แบงก์ลุยปล่อยกู้ 'รถไฟความเร็วสูง'!!

29 เม.ย. 2561 | 13:36 น.
290461-2018 appMAP-3193

แบงก์ประกาศพร้อมปล่อยกู้! ออกแบงก์การันตี เอกชนประมูลไฮสปีดเทรน 2.2 แสนล้านบาท มั่นใจไม่กระทบสภาพคล่อง ... ไทยพาณิชย์ เผย ลูกค้าหลายรายแสดงความสนใจ ... ทีเอ็มบีชี้! เมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ ดันอานิสงส์หนังสือค้ำประกันโต

น.ส.วิศาลศรี นิโลดม รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า
ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาการปล่อยกู้โครงการรถไฟความเร็วสูง วงเงินลงทุนรวม 2.24 แสนล้านบาท เพราะเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล เชื่อว่าทุกธนาคารก็กำลังจับตาดูอยู่เช่นกัน แต่ขณะนี้ ยังไม่มีรายละเอียดออกมาเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน แต่ก็ถือว่า เป็นเรื่องดีที่มีการประกาศความชัดเจนในการเดินหน้าโครงการ เพราะจะเป็นใบเบิกทางต่อการลงทุนของภาคเอกชน


Bank-PNG-File-1

ส่วนความกังวลในเรื่องของสภาพคล่องที่จะรองรับโครงการขนาดใหญ่นั้น ธนาคารมองว่า ปัจจุบัน สภาพคล่องในระบบมีอยู่ค่อนข้างสูง และโครงการลงทุนที่ออกมา ก็ไม่ได้ออกมาพร้อมกันทีเดียวในวงเงินก้อนใหญ่ แต่จะออกมาเป็นเฟส ๆ และทยอยทำเป็นโครงการ ๆ หากเป็นโครงการวงเงินลงทุนสูง ก็จะเป็นโครงการที่หลายธนาคารให้ความร่วมมือปล่อยกู้แบบ Syndicated Loan ไม่ได้รับแค่ 1-2 ธนาคาร จึงไม่น่ามีปัญหาในเรื่องของสภาพคล่อง

"เรากำลังดูอยู่ แต่ยังไม่ได้เคาะ แต่เชื่อว่าแบงก์อื่นก็จับตาเช่นกัน เพราะเป็นโครงการใหญ่และเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทุกคนให้ความสนใจ แต่จะมีส่วนร่วมยังไง อาจจะต้องรอรายละเอียดให้ออกมาชัดเจนมากกว่านี้ก่อน"

 

[caption id="attachment_277904" align="aligncenter" width="298"] วศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Multi-Corporate Segment และผู้บริหารสูงสุด Corporate Segment ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วศิน ไสยวรรณ
รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Multi-Corporate Segment และผู้บริหารสูงสุด Corporate Segment ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Multi-Corporate Segment และผู้บริหารสูงสุด Corporate Segment ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทต่าง ๆ ให้ความสนใจโครงการดังกล่าวจำนวนมาก ส่วนจะมีลูกค้าเข้ามากี่รายและเงื่อนไขการปล่อยกู้ ระยะเวลาโครงการ หรือ อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่เท่าไรนั้น ตอนนี้ยังต้องรอเงื่อนไขของ TOR ก่อน คาดว่าจะออกมาภายในเดือน พ.ค. นี้ ขณะนี้มีลูกค้าหลายรายแสดงความสนใจ และธนาคารไทยพาณิชย์เอง ก็พร้อมปล่อยสินเชื่อหรือสนับสนุนลูกค้าเข้าร่วมโครงการนี้อยู่แล้ว

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ยังเร็วไปที่จะให้คำตอบเกี่ยวกับการออกแบงก์การันตีในโครงการไฮสปีดเทรน เพราะต้องรอดูรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ทีโออาร์ หรือ ลักษณะของการประมูล หรือ จะแบ่งเส้นทางกันอย่างไร แต่กรุงไทยยังให้น้ำหนักเป็นอันดับ 1 เกี่ยวกับการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็เป็นฐานลูกค้าของกรุงไทย ไม่ว่าจะเป็น ทางด่วน หรือ มอเตอร์เวย์


appMAP-3191

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ บมจ.ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า ธนาคารพร้อมเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อให้กับเอกชนที่จะเข้าประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อย่างเต็มที่ เพราะเป็นโครงการที่น่าสนใจ ซึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าภาครัฐประกาศลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเริ่มมีโครงการบางโปรเจ็กต์ทยอยออกมา ทำให้ความต้องการหนังสือค้ำประกันก็เติบโตไปตามปริมาณธุรกรรมการลงทุน ส่วนสภาพคล่องของธนาคาร หรือ ของระบบสถาบันการเงิน ขณะนี้ ไม่มีปัญหา ยังคงมีเพียงพอต่อการปล่อยกู้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีที่จะร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองนั้น ยังอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียด แต่ยังไม่สรุป ส่วนการร่วมกับ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) นั้น ได้ร่วมกันมาตั้งแต่รถไฟสายสีชมพูและสายสีเหลืองแล้ว รถไฟความเร็วสูงโครงการนี้ก็เช่นกัน


1459866106193

การเจรจากับพันธมิตรบีทีเอส ไม่ได้เจาะจงกับ ปตท. เท่านั้น ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับอีกหลายราย เนื่องจากโครงการดังกล่าวนี้มีมูลค่าโครงการสูงมาก จึงต้องระดมหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่วนกรณี ปตท. นั้น เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพ เนื่องจาก ปตท. มีโครงการทางธุรกิจรูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกจำนวนมาก จึงน่าจะมีประชากรจำนวนมากในแต่ละสาขาธุรกิจ

"ประการสำคัญ ปตท. ยังมีเงินลงทุนจำนวนมาก อีกทั้งมีบุคลากรที่มีคุณภาพ คงจะนำเข้ามาช่วยงานได้ดี ยืนยันว่าการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องการการยื่นซองยังมีระยะเวลาอีกราว 4-5 เดือน จึงยังมีระยะเวลาการเจรจาและตัดสินใจร่วมกัน เช่นเดียวกับงานระบบอาณัติสัญญาณที่มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ก็จะต้องเจรจากับอีกหลายราย จึงจะต้องดูเรื่องข้อเสนอว่า รายไหนให้ข้อเสนอที่ดีกว่า ก่อนที่จะยื่นซองเอกสารประกวดราคาตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียดของเอกสารประกวดราคา"


GP-3361_180429_0009

สำหรับกลุ่มทุนที่สนใจเข้าประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่เริ่มมีความชัดเจนในขณะนี้ มี 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ได้แก่ การร่วมมือกันระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), BTS, บริษัท ซิโน-ไทยฯ และบริษัท ราชบุรีโฮลดิ้งฯ กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มซีพี ร่วมกับ บริษัท ไชน่า เซาเธิร์น เรลเวย์ฯ จากประเทศจีน และกลุ่ม ITOCHU จากประเทศญี่ปุ่น กลุ่มสุดท้าย คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ หรือ BEM ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,361 วันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. 2561 หน้า 01+15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เร่งผลิตช่าง 7.5 หมื่นคน! ป้อนรถไฟความเร็วสูง
ทุนไทย-เทศ240ราย ตบเท้าร่วม‘มาร์เก็ตซาวดิ้ง’รถไฟความเร็วสูง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว