ยอดใช้ 'น้ำมัน' ไตรมาส 1 ปีนี้เพิ่มสูงขึ้น!

26 เม.ย. 2561 | 10:20 น.
นางอุษา ผ่องลักษณา รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันของไตรมาสที่ 1/2561 (ม.ค.-มี.ค.) เติบโตขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยกลุ่มน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 4.7% และดีเซลหมุนเร็ว (บี7) เพิ่มขึ้น 3.9% ในขณะที่ LPG เพิ่มขึ้น 9.5% และ NGV ลดลง 8.3% โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ 30.8 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 4.7% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันกลุ่มเบนซินเกือบทุกชนิด ยกเว้น น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 91 โดยน้ำมันเบนซินมีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1.2 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 6.4% และแก๊สโซฮอล์ 91 มีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 10.4 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 3.8% สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 29.6 ล้านลิตร/วัน คิดเป็น 5.2% โดยแก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ E20 มีอัตราการใช้เพิ่มมากที่สุด คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นเท่ากันที่ 10.9% โดยแก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 12.6 ล้านลิตร/วัน เนื่องมาจากราคาขายปลีกที่ปรับตัวใกล้เคียงกันกับแก๊สโซฮอล์ 91 ทำให้ประชาชนเลือกใช้น้ำมันชนิดที่มีค่าออกเทนสูงกว่า และแก๊สโซฮอล์ E20 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.5 ล้านลิตร/วัน สำหรับแก๊สโซฮอล์ E85 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.1 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 10.0%


app48318948_m

การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (E7) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 67.0 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 3.9% ถึงแม้ว่าราคาขายปลีกจะปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2559 แต่ปริมาณการใช้ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเติบโตทางเศรษฐกิจและปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมีปริมาณเพิ่มขึ้น 4.6% (อ้างอิงข้อมูลกรมการขนส่งทางบก) ซึ่งเดือน มี.ค. 2561 เป็นเดือนที่มีการใช้สูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 68.9 ล้านลิตร/วัน มีปัจจัยหลักมาจากการขนส่งและการเร่งทำงานให้แล้วเสร็จ ก่อนเตรียมตัวหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่สูงขึ้นจากต้นปี 2561 มากนัก

การใช้ LPG เฉลี่ยต่อวันของไตรมาสที่ 1/2561 อยู่ที่ 17.8 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 9.5% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้ทุกภาค ยกเว้น ภาคขนส่ง ที่มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 3.4 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 10.8% สำหรับการใช้ในภาคอื่น ๆ มีอัตราการใช้เพิ่มขึ้น โดยภาคปิโตรเคมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นสูงที่สุดอยู่ที่ 6.5 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 34.9% รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรม มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.9 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 8.5% และภาคครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.1 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 2.4% การใช้ NGV ของไตรมาสที่ 1/2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 ล้าน กก./วัน ลดลงจากปีก่อนคิดเป็น 8.3% โดยการใช้ NGV ลดลง เป็นผลต่อเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี 2559 ทำให้ประชาชนและรถบรรทุกสินค้าหันไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมา และส่งผลให้มีสถานีบริการ NGV ทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรถยนต์จดทะเบียนใหม่ประเภทเชื้อเพลิง NGV จำนวนลดลงคิดเป็น 3.1% (อ้างอิงข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก)


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

สำหรับการนำเข้าส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศของไตรมาสที่ 1/2561 มีปริมาณนำเข้ารวมเพิ่มขึ้น โดยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 979,061 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 13.0% โดยมีมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบคิดเป็น 63,451 ล้านบาท/เดือน สำหรับน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณนำเข้าลดลงอยู่ที่ 64,553 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 4.9% และมีมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 4,307 ล้านบาท/เดือน โดยพบว่า มีการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐานและ LPG เพิ่มขึ้น ในขณะที่ ดีเซลพื้นฐาน เตา และอากาศยาน มีการนำเข้าลดลง สำหรับการนำเข้า LPG มีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 57,323 ตัน/เดือน คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 19.4% เนื่องจากความต้องการใช้ LPG มีเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวของปีก่อน คิดเป็น 9.5% สำหรับการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 191,655 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 30.1% โดยพบว่ามีการส่งออก เบนซิน ดีเซลพื้นฐาน น้ำมันอากาศยาน น้ำมันเตา และ LPG ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ช่วงไตรมาสที่ 1/2561 มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในประเทศ (จำนวน 2 โรงกลั่น) รวมจำนวนวันทั้งหมด 26 วัน และโรงแยกก๊าซ 15 วัน โดยมีจำนวนวันปิดซ่อมบำรุงน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีจำนวนวันปิดซ่อมบำรุงรวม 99 วัน จึงส่งผลให้มีปริมาณการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปประเภท ดีเซลพื้นฐาน เตา และอากาศยานลดลง ในขณะที่ การนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐานมีปริมาณมากขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นยังคงมีข้อจำกัดในการผลิตน้ำมันเบนซินพื้นฐานประเภท GBASE 2 ซึ่งเป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานเพื่อใช้ในการผสมเพื่อผลิต GSH95 E20 และ E85 ได้ ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ประเภทดังกล่าวปริมาณการใช้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
แนวโน้มตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวต่อแรงหนุนราคาน้ำมันยืนเหนือ 68 เหรียญ/บาเรล
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังตลาดกังวลต่อความตึงเครียดทางด้านการเมือง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว