สินเชื่อสุทธิมี.ค. 61ปรับตัวเพิ่มทำให้ภาพรวมQแรกขยายตัวดีตามคาด

26 เม.ย. 2561 | 07:07 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

สินเชื่อสุทธิเดือน มี.ค. 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ต่ำกว่าที่คาด
ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน มี.ค. 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.9 หมื่นล้านบาท เป็น 11.07 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.17% MoM ซึ่งแรงส่งสินเชื่อในเดือนนี้ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสินเชื่อในไตรมาสแรกปีนี้ ยังขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน (+4.59% YoY) แม้ว่าในช่วงต้นไตรมาสจะมีผลกระทบของการชำระคืนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีการใช้จ่ายสูงในช่วงท้ายปีก็ตาม ทั้งนี้ สินเชื่อหลักที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อภาคธุรกิจ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

kbk-lo

เงินฝากเดือน มี.ค. 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการบริหารจัดการสภาพคล่องและต้นทุนการเงิน
ภาพรวมเงินฝากเดือน มี.ค. 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5.8 หมื่นล้านบาท หรือ 0.47% MoM เป็น 12.24 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนและสิ้นปีก่อน 6.42% และ 1.17% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเงินให้สินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ทุกธนาคารยังคงนโยบายการบริหารจัดการต้นทุนเงินฝากอย่างระมัดระวัง เช่นเดียวกับการทยอยลดสัดส่วนเงินกู้ยืม (Borrowing) ที่มีต้นทุนสูงลงเป็นลำดับ เพื่อบริหารจัดการต้นทุนการเงินรวม

สภาพคล่องเดือน มี.ค. 2561 ผ่อนคลายลงเล็กน้อย
ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารผ่อนคลายลงเล็กน้อย เนื่องจากเงินฝากที่รวมเงินกู้ยืมปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าสินเชื่อ ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ในเดือน มี.ค. 2561 ผ่อนคลายลงมาที่ 85.77% เทียบกับ 85.80% ในเดือน ก.พ. 2561 และสอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่เพิ่มขึ้นเป็น 22.25% จาก 22.22% ในเดือนก่อนหน้า

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

แนวโน้มสินเชื่อเงินฝากในไตรมาส 2/2561 คาดรักษาอัตราเพิ่มที่ 4.6%
สถานการณ์สินเชื่อในเดือน มี.ค. 2561 ที่ยังเติบโต แม้จะแผ่วลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่โดยรวมทั้งไตรมาสแรก ยังถือว่าโตได้ต่อเนื่อง และเป็นฐานสำหรับการขยายตัวต่อในไตรมาสที่ 2 ให้เข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดไว้ที่ 4.6% ได้ไม่ยาก ท่ามกลางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมของไทย และเศรษฐกิจโลกที่หนุนให้มีเม็ดเงินรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งคงทยอยส่งผลบวกให้ภาคธุรกิจยังมีความต้องการเงินทุนอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาพรวมเงินรับฝากในไตรมาสแรกปีนี้ ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือกว่าการให้สินเชื่อของธนาคารนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะสะท้อนภาพการจัดการสภาพคล่อง (ในช่วงที่ต้นทุนเงินฝากยังไม่ขยับขึ้น) เพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อและดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป

ขณะที่ ปัจจัยท้าทายในไตรมาสที่ 2/2561 ยังต้องติดตามการบริหารจัดการต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ ที่คงมีสัญญาณที่สะท้อนแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทย (สอดคล้องกับการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ) อันอาจมีผลต่อผลิตภัณฑ์เงินฝากที่จะออกใหม่ให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในไตรมาสที่ 2 นี้ อันอาจส่งผลต่อรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของธนาคารในระยะต่อไป

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว