ชงตั้ง 'กองทุนที่อยู่อาศัย' ช่วยผู้มีรายได้น้อยมีบ้าน

28 เม.ย. 2561 | 13:59 น.
ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ชี้! แนวโน้มที่ดินกรุงเทพฯ-ปริมณฑลพุ่ง รับโครงข่ายคมนาคม ทำผู้มีรายได้น้อยหาบ้านอยู่ยาก ชู 'กองทุนที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย' เอกชน-รัฐร่วมลงทุนแก้ คาดทั้งปีสินเชื่อบ้านโต 6%

นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ระบุว่า สภาพเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมของภาครัฐในปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย ครอบคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งส่งผลให้ราคาที่ดินบนทำเลที่รถไฟฟ้าตัดผ่าน ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก จนกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย จำเป็นต้องหาที่อยู่อาศัยที่ห่างไกลออกไปอีก หรือ ต้องอยู่ในชุมชนแออัด เนื่องจากไม่มีกำลังซื้อที่มากพอกับโครงการที่อยู่อาศัยที่มีราคาแพงตามราคาที่ดิน


appMP33-3173-X

ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องหาวิธี ทำให้ราคาของที่อยู่อาศัยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามความเหมาะสม ด้วยการสนับสนุนให้จัดตั้ง 'กองทุนที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย' เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งขณะนี้ เริ่มมีความเป็นไปได้ โดยมีการพูดคุยกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและกำหนดเป็นแนวนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติแล้ว ซึ่งจะผลักดันให้ภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยโดยตรง หากไม่ทำก็ต้องใส่เงินให้กับกองทุนแทน ทั้งนี้ สิ่งที่ภาครัฐต้องแก้ไข เช่น การปรับผังเมือง หรือ เพิ่มโบนัส เอฟเออาร์ให้กับโครงการ เพื่อจะทำให้ราคาโครงการลดลง 40-50% จากราคาปกติ

โดยเงินในกองทุนดังกล่าว รัฐและการเคหะแห่งชาติจะมีหน้าที่ในการนำไปใช้ประโยชน์ พัฒนาโครงการเพื่อรองรับความต้องการ นอกจากนี้ ยังจัดทำโครงการ ‘โบนัส การออม’ เพื่อเปิดช่องให้กลุ่มคนที่ออมเงินเป็นประจำเป็นเวลา 2 ปี ในจำนวนใกล้เคียงกับเงินที่จะใช้ในการผ่อนบ้าน หรือ ที่อยู่อาศัยอื่น ๆ ซึ่งกองทุนดังกล่าวก็จะนำเงินโบนัสในส่วนนั้น มาตัดทอนสัดส่วนการชำระต่อเดือนให้น้อยลง เป็นการช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย ได้มีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพและไม่ห่างไกลจากเมืองมากนัก

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

"เช่น ราคาบ้าน 1 ล้านบาท ผู้กู้มีเงินออมในบัญชีรวม 1 แสนบาท ผู้กู้จะได้รับโบนัสก่อนกู้ในสัดส่วน 5 หมื่นบาท รวมยอดเงินดาวน์ 1.5 แสนบาท ฉะนั้น จะเหลือส่วนที่ต้องกู้เพียง 8.5 แสนบาท ตกมีการชำระต่องวดเพียง 5,100 บาทต่อเดือนเท่านั้น จากปกติ 1.2 หมื่นบาท ซึ่งเรื่องนี้จะต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในตลาดอสังหาฯ ด้วย หากกรณีไม่มีการจัดทำโครงการรองรับตามนโยบาย ก็ให้ผู้ประกอบการรายนั้น ๆ เปลี่ยนเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนแทนได้เช่นกัน" นายกิตติ กล่าว
นายกิตติ ยังระบุว่า หากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและไทยขยายตัวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แนวโน้มของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2561 นั้น น่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่แล้วในระดับ 6% เพิ่มขึ้นประมาณ 2 แสนล้านบาท จาก 3.5 ล้านล้านบาท ในปี 2560 ส่วนปัจจัยที่ยังน่ากังวล คือ ราคาที่ดินที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะเป็นส่วนสนับสนุนหลัก คือ การลงทุนสาธารณูปโภคของภาครัฐ, การขยายตัวของภาคส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยเรื่องหนี้เสียในระบบ นายกิตติ ระบุ ไม่น่าจะมีผลมากนักต่อตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากสถาบันการเงินค่อนข้างมีความรอบคอบในการปล่อยสินเชื่อ และปัจจุบัน มีข้อมูลที่เป็นฐานบ่งบอกรายละเอียดแต่ละส่วนย่อยอย่างชัดเจน ทำให้มีการคัดกรองผู้กู้ก่อนปล่อยสินเชื่อได้อย่างแม่นยำ หลังจากพบมียอดหนี้สินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน ณ ปัจจุบัน เพียง 2% ไม่ถึง 3% ของยอดหนี้ทั้งหมด


logoks2

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2561 เติบโตในช่วง 6-7% มูลค่า 3.65-3.68 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อเพื่อการซื้อบ้าน หรือ ที่ดินพร้อมบ้านสูงที่สุด มากกว่า 64%


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,353 วันที่ 1-4 เม.ย. 2561 หน้า 29-30
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คลอดร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญฯ! ส่งเงินสะสมสมทบกองทุนร้อยละ 30 ของเงินเดือน
รัฐเตรียมมาตรการคุ้มครองผู้เช่าที่อยู่อาศัยกม.ใหม่คุมสัญญาเช่าประกาศใช้ 1 พ.ค.


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว