“ไทย” โต้รายงานมะกัน ยันการละเมิดสิทธิมนุษยชนลดลง

24 เม.ย. 2561 | 10:52 น.
- 24 เม.ย. 61 - นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่รายงานการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ประจำปี 2560 (The 2017 Country Reports on Human Rights Practices) ซึ่งออกโดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯเมื่อวันที่ 21 เม.ย.พบว่าไทยยังมีการคุกคามสิทธิเสรีภาพอย่างมากว่า แม้ในรายงานเอกสารจะมีการระบุว่าไทยมีการคุกคามเสรีภาพอยู่ ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหา เพราะรายงานเอกสารนั้น มีทั้งการหยิบยกประเด็นที่เป็นปัญหาและความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา แต่ในการแถลงดังกล่าว ข้อมูลที่เป็นประเด็นปัญหานั้นไม่มีในคำแถลงของรักษาการรมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ดังนั้น เราจึงถือว่าเป็นที่ประเทศที่ไม่มีปัญหา เพราะการแถลงพาดพิงถึงประเทศที่มีปัญหาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมองว่าการแถลงดังกล่าว ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่าไทยมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขปัญหามนุษยชนเกี่ยวกับเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ การละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

“ในรายงานก็จะมีทั้งแง่บวกและลบ แต่ที่ดีขึ้นคือในการแถลงนั้น ไม่มีการพูดถึงหรือพูดถึงปัญหาน้อยมาก นั่นจึงแปลว่าไม่มีปัญหาหรือปัญหาน้อย จนไม่ต้องนำมาพูดในเวที แม้ในรายงานจะมีเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายในไทย การควบคุมตัวผู้เห็นต่าง แต่ก็ไม่ได้มีอะไรมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนที่เราไม่ต้องไปอ่านโดยละเอียด แต่เราจะดูที่คำแถลงว่าเขาหยิบเรื่องใดมาพูดบ้าง เรื่องนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการกดดันรัฐบาลไทย” นายดอน กล่าว

น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ออกเอกสารชี้แจงโต้แย้งดังกล่าวโดยระบุว่า    ทางการไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ว่า รายงานดังกล่าวยังขาดความสมดุลของข้อมูล ซึ่งรัฐบาลมีความตระหนักและมีนโยบายขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ใน 5 ด้าน ดังนี้

1. การประกาศ “วาระแห่งชาติ: สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”แสดงถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองของรัฐบาล ที่ต้องการยกระดับสิทธิมนุษยชนให้เป็นวาระแห่งชาติ

2. รัฐบาลเห็นชอบในหลักการพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญที่ได้มีการลงนามรับรองแล้ว และในระหว่างนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ เพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเยียวยา หากเจ้าหน้าที่มีการกระทำการละเมิดก็จะมีการลงโทษทางวินัยหรือทางกฎหมายต่อไป ที่ผ่านมาได้ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และจัดทำคู่มือแนวทางสำหรับเจ้าหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

3. การส่งเสริมสิทธิของผู้ต้องขังในประเทศไทย ได้ประกาศใช้พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ซึ่งมีสาระสำคัญในการปฏิรูประบบราชทัณฑ์ของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานและข้อบัญญัติระหว่างประเทศเกี่ยวกับผู้ต้องขังในด้านต่างๆ เช่น ข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) และข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) เพื่อส่งเสริม คุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขังให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีการดำเนินงานพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถดำเนินงานสอดคล้องกับกฎหมายที่วางไว้

4. รัฐบาลมีนโยบายในการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งการประกาศ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม รวมถึงการคุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน ตลอดจนยังอำนวยความสะดวกและเปิดช่องทางการรับเรื่องราวร้องทุกข์และการแสดงออกของทุกฝ่ายผ่านทางศูนย์ต่างๆ อย่างกว้างขวาง

5. รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการเคารพสิทธิมนุษยชน ตามกรอบหลักการสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) ทั้งการเคารพ คุ้มครอง และเยียายา โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และเคารพในสิทธิมนุษยชน

ล่าสุด คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่นๆ ของสหประชาชาติ ได้เดินทางมาเยือนไทยได้แสดงความยินดีกับความมุ่งมั่นกับรัฐบาลไทยที่ต้องการเป็นผู้นำในภูมิภาคในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และเปิดกว้างให้คณะได้เข้ามาพูดคุยข้อท้าทายต่าง ในเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งจัดเวทีหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคี. นอกจากนี้ในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของเลขาธิการองค์กรความร่วมมืออิสลามกลาง (Organization of Islamic Cooperation – OIC) ได้กล่าวชื่นชมและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความก้าวหน้าในเชิงบวก ในการแก้ไขปัญหาในภาคใต้ของรัฐบาล

น.ส.ปิติกาญจน์ ระบุด้วยว่า ข้างต้นเป็นเพียงพัฒนาการดำเนินงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเพียงแค่บางส่วนที่สำคัญเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่ประจักษ์ชัดเชิงบวก ที่ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในรายงานฉบับดังกล่าวให้เกิดความสมดุลกับมุมมองทางด้านลบที่ประเทศต้องเร่งพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น