พาณิชย์ใช้เวทีWTOเรียกร้องเวียดนามยกเลิกมาตรการคุมการนำเข้ารถยนต์

27 เม.ย. 2561 | 06:48 น.
พาณิชย์ ใช้เวทีคณะกรรมการอุปสรรคทางการค้าของ WTO เรียกร้องให้เวียดนามยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  เผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า หรือ Technical Barriers to Trade (TBT) Committee ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไทยได้ร่วมกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เรียกร้องให้เวียดนามยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ และร่วมกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย โคลอมเบีย เรียกร้องให้สหภาพยุโรปทบทวนนโยบายที่จะยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันปาล์ม

จากการที่เวียดนามออกระเบียบ Decree 116/2017 บังคับใช้มาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 โดยกำหนดให้รถยนต์ที่นำเข้าทุกล๊อตต้องตรวจสอบมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่เข้มงวดกว่ารถยนต์ที่ผลิตในเวียดนาม และไม่สอดคล้องกับความตกลง WTO ทำให้ล่าช้าและผู้ส่งออกมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ตลอดจนกระทบต่อการส่งออกรถยนต์จากไทยไปเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญ และมียอดส่งออกรถยนต์จากไทยไปเวียดนาม ในปี 2560 จำนวน 37,000 คัน มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท

panit

โดยรัฐบาลไทย และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นหารือกับเวียดนามในทุกเวที ทั้งในระดับพหุภาคี ภูมิภาค และทวิภาคี เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาและดำเนินการให้สอดคล้องกับ WTO โดยขณะนี้แม้ว่าจะมีสัญญาณเชิงบวก เนื่องจากรถยนต์จากไทยประมาณ 2,000 คัน สามารถเข้าไปในประเทศเวียดนามได้แล้ว แต่ปัจจุบันเวียดนามมีห้องปฏิบัติการทดสอบมลพิษและความปลอดภัยเพียงแห่งเดียว จึงอาจเกิดความล่าช้าและสร้างความไม่แน่นอนให้กับผู้ส่งออก

กระทรวงพาณิชย์จึงได้ผลักดันให้เวียดนามแก้ปัญหาให้ไทยต่อไป รวมทั้งได้ร่วมกับสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นเรียกร้องเวียดนามในการประชุม TBT Committee ที่ผ่านมา และเตรียมที่จะยกประเด็นนี้ขึ้นหารือกับเวียดนามในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-เวียดนาม ที่จะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อให้การส่งออกรถยนต์ไทยไปเวียดนามกลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมคณะกรรมการ TBT ไทยยังได้ร่วมกับอินโดนีเซีย โคลอมเบีย คอสตาริกา กัวเตมาลา และไนจีเรีย สนับสนุนถ้อยแถลงของมาเลเซียที่แสดงความกังวลกับแผนแก้ไขกฎหมายพลังงานทดแทน (Renewal Energy Directive ฉบับที่ 2009/28/ EC) ของสหภาพยุโรป ที่จะยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม ในปี 2564 ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานที่เลือกปฏิบัติต่อสินค้าน้ำมันปาล์ม ขณะที่ยังอนุญาตให้ใช้น้ำมันพืชอื่นๆ ได้ถึงปี 2569 แม้ว่าสหภาพยุโรปจะชี้แจงว่า มาตรการดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาและยังไม่ได้สรุปผล

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

รวมทั้งปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มของไทยไปสหภาพยุโรปมีปริมาณไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียและมาเลเซียไปสหภาพยุโรป โดยในปี 2560 ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป 2,486 ตัน ขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซียส่งออกไปสหภาพยุโรป 4,000 ล้านตัน และ 1,800 ล้านตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ ไทยจะร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ใน WTO เรียกร้องให้สหภาพยุโรปทบทวนมาตรการดังกล่าว และติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าของ WTO เป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำ ปีละ 3 ครั้ง เพื่อติดตามการดำเนินการของประเทศสมาชิก WTO ในเรื่องการออกกฎระเบียบทางเทคนิค มาตรฐาน และกระบวนการตรวจสอบรับรองให้เป็นไปตามความตกลง WTO และเปิดโอกาสให้สมาชิก WTO หยิบยกข้อกังวลทางการค้าขึ้นหารือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาทางการค้าและการส่งออก

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว