ประมูลปิโตรฯ เดือด! ปตท. ชน 'เชฟรอน'

22 เม.ย. 2561 | 12:42 น.
‘ศิริ’ มั่นใจเอกชนยื่นประมูลสัมปทาน ‘เอราวัณ-บงกช’ มากกว่า 3 ราย เตรียมเสนอทีโออาร์เข้า กพช. วันที่ 23 เม.ย. นี้ จับตา! ปตท.สผ. แข่งเชฟรอน ... กลุ่มอาบูดาบีมาแรง หลังบิ๊กพลังงานล็อบบี้ให้ยื่นประมูล

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ความคืบหน้าการเปิดประมูลสัมปทานเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุสัญญาในปี 2565-2566 โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเตรียมเสนอร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 23 เม.ย. นี้ และภายหลังได้รับการอนุมัติจาก กพช. และกรมเชื้อเพลิงฯ เตรียมออกประกาศเชิญชวนร่วมประมูลสัมปทานแหล่งเอราวัณและบงกชในวันที่ 24 เม.ย. นี้

โดยจากนั้น คาดว่าจะมีความชัดเจนรายชื่อเอกชนที่เข้าร่วมประมูลในวันที่ 25 เม.ย. เป็นลำดับถัดไป เบื้องต้น หวังว่าจะมีผู้ยื่นประมูลมากกว่า 3 ราย ทั้งรายเก่า ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และรายใหม่ ได้แก่ ผู้ประกอบการจากตะวันออกกลาง เป็นต้น ที่แสดงความสนใจยื่นประมูลในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม การเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชในครั้งนี้ ในร่างทีโออาร์ให้น้ำหนักไว้ 2 เรื่อง คือ

1.ราคาขายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งให้น้ำหนักไว้ถึง 65% หากผู้ประกอบการรายใดเสนอราคาถูก เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ภาคไฟฟ้า แอลพีจี และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะเน้นราคาขายก๊าซที่ไม่แพง

2.ส่วนแบ่งกำไรภาครัฐ ให้น้ำหนักไว้ 25% นอกจากนี้ ยังกำหนดเงื่อนไขใช้บุคลากรไม่ต่ำกว่า 80% รวมทั้งจะต้องเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ และการบริการที่มีอยู่ในประเทศไทยก่อน จะได้รับคะแนนการพิจารณาเป็นพิเศษด้วย

นอกจากนี้ ผู้ที่ชนะการประมูลจะต้องสามารถดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณและบงกชได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับช่วงต่อจากรายเดิม หรือ รักษาระดับกำลังการผลิตแหล่งเอราวัณไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และบงกชไม่ต่ำกว่า 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการแต่เนิ่น ๆ ก่อนหมดอายุสัญญาในอีก 4-5 ปีข้างหน้า เพื่อให้สามารถป้อนก๊าซให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้า อย่างไม่ขาดตอน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

โดยก่อนหน้านี้ นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เดินสายเชิญชวนกลุ่มประเทศที่มีการลงทุนธุรกิจสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว อาทิ Mubadala Petroleum (MP) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน Mubadala Investment Company ก่อตั้งขึ้นในปี 2545 เป็นหน่วยลงทุนและพัฒนาธุรกิจของรัฐอาบูดาบี สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE, CNOOC (China National Offshore Oil Corporation) และกลุ่มบริษัท มิตซุยฯ ซึ่งมีบริษัท โมเอโกะฯ ลงทุนในไทยอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการดังกล่าวจะเข้าร่วมประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช นอกเหนือจาก ปตท.สผ. และเชฟรอน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ให้จับตากลุ่มอาบูดาบี มีโอกาสที่จะจับมือกับ ปตท.สผ. เข้าประมูลแข่ง หรืออาจจะยื่นประมูลเอง หลังจากที่มีผู้บริหารกระทรวงพลังงานพยายามผลักดันให้อาบูดาบีเข้ายื่นประมูลแข่ง เพื่อเขี่ยผู้สัมปทานรายเดิมออกไป

ขณะที่ ปตท.สผ. จะยื่นประมูลทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ หลังการเจรจาข้อตกลงร่วมประมูลในแหล่งเอราวัณร่วมกับทางเชฟรอนไม่เป็นผล เนื่องจากยังติดขัดเรื่องการบริหารจัดการที่ยังไม่ลงตัว และภาครัฐก็ต้องการให้บริหารจัดการที่ยังไม่ลงตัว และภาครัฐก็ต้องการให้ ปตท.สผ. เข้าประมูลทั้ง 2 แห่ง ตั้งแต่แรก เนื่องจากเห็นว่าหากสามารถบริหารจัดการทั้ง 2 แห่ง จะทำให้ต้นทุนลดลง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,359 วันที่ 22-25 เม.ย. 2561 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ประมูลปิโตรฯ! 10 ปี ลงทุนหมุนเวียน 1.2 ล้านล้าน
กรมเชื้อเพลิงฯยันไม่มีผู้ประกอบธุรกิจสำรวจปิโตรฯในอ่าวไทยใช้ท่อ20นิ้ว


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว