สนข.ผนึกJICA ศึกษาทิศทางนโยบายแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะ 2จ่อชงปีนี้

30 เม.ย. 2561 | 09:05 น.
สนข.จับมือ JICA ศึกษาและเตรียมเสนอทิศทางนโยบายการจัดทำแผนแม่บทรถไฟฟ้า ระยะ 2 (M-MAP 2) ภายในปีนี้

วันนี้ (30 เม.ย. 61) -สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ร่วมกันจัดการสัมมนา “The Blueprint for the 2nd Bangkok Mass Rapid Transit Master Plan (M-MAP 2)” เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ทิศทางนโยบายการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2)

ในโอกาสนี้ นายชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้ โดยมีตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบราง ทั้งจากประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมการสัมมนา จำนวนกว่า 200 คน

jica1

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินงานตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 1 มาระยะหนึ่งแล้วนั้น ทำให้บริบทของการพัฒนาเมืองเปลี่ยนไปจากเดิมเนื่องจากมีการขยายตัวของเขตเมือง การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอย่างต่อเนื่องที่ก่อให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดอย่างมาก และการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น แผนแม่บทฯ ระยะที่ 2 จึงเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของโครงข่ายหลักตามแผนฯ ระยะที่ 1 และเพิ่มเติมโครงข่ายให้ครอบคลุมและทั่วถึงในพื้นที่ที่มีความจำเป็น รวมทั้งสอดรับกับการขยายตัวของเมืองในปัจจุบันและอนาคต สำหรับการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพื่อให้แผน M-MAP2 มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นายชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า รถไฟฟ้าในเมืองมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเนื่องจากการเพิ่มจำนวนประชากรของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดังนั้นจึงยินดีที่มีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ระยะที่ 1 (M-MAP 1) ซึ่งรัฐบาลไทยได้รับการออกแบบร่วมกับ JICA ในปี 2553 เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นยังกล่าวต่อว่าที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องนั้นจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าให้มากขึ้น และลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ ทางญี่ปุ่นพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟได้อย่างง่ายดาย และเปลี่ยนถ่ายการเดินทางไปยังระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆได้สะดวกมากขึ้น สำหรับทุกคนรวมทั้งผู้สูงอายุ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถตระหนักถึงสังคมเพื่อคนทั้งมวล (Inclusive Society)

jica

ส่วนของการจัดทำแผนแม่บทขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2) นั้น องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้ร่วมสนับสนุนดำเนินการทบทวนศึกษาและเสนอทิศทางนโยบายการจัดทำแผนแม่บทฯ ระยะ 2 ให้กับ สนข. เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตและรองรับทิศทางการพัฒนาเมืองในอนาคต โดยได้เริ่มดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 80 แล้ว สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ได้นำเสนอ สาระสำคัญเกี่ยวกับทิศทางนโยบายและมาตรการสำคัญในการพัฒนาแผนแม่บท M-MAP 2 ดังนี้

1. เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
1.1 เพิ่มความสามารถในการรองรับการคมนาคมขนส่งของระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบันให้สูงขึ้น เช่น การเพิ่มขบวนรถไฟฟ้า และความถี่ในการให้บริการ เป็นต้น
1.2 ขับเคลื่อนให้มีการดำเนินการตามแผนระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 1 (M-MAP)
1.3 เพิ่มโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองที่ยังไม่มีโครงข่าย
1.4 ส่งเสริมให้มีรูปแบบการขนส่งสาธารณะต่อเนื่องหลายรูปแบบ

jica2

2. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาโครงข่ายรถไฟในภาพรวมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
2.1 พัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ที่มีความต้องการการเดินทางสูงแต่โครงข่ายยังเข้าไม่ถึง
2.2 พัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างศูนย์กลางเมืองและเมืองรอง
2.3 ส่งเสริมให้มีการใช้โครงข่ายรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน โดยให้มีการเชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน
2.4 ส่งเสริมให้มีสถานีขนส่งสำหรับเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างศูนย์กลางเมืองและเมืองรอง รวมทั้งมีการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีโดยรอบ

3. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงสถานี
3.1 การพัฒนาจุดเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการเดินทาง (Inter-modal facilities)
3.2 เพิ่มความสะดวก และความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ
3.3 บูรณาการการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี

jica3

4. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
4.1 ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางได้อย่างสะดวก
4.2 นโยบายด้านอัตราค่าโดยสารที่ดึงดูดผู้ใช้บริการและเงินสวัสดิการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจากนายจ้างประจำ
4.3 นโยบายด้านความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวก
4.4 ความรวดเร็วในการเดินทางและการแก้ไขปัญหา
4.5 จัดให้มีขบวนรถไฟชั้นธุรกิจ

5.เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสนามบิน (Global gateways)
5.1 การจัดเตรียมแนวเส้นทางที่เหมาะสมในการเดินทางเข้าสู่สนามบิน
5.2 ลดระยะเวลาในการเดินทางไปสนามบิน เช่น จัดให้มีรถไฟขบวนด่วนพิเศษ เป็นต้น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

การสัมมนาครั้งนี้ยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "ประเด็นสำคัญในการพิจารณาการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง" โดยศาสตราจารย์ ดร. Shigeru Morichi จาก National Graduate Institute of Policy Studies (GRIPS) โดย ดร. Morishi เน้นประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง รวมทั้งการเข้าถึงสถานี และการปรับพฤติกรรมของประชาชนให้เปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น นอกจากนี้ตัวแทนจาก หน่วยงานราชการของไทย ประกอบด้วย สนข. รฟม. รฟท. ยังได้ร่วมกันอภิปรายกับ ศาสตราจารย์ ดร. Morichi และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (MLIT) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดทำ M-MAP 2 อีกด้วย โดยภายหลังการสัมมนาฯ ทาง สนข. และ JICA จะรวบรวมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปปรับปรุงทิศทางนโยบายการจัดทำแผน M-MAP2 ที่มีกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2561 นี้

e-book-1-503x62