุ่งสร้างองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยวัฒนธรรมการทำงานที่มีคุณธรรม"

ขณะที่นายญนน์ โภคทรัพย์กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปี 2559 ไทยพาณิชย์จะโฟกัสเรื่องการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าโดยเฉพาะเรื่องการบริหารความเสี่ยงและขีดความสามารถในการให้บริการรวมทั้งการลงทุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้าดิจิตอล 7.9 ล้านคนแล้ว ที่สำคัญ ไทยพาณิชย์มีต้นทุนต่อรายได้ตํ่ามากเพียง 37% จึงมีรูมที่จะลงทุนมหาศาล ขณะที่ผ่านมาธนาคารมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยมีฐานการเงินแข็งแกร่ง ส่วนเรื่องการลงทุนนั้นวิธีการลงทุนแบบใหม่จะมีค่าใช้จ่ายคนละแบบเพราะการลงทุนมีหลากหลายรูปแบบซึ่งพันธมิตรอาจเป็นฝ่ายลงทุนแทนธนาคารถ้าประสบความสำเร็จจึงแบ่งกำไรกันเป็นต้น

"สำหรับแผนธุรกิจ SCB –Next 2563 นั้นมุ่งเน้นใน 3 เรื่องคือ การสร้างประสบการณ์ใหม่กับลูกค้า,การบริหารจัดการที่ดี ภายใต้ Business Model ใหม่แต่ละเซ็กเมนต์ และมีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ สำหรับปีนี้ถ้าจีดีพีของไทยอยู่ที่ระดับ 3% (บวกลบ)สินเชื่อของแบงก์จะเติบโต 4-6% โดยหากเป้าสินเชื่อเติบโตที่ 4% เราต้องมีสินเชื่อสุทธิเข้ามา 8 หมื่นล้านบาทเพราะระหว่างทางจะมีการชำระเงินกู้คืนด้วยจากปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งการจะหาลูกค้าใหม่เข้ามาต้องผ่านการคัดเฟ้น เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าใหม่ที่เข้ามาจะไม่ทำให้เกิดหนี้เสีย เช่น 2 ปีที่ผ่านมาถ้าสังเกตเห็นเราจะไม่บุกคอร์ปอเรตและเอสเอ็มอี ส่วนหนี้เอ็นพีแอลตั้งเป้าปรับลดเหลือ 2.5% จาก 2.89%"

ทั้งนี้ ปี 2558 ไทยพาณิชย์มีรายได้มิใช่ดอกเบี้ยสัดส่วน 40% ของรายได้รวม เป็นผลมาจากกำไรจำนวนมากจากการขายเงินลงทุนตราสารทุน รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยคิดเป็น25% ของรายได้รวมโดยกลุ่มลูกค้าบุคคลมีสัดส่วน 73% ของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยซึ่งเพิ่มเพิ่มขึ้นจาก 72%ในปี 2557 ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ลดลงจาก 19% เป็น 18% สัดส่วนของกลุ่มเอสเอ็มอีทรงตัวที่ 8%โดยปี 2558 ธนาคารยังคงดำเนินการตามกลยุทธ์ในการเพิ่มสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมที่มาจากธุรกิจรายใหญ่และเอสเอ็มอีซึ่งระยะปานกลางจะส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารมีสัดส่วนสูงขึ้น ทั้งนี้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่ม 2.1%

ขณะที่ เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 3.2% มาจากสินชื่อบุคคลเพิ่ม 6.7% (สินเชื่อเคหะเพิ่ม 8.7% เช่าซื้อทรงตัวจากปีก่อนแต่เพิ่ม 1.8% จากไตรมาสก่อนซึ่งธนาคารมุ่งเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรถแลกเงิน) สินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่ม 4.8% สัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝาก 97% โดยเงินรับฝากลด 0.2% จากกลยุทธ์ในการลดต้นทุนด้วยการเพิ่มสัดส่วนเงินฝากที่มีต้นทุนต่ำส่งผลให้สิ้นปี 2558 เงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันเพิ่มเป็น 62 %

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,125 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2559