หัก 'ดีแทค'! กสทช. ลุยกดปุ่ม 1800

24 เม.ย. 2561 | 10:47 น.
240461-1734

‘ฐากร’ สั่งลุย! หักข้อเสนอ ‘ดีแทค’ เดินหน้าประมูลคลื่น 1800 ทันที เตรียมชงบอร์ดมีมติ 25 เม.ย. นี้ ใช้สูตรเดิมประมูลใบใหญ่ 15 เมกะเฮิรตซ์ 3 ใบอนุญาต ราคาตั้งต้น 3.74 หมื่นล้านบาท พร้อมสูตร N-1 ... วงการชี้! ทำทันที เสร็จทันสิ้นสุดสัมปทาน

ภายหลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีมติไม่รับโหวตการสรรหากรรมการ กสทช.ชุดใหม่ จำนวน 7 คน
ทำให้ต้องเริ่มนับหนึ่งกระบวนการสรรหาใหม่นั้น นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงาน กสทช. กล่าวว่า กสทช.ชุดรักษาการ จะเดินหน้าจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ตามกรอบระยะเวลาเดิม เพื่อให้ทันก่อนสัญญาสัมปทานภายใต้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท และ ‘ดีแทค’ จะหมดอายุลงในวันที่ 15 ก.ย. 2561 โดยจะบรรจุในวาระการประชุมบอร์ดวันที่ 25 เม.ย. 2561 นี้ ทั้งนี้ การประมูลยืนยันใช้ตามหลักเกณฑ์เดิม คือ ใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบ โดยกำหนดราคาตั้งต้นที่ 37,457 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลครั้งก่อน โดยใช้สูตร N-1 ส่วนกรณีคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเรื่องการรบกวนระบบรถไฟความเร็วสูง


23592041_1868436853175861_8976374326674883920_o

นอกจากนี้ ทาง กสทช. ยังได้ประกาศหลักเกณฑ์เรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำมาจัดประมูลและใช้ประโยชน์ต่อไป ส่วนการยืดชำระค่าใบอนุญาตของผู้ประกอบการโทรคมนาคม (เอไอเอสและทรู) ล่าสุด ยังไม่ได้ข้อสรุป

ด้าน นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เห็นด้วยว่าจากนี้ไป บอร์ด กสทช.ที่รักษาการ เวลานี้ ต้องเร่งพิจารณาร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 อย่างจริงจัง เพื่อจัดการประมูลให้เสร็จสิ้น จะรอส่งมอบภารกิจนี้ให้บอร์ดชุดใหม่ไปทำต่อไม่ได้แล้ว เพราะต้องเริ่มนับหนึ่งกระบวนการสรรหาใหม่ ซึ่งไม่ทันแล้ว โดยทางดีแทคพร้อมส่งแผนมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 ให้กับ กสทช. เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับ


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ก่อนหน้านี้ ดีแทคเสนอ กสทช. ให้ปรับหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น เป็นใบอนุญาต 9 ใบ ใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์ หรือ ซอยคลื่น และให้ยกเลิกสูตร N-1 หรือการกำหนดจำนวนใบอนุญาตให้น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล กรณีกำหนดประมูลใบอนุญาต 3 ใบ ใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ ตามหลักเกณฑ์ประมูลเริ่มต้น

ด้าน นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า คณะกรรมการบอร์ดชุดรักษาการ กสทช. สามารถดำเนินการเปิดประมูลได้ เนื่องจากได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เพื่อความชัดเจนในเรื่องอำนาจและขอบเขตหน้าที่ แต่ในขั้นตอนการลงมติของบอร์ดชุดเดิมนั้น ยังมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ด้าน ทั้งให้ดำเนินการไปเลย กับรอผลการสรรหาในวันที่ 19 เม.ย. ว่า สนช. จะคัดเลือกบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ เข้ามาทำงานได้หรือไม่ ดังนั้น ในกรณีนี้หากจะเดินหน้าจัดการประมูลคลื่นต่อไป ก็จะขึ้นกับมติของบอร์ดเดิม จะเดินหน้าเลยหรือไม่

 

[caption id="attachment_277061" align="aligncenter" width="335"] สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สืบศักดิ์ สืบภักดี
นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ[/caption]

สำหรับระยะเวลาและกรอบเวลาในการดำเนินการให้ทันในเดือน พ.ค. นี้ ถ้านับหนึ่งเริ่มเดินหน้าต่อทันที อาจมีการเลื่อนเวลาออกไปเล็กน้อย โดยต้องไม่มีการปรับเงื่อนไข หรือแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลในสาระสำคัญอีก เพราะมิฉะนั้นจะต้องไปเข้าสู่กระบวนการรับฟังและนำเรื่องเข้าบอร์ด เพื่อมีมติกันใหม่ ก็น่าจะทันรอยต่อการสิ้นสุดสัมปทานในเดือน ก.ย. ได้

นายสืบศักดิ์ ชี้อีกว่า เวลานี้มีเรื่องเร่งด่วนรอบอร์ด กสทช. ตัดสินและพิจารณาหลายเรื่อง ทั้งการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ในย่าน 900 และ 1800 หรือรวมถึงความชัดเจนในย่านความถี่อื่น ๆ อาทิ 2300 หรือ 2600 และ 700 เมกะเฮิรตซ์แล้ว ยังมีเรื่องมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทั้งทีวีดิจิตอลและโทรคมนาคม กรณีพิพาทและความชัดเจนในกิจการดาวเทียม เรื่องการสางปัญหาเดิมจากกรณีการเยียวยาคลื่น 1800 เดิม เรื่องการจัดสรรความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม หรือกระทั่งเรื่องกระทบผู้บริโภค การคุ้มครองความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล และ SMS กินเงิน

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ภารกิจเหล่านี้ ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าการสรรหาบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ แม้บอร์ดชุดรักษาการจะมีอำนาจดำเนินการ แต่ทำได้ในขอบเขตจำกัด เรื่องสำคัญที่จะเป็นการวางรากฐานการกำกับดูแลช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือมีผลผูกพันองค์กรในระยะถัดไป ควรเป็นการตัดสินใจของบอร์ดตัวจริง ขณะที่ ผู้ประกอบการก็ต้องรอความชัดเจนทางนโยบาย เพื่อให้การตัดสินใจทางธุรกิจราบรื่นต่อเนื่อง ทุกฝ่ายต่างเสียประโยชน์จากความล่าช้าการได้บอร์ดชุดใหม่ในองค์กรสำคัญอย่าง กสทช. ในช่วงเวลาแบบนี้


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,359 วันที่ 22-25 เม.ย. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'ดีแทค' หายใจเต็มปอดคว้าคลื่น 2300 ให้บริการ 4 จีแอลทีอี
"ลาร์ส นอร์ลิ่ง"ลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว