ท่องเที่ยว 4.0 รุกดิจิตอล! คลังยอมคืนแวตในเมือง

27 เม.ย. 2561 | 06:44 น.
270461-1318 app18055175_m

ท่องเที่ยวไทยยุค 4.0 รุกดิจิตอล! ทัวริซึมแพลตฟอร์มเต็มรูปแบบ พ่วงซื้อขายสินค้า-บริการผ่านออนไลน์ นำร่องปีนี้ 5 โมดูลหลัก ประเดิมดาวน์ทาวน์แวตรีฟันด์ คืนเงินไม่เกินหัวละ 1.2 หมื่นบาท ... คลังเซ็นเอ็มโอยูปลาย เม.ย. นี้

จากพฤติกรรมที่นักท่องเที่ยวหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการเดินทางท่องเที่ยวอย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้แกนนำภาครัฐและเอกชน ภายใต้การดำเนินการของคณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (คณะทำงานสานพลังประชารัฐ D3) จึงเร่งผลักดันการสร้างแพลตฟอร์มท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ‘ระบบดิจิตอล ทัวริสซึม แพลตฟอร์ม’ เชื่อมโยงข้อมูลบิ๊กดาต้าด้านการท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อซื้อขายสินค้า-บริการท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยมีสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดทิศทางในการดำเนินการ


GP-3360_180427_0015

แพลตฟอร์มดังกล่าวจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงข้อมูลการเดินทางที่จำเป็นในการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยภายในแอพเดียว ลดความซ้ำซ้อนการลงทุนทางการตลาด หรือ โปรโมตการท่องเที่ยว โดยจะมีทั้งฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยวจากภาครัฐ (Tourism Big Data) เช่น แหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ข้อมูลบิ๊กดาต้าการท่องเที่ยว เช่น Thailand Tourism Directory บนเว็บไซต์และแอพพลิเคชันมือถือ ที่ดำเนินการโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองรอง ชุมชน

ขณะเดียวกัน ฐานข้อมูลด้านการบริการของภาคเอกชนจะนำมาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มหลัก หรือ Tourism Gateway เน้นไปใน 3 แพลตฟอร์มหลัก คือ 1.Smart Trip Planner ช่วยนักท่องเที่ยววางแผนเดินทางมาไทย 2.แพลตฟอร์มการจองแบบเปิดกว้าง หรือ ออนไลน์ บุ๊กกิ้ง ได้แก่ ระบบการจองที่พัก สินค้าโอท็อป กอล์ฟ กีฬา ร้านอาหาร การเดินทาง ฯลฯ 3.Smart Travel App หรือ Digital Tour Guide ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวกลับไปด้วยประสบการณ์ที่ดี เขียนรีวิว ลงรูปภาพ และแชร์ลงบนโซเชียลมีเดีย


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

แหล่งข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ระยะแรกของการเชื่อมโยงข้อมูลและการซื้อขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวผ่านดิจิตอล ทัวริซึม แพลตฟอร์ม ภายในปีนี้จะเริ่มดำเนินการที่ 5 โมดูลหลัก ได้แก่ 1.Downtown VAT Refund Counter นำร่อง 5 จุดรับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเมืองแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่โรบินสัน สุขุมวิท, สยาม พารากอน, เซ็นทรัล ชิดลม, เซ็นทรัล เวิลด์, เอ็มโพเรียม โดยคืนเป็นเงินบาท เพื่อให้นักท่องเที่ยวนำไปซื้อสินค้าต่อ เงื่อนไขต้องซื้อสินค้าตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป ในร้านเดียวและวันเดียวกัน จากร้านค้าใดก็ได้ที่มีการจดทะเบียนถูกต้อง จะขอคืนภาษี ซึ่งเงินที่ขอคืนมีมูลค่ารวมกันต่อ 1 ราย ไม่เกิน 12,000 บาท ซึ่งจะมีการเซ็นเอ็มโอยูเพื่อดำเนินการโครงการในวันที่ 27 เม.ย. นี้ ระหว่างกระทรวงการคลังและคณะทำงาน D3

2.Amazing Thai Taste Showroom ร่วมกับสมาคมภัตตาคารไทย ที่จะให้มีการนำของฝากจากเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย ผลไม้ ข้าว ขนม ของดีจังหวัดต่าง ๆ ย้ายไปดำเนินการขายบนดิจิตอลแพลตฟอร์มนี้ โดยนักท่องเที่ยวสามารถซื้อสินค้าโดยสแกน QR Code ซึ่งสินค้าจะถูกจัดส่งไปยังที่หมายที่ต้องการ เช่น สนามบินนานาชาติ หรือ ที่อยู่ในประเทศ คาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 3

 

[caption id="attachment_277600" align="aligncenter" width="503"] ©thaichamber.org ©thaichamber.org[/caption]

3.Entertainment Ticket ร่วมกับสมาคมสวนสนุกและพักผ่อนหย่อนใจ คาดว่าจะดำเนินการช่วงไตรมาส 3

4.Online Hotel Booking ร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย

5.Online Package & Optional Tour ร่วมกับสมาคมไทย ธุรกิจการท่องเที่ยวที่จะดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

นายชนินทธ์ โทณวณิก หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (คณะทำงาน D3) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ดิจิตอล ทัวริซึม แพลตฟอร์ม จะเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเอสเอ็มอีของไทย ที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70-80% โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีพนักงาน 5-10 คน ที่มีอยู่จำนวนมาก


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ดังนั้น แพลตฟอร์มนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติรู้ถึงข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของไทยที่เรารวบรวมเอาไว้หมด เพื่อวางแผนการเดินทางตั้งแต่ก่อนจนถึงเดินทางกลับ และการเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์บุ๊กกิ้ง จะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีทางเลือกในการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางดิจิตอลในราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งการเปิดบุ๊กกิ้งห้องพักออนไลน์ ไม่ได้เป็นการแข่งขันกับออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ (OTA) เพราะธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ ที่เป็นอินเตอร์ รวมถึงโรงแรมที่มีลูกค้าอยู่แล้ว สามารถเข้าถึงเครือข่าย OTA ในการเพิ่มช่องาทางการขายได้ ขณะที่ ธุรกิจรายเล็กไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้บริการ OTA ได้ ดังนั้น แพลตฟอร์มบุ๊กกิ้งที่เราสร้างขึ้น ก็จะช่วยธุรกิจเหล่านี้ได้มาก


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,360 วันที่ 26-28 เม.ย. 2561 หน้า 01-02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โรงแรมไทยติดอันดับ4 ในเอเชียที่นักท่องเที่ยวต้องการเข้าพักมากที่สุด
'แจ็ค หม่า' จับมือ ททท. บูมท่องเที่ยวยั่งยืน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว