เงินบาทขยับแข็งค่า 31.48 บาทต่อดอลลาร์ฯตามแรงเทขายทำกำไรค่าเงิน

30 เม.ย. 2561 | 03:46 น.
เงินบาท 30 เม.ย.61 ขยับแข็งค่า 31.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังตลาดเทขายทำกำไรค่าเงิน-สกุลเงินภูมิภาคอ่อนค่า ลุ้นตัวเลขเศรษฐกิจประเทศหลัก มองกรอบ 31.40-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นจาก 31.59 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยดัชนีดอลลาร์แกว่งตัวลดลงจากระดับ 91.70 สู่ระดับ 91.30 จุด หลังตลาดมีการขายทำกำไรค่าเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีเกินคาด และการอ่อนค่าของค่าเงินสกุลอื่น อาทิ ค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าหนัก หลังตลาดผิดหวังกับตัวเลขการขยายตัวจีดีพีในไตรมาสแรกของปี

สำหรับสัปดาห์นี้มีตัวเลขเศรษฐกิจ ที่น่าสนใจดังนี้ เริ่มจากวันจันทร์ นักวิเคราะห์ประเมินว่า ดัชนีชี้วัดอัตราเงินเฟ้อซึ่งเฟดนิยมใช้ อย่าง Core PCE YoY จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 1.6% แตะระดับ 2% และมีโอกาสช่วยหนุนการขึ้นดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้งของเฟดในปีนี้ นอกจากนี้ ตลาดจะให้ความสนใจตัวเลขรายจ่ายส่วนบุคคล (Personal spending MoM) คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะสามารถขยายตัวได้ 0.4% จากเดือนก่อนหน้า และสะท้อนถึงแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนสหรัฐฯได้ วันอังคาร ตลาดจะจับตาดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ (ISM Manufacturing PMI) ซึ่งมีโอกาสที่ดัชนีจะสะท้อนถึงการชะลอตัวลงบ้างของภาคอุตสาหกรรม จากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

tmb

ส่วนตลาดการเงินไทย จะจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ (CPI YoY) ซึ่งคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% วันพุธ ตลาดจะจับตาตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 1 โดยถ้าหากเศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ดีต่อ (+2.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน) จะช่วยหนุนโอกาสการปรับลดหรือยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในปีนี้ วันพฤหัสบดี แม้ว่าเฟดจะมีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.5%-1.75% ต่อ ทว่า ตลาดจะจับตารายงานผลการประชุมเพื่อหาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ และการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซน (CPI YoY) มีโอกาสกระทบค่าเงินยูโรได้ หากเงินเฟ้อออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.3% และในวันศุกร์ ตลาดจะจับตาตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm payrolls) และที่สำคัญตลาดจะจับตาอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ (Average hourly earnings) ว่าจะสามารถเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าได้เกิน 0.2% หรือไม่ ซึ่งตลาดแรงที่ตึงตัวและรายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะช่วยหนุนภาพรวม เศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 2 ครั้งได้ (รวมขึ้นดอกเบี้ยทั้งปี เกิน 3ครั้ง)

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในกรอบ 31.15-31.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้สัปดาห์หน้า เนื่องจากตลาดอาจจะเริ่มเทขายทำกำไรค่าเงินดอลลาร์บ้าง รวมทั้งตลาดจะรอลุ้นตัวเลขเศรษฐกิจในหลายประเทศหลัก โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางยุโรป และเฟด ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน และกระทบตลาดการเงินได้ อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทอาจจะไม่อ่อนค่าไปได้มาก เนื่องจากผู้ส่งออกจำนวนมากอาจจะรอขายดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.50-31.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ สำหรับวันนี้มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 31.40-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว