'สมคิด' เร่งไฮสปีดเฟส 2! ร.ฟ.ท. ขอ 200 ล้าน ศึกษาอู่ตะเภาต่อขยายถึงตราด ก่อสร้างปี 63

29 เม.ย. 2561 | 11:09 น.
290461-1759

ร.ฟ.ท. จ่อชง ครม. ไฟเขียวงบกลางปีนี้ 200 ล้านบาท ใช้ศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 อู่ตะเภา-ตราด หลัง 'สมคิด' จี้ให้ปรับแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีให้เร็วขึ้น วางกรอบก่อสร้างเสร็จปี 2567

เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะผลักดันการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) อีก 1 โครงการ หลังจากที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร จะออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจ (ทีโออาร์) มาร่วมลงทุนในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (พีพีพี) ในเดือน พ.ค. 2561 นี้ เพื่อจะได้เริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้าและแล้วเสร็จในปี 2566


GP-3361_180429_0013

จากความคืบหน้าดังกล่าว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ไปดำเนินการปรับแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่อีอีซี ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ให้มีการดำเนินงานเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนขยายของโครงการรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร จากที่กำหนดเป็นแผนระยะกลาง (ปี 2562-2564) ให้ปรับแผนการดำเนินงานเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้การก่อสร้างดำเนินงานได้ภายในปี 2563 และแล้วเสร็จในปี 2567

นายจุลเทพ จิตะสมบัติ วิศวกรอำนวยการศูนย์โครงการปรับปรุงทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ดังกล่าว อยู่ระหว่างนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติงบกลางปี 2561 วงเงิน 200 ล้านบาท นำมาศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการ ซึ่งถือเป็นการปรับแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีเร็วขึ้น จากเดิมที่กำหนดแผนไว้เป็นระยะกลาง หรือ ต้องเริ่มดำเนินการในปีหน้า เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้โครงการเกิดความต่อเนื่องและครอบคลุมนอกพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง และลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน และทำให้โครงการเกิดประโยชน์สูงสุด


TP12-3296-C-1

ทั้งนี้ คาดว่างบดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาจัดสรรได้ในเร็ว ๆ นี้ และหลังจากนั้นจะจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาต่อไป คาดว่าจะใช้ระยะเวลากว่า 1 ปี ส่วนเงินลงทุนในส่วนของค่าก่อสร้างงานโยธาและงานวางราง น่าจะใกล้เคียงกับระยะแรกที่ประมาณ 1.13 แสนล้านบาท เพราะมีระยะทางที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งตั้งเป้าหมายจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563 และแล้วเสร็จในปี 2567 ช้ากว่าระยะแรก 1 ปี ที่เสร็จในปี 2566

"แต่เดิมทางคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ต้องการให้ระยะแรกก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไปถึง จ.ระยอง ซึ่งต้องผ่านนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาบตาพุด เป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม จะทำให้เกิดความล่าช้า จึงตัดบางส่วนของโครงการ สิ้นสุดที่อู่ตะเภา เพื่อให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว และเพื่อให้มีเวลาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในส่วนที่จะขายต่อไปได้"


apprayong

ดังนั้น เมื่อโครงการระยะแรกเดินหน้าก่อสร้าง ก็จะควบคู่กับการศึกษาในระยะที่ 2 และหลังจากนั้น จะควบคู่การก่อสร้างกันไปทั้ง 2 โครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเอกชนรายเดิมที่ประมูลได้ในระยะที่ 1 เนื่องจาก กนศ. ได้เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในระยะแรก สามารถต่อขยายเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟความเร็วสูงอื่นได้ รวมถึง ร.ฟ.ม. ไปหาข้อตกลงกับเอกชนให้ระบบอาณัติสัญญาณของโครงการ สามารถเชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงอื่นได้ด้วย

สำหรับระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการระยะแรกนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับภาครัฐและประหยัดงบประมาณ จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง ร.ฟ.ท. และเอกชนในระยะเวลา 50 ปี หรือมีระยะเวลาดำเนินการโครงการและงานบำรุงรักษา 45 ปี


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,361 วันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. 2561 หน้า 11
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ปตท.ผนึก BTS ประมูลไฮสปีดเทรน
'สมคิด' ลั่น! ไทยร่วมมือ 'อาลีบาบา' เป็นประโยชน์ต่อ SMEs-เกษตรกร


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว