'ไทย' เดินสายเวที 'ประมงโลก' แจงคืบหน้า! แก้ไขปัญหา 'ไอยูยู'

26 เม.ย. 2561 | 07:05 น.
นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยี่ยมและหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยภายหลังการเสวนาผู้นำเข้าอาหารทะเลและสื่อมวลชนในหัวข้อ “เส้นทางสู่การประมงที่ยั่งยืนของประเทศไทย” หรือ “Thailand’s Path to Sustainable Fisheries” ภายในงานแสดงสินค้า Seafood Expo Global 2018 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24–26 เม.ย. 2561 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ว่า การจัดเวทีชี้แจงและให้ข้อมูลนานาประเทศรับรู้ถึงความก้าวหน้าและความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือ ประมงไอยูยู นับเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้า และผู้บริโภคในกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีความตื่นตัวและสนใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก


20180424_161802

จากข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ได้ร่วมกันชี้แจงตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย มอบหมายคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้ ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล (Stella maris) ร่วมชี้แจงสถานการณ์ที่เป็นจริงและถูกต้องของประเทศไทย มีผู้ซื้อขายและจำหน่ายอาหารทะเลทั่วโลกสนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนาครั้งนี้จำนวนมาก และได้แสดงความชื่นชมในทิศทางการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายหรือประมงไอยูยูของไทย

งาน Seafood Expo Global 2018 ถือเป็นงานแสดงสินค้าอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีมาเป็นเวลากว่า 25 ปี ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยเฉลี่ยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 26,000 ราย ประกอบด้วย ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ค้าปลีก สื่อมวลชน เกี่ยวกับสินค้าประมงและอาหารทะเลจาก 140 ประเทศทั่วโลก ที่นอกจากผู้เข้าร่วมงานเจรจาซื้อขายสินค้า โปรโมทผลิตภัณฑ์ประมงใหม่ ๆ และสร้างเครือข่ายมืออาชีพด้านการค้าขายสินค้าประมงแล้ว ยังเป็นที่พบปะหารือระหว่างผู้ค้าขายสินค้าประมงระดับโลก การให้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการประมงของทั่วโลก รวมถึงการจัดกิจกรรมและสัมมนาเกี่ยวกับสถานการณ์ สถานะ ข้อมูลปัจจุบันด้านการประมงระดับภูมิภาคและระดับโลก ทำให้สื่อมวลชนด้านการประมงระดับโลกสนใจที่จะเข้าร่วมงานและมาหาข้อมูลเพื่อทำข่าวความเคลื่อนไหวด้านการประมงจากงานนี้เป็นจำนวนมาก” นายมนัสวี กล่าว


143603

ด้าน นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การจัดเวทีชี้แจงข้อมูลให้นานาประเทศรู้รับทราบนับเป็นครั้งที่ 2 ที่ไทยออกมาอธิบายความก้าวหน้าการดำเนินงานเรื่องการขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย การแก้ไขปัญหาแรงงาน และการค้ามนุษย์อย่างครบถ้วนทุกแง่มุม ซึ่งผู้แทนจากประเทศผู้นำเข้ามีความสนใจและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะผู้แทนบริษัทผู้นำเข้าสินค้าประมงจากไทยรายใหญ่ เช่น บริษัท ซีพีเอฟ สหราชอาณาจักร ที่ชื่นชมไทยในการแก้ปัญหาทั้ง 2 เรื่องนี้ ได้อย่างชัดเจน และยอมรับไทยเป็นผู้นำในการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ เนื่องจากเรามีกฎหมายที่ดี มีระบบจัดการที่ชัดเจน และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้ชี้แจงแนวทางของไทยในการยกระดับไปสู่การทำการประมงที่ยั่งยืน 3 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มต้นด้วยการปฏิรูปการประมงโดยการทำกฎหมายการทำประมงใหม่ และมีการจัดระบบต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อจัดการประมงได้เป็นอย่างดี เริ่มต้นด้วยการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในการประกอบการออกใบอนุญาตทางการประมง จัดระบบในการติดตามเฝ้าระวังเรือที่ออกไปทำการประมง ทั้งในและนอกน่านน้ำ จัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อทราบว่าปลาจับจากที่ไหนจากเรือลำไหน ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งระบบทั้งหมดที่ใช้เวลาทำเกือบ 3 ปี และวันนี้ไทยก็จะต้องออกมาบอกกับนานาชาติได้ว่าเราได้เดินทางมาถูกทางแล้ว และก้าวหน้าเป็นอย่างมาก


143543

แต่เราไม่หยุดแค่นี้
แต่เราจะทำต่อไปให้ทรัพยากรประมงไทย และทรัพยากรประมงโลกมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการประกาศเจตนารมณ์ที่ไทยมุ่งเป้าหมายให้ไทยเป็นไอยูยูฟรี หรือ สัตว์น้ำที่จับในประเทศจะไม่มีการทำประมงผิดกฎหมาย สัตว์น้ำที่นำเข้าก็จะไม่มีมาจากการทำประมงผิดกฎหมาย และสัตว์น้ำที่ส่งออกก็จะไม่มีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย แต่ในเรื่องไอยูยูฟรีเพิ่งเริ่มต้น ซึ่งไทยเป็นประเทศที่นำเข้าปลาจากต่างประเทศเยอะมาก การจับไปพิสูจน์ปลาเหล่านั้นไม่ใช่ปลาไอยูยูไม่ง่ายต้องมีความร่วมมือกับประเทศผู้ส่งปลาให้เรา

เราต้องมีกฎระเบียบที่ต้องเกี่ยวพันกับองค์การการค้าโลก ต้องมีการแจ้งเตือนและวางระบบ คงตอบไม่ได้ว่าอีกกี่ปี เพราะขั้นตอนเหล่านี้มีรายละเอียดเยอะมาก แต่เป็นความตั้งใจและนโยบายใหม่ที่รัฐบาลกำลังเริ่มต้นและบรรลุวัตถุประสงค์ได้ แต่ทั้งหมดก็ต้องอาศัยเวลา เราทำมาอย่างรวดเร็วก็มีผลกระทบต่อชาวประมง ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ก็จะต้องมีความร่วมมือและช่วยกันทำต่อไป เรายังทำไม่สำเร็จที่จะบอกว่าประมงไทยยั่งยืนแล้ว เรื่องทรัพยากรก็ต้องใช้เวลา แต่เราก็มาในเส้นทางที่ถูกต้องและจะเดินต่อไป เป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาล และวันนี้ชาวประมง ผู้ประกอบการก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี


143653

ด้าน นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ต่างชาติโดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญ ๆ ที่นำเข้าสินค้าประมงของไทยอย่าง อียู อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น แสดงถึงการยอมรับว่านโยบายภาครัฐที่จริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาไอยูยู ทั้งการปรับปรุงกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาnเรามีมูลค่าการซื้อขายอาหารทะเลดีขึ้น แสดงถึงความเชื่อมั่นของไทยในสายตาของประเทศคู่ค้าสินค้าประมง อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรจะกังวลในเรื่องสถานะในเรื่องใบเหลือง ใบเขียว ซึ่งเป็นส่วนที่สหภาพยุโรปพิจารณา แต่สิ่งที่เราควรทำอย่างต่อเนื่อง คือ การร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรประมงทะเลให้ฟื้นกลับคืนมาสมบูรณ์ เพื่อให้อาชีพประมงและการทำประมงไทยมีความยั่งยืน

ด้าน นายบ็อบ มิลเลอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ประจำสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ในฐานะผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าประมงจากไทย ขอชื่นชมประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย และปัญหาแรงงานที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน โดยเฉพาะการควบคุมเรือประมงด้วยระบบติดตามเรือ หรือ วีเอ็มเอส กระบวนการทางกฎหมายมาบังคับใช้มีประสิทธิภาพ ใบรับรองการจับสัตว์น้ำ ที่ทำให้ผู้นำเข้าเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ภาคเอกชนจึงมีความเชื่อว่าไทยจะเป็นผู้นำในเรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รัฐยันไม่เคยแทรกแซงกลุ่มลูกจ้างประมงทะเล 22 จ.เน้นคุ้มครองสิทธิแก้ปัญหา
นายกฯ ชี้ มีเวลา 3 เดือน แก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย รอลุ้นผลประเมิน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว