"เยี่ยม"รับ15ข้อเสนอสยยท.นัดแกนนำสวนยางทั่วปท.ประชุมสัปดาห์หน้า

24 เม.ย. 2561 | 09:38 น.
"เยี่ยม"รับข้อเสนอ 15 ข้อ สยยท. "อุทัย" เผยได้รับความไว้วางใจให้ประสานแกนนำสวนยางทั่วประเทศประชุมสัปดาห์หน้า

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้รับข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ของ สยยท. จำนวน 15 ข้อ ได้แก่

1.ไม่เห็นด้วยในการแก้ปัญหาที่รัฐบาลจะให้เกษตรกรหยุดกรีดยาง 3 เดือน แล้วชดเชยให้เกษตรกร 4,500 บาทต่อไร่ ให้ใช้เงินนี้ไปให้เกษตรกรกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อทำอาชีพเสริม ในการดำเนินการแบบเศรษฐกิจพอเพียงหรือเพิ่มมูลค่า ทำอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางหรือรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปทำถนนเป็นการลดอุปทานผลผลิตเพื่อดึงราคาให้สูงขึ้น

rub

2.ไม่เห็นด้วยในการโค่นยางในสวนยางที่ ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสวนยางในเขตป่าสงวน เพราะยางสามารถทดแทนป่าได้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะปลูกพืชอื่นทดแทนได้ก็เสียงบประมาณแผ่นดิน นอกจากนี้ในปีหน้าประเทศจีนจะขยายกำลังการผลิตล้อรถยนต์เพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นไม่ควรโค่นยางทิ้ง แต่ควรจัดสรรให้คนอยู่กับป่าโดยวางกฎระเบียบให้เข้มงวด

3.การแก้ปัญหาจำกัดส่งออก 3.5 แสนตัน โดยประเทศไทยรับภาระ 2.5 แสนตัน ที่เหลือเป็นของประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย ส่วนเวียดนามไม่เข้าร่วมด้วย ทำให้ไทยเสียตลาดให้กับประเทศเวียดนาม ส่งผลทำให้เดือนเมษายน 2561 มีสต็อกเพิ่มขึ้น จะทำให้ราคายางมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดีได้ข่าวว่าสมาคมยางพาราไทย จะทำหนังสือขอให้จำกัดส่งออกยางดิบเพิ่มขึ้น จึงคิดว่าไม่เป็นผลดีต่อชาวสวน

4.ไม่เห็นด้วยกับ กยท. จะให้สัมปทานให้เอกชนจัดเก็บเงินสงเคราะห์ หรือเงินเซสส์ เนื่องจากในร่างกฎหมาย มาตรา 49 วงเล็บ 2-6 ไม่สามารถนำเงินมาใช้จ้างเอกชนได้ ยกเว้น มาตรา 49 วงเล็บ 1 เท่านั้น

5.เห็นว่าควรยกเลิกบริษัทร่วมทุนกับ 5 เสือ และให้ตรวจสอบว่าขาดทุนเท่าไร ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่จ่ายเงินเซสส์รับทราบด้วย และควรนำ พ.ร.บ. กยท.มาตรา 10 วงเล็บ 6 จัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจยางพาราอย่างมืออาชีพ

6.การดำเนินงานของหน่วยธุรกิจ หรือบียู ของ กยท.ควรโปร่งใส่ ควรจะประมูลยางพร้อมกัน 6 ตลาด ไม่ควรปิดเป็นความลับ

rub2

7.ขอให้สั่งการให้ กยท.ดูตัวเลข อาทิ ราคาต้นทุนยางแผ่นดิบ จำนวนพืชที่ปลูกยาง ยางในสต็อก การใช้ยางในประเทศ การส่งออกยางไปต่างประเทศ ควรจะเป็นตัวเลขเปิดเผย เพื่อทุกคนจะได้นำไปวางแผนงานได้ไม่ผิดพลาด

8.ไม่เห็นด้วยที่จะให้ กยท.ดำเนินการจัดประมูลปุ๋ย แล้วเสนอให้ใช้ปุ๋ยสั่งตัด

9. เสนอให้ใช้พันธุ์ยาง RRIT 251,408 ซึ่งให้น้ำยางประมาณ 400 กิโลกรัม ต่อไร่ต่อปี ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนลง

10.รัฐควรใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น การใช้ฮอร์โมน เพื่อให้น้ำยางออกมาสัก 2-3 เท่า คนกรีดสามารถกรีดยางได้มากกว่าเดิม 2-3 เท่า

11.โครงการแก้ไขความยากจนแบบถาวร ตามมาตรา 49 วงเล็บ 2 สนับสนุนให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อการปลูกแทน อาทิ ควรกำหนดให้เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ 15 ไร่ (กรีดยาง 1 ครอบครัว) จะต้องปลูกยางไม่น้อยกว่า 40ต้นต่อไร่ และปลูกพืชร่วมยาง พืชแซมยาง ขุดสระ 1 ไร่ โดยไม่ตัดเงินสงเคราะห์ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และหมูหลุมและใช้สปริงเกอร์รดน้ำ คาดว่ายางไม่เกิน 5 ปี จะกรีดได้น้ำยาง 40 ต้นต่อไร่ ก็จะให้น้ำยางใกล้เคียงกับยาง 70 ต้นต่อไร่ ถ้าราคายางตกต่ำเกษตรกรชาวสวนยางจะไม่เดือดร้อน

12.โครงการทำอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางเป็นอาชีพเสริมรายได้

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

13.รัฐควรที่จะสนับสนุนมหาวิทยาลัยที่มีนวัตกรรมยางทุกภาค อาทิ ภาคกลาง ควรให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น เพียงแต่รัฐสนับสนุนงบประมาณห้องแล็บและเครื่องมือใช้อบรมเกษตรกร และให้มหาวิทยาลัยออกใบรับรองให้ ได้ในแต่ละภาค จะทำให้เกษตรกรไม่ต้องเดินทางไกล

14. ของบประมาณสร้างโรงรมควันยาง จำนวน 23 ล้านบาท ให้ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดระยอง จำกัด สามารถรมได้ 80 ตัน ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง โดยชุมนุมจะเป็นตัวแทนเกษตรกรไปซื้อที่ตลาดกลางภาคตะวันออก โดยจะไม่เอากำไรมากนัก

15.ภาคตะวันออก มีตลาดกลางยางพารา ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล 30 ล้านบาทมาสร้างเรียบร้อยแล้ว แต่ กยท. ไม่สามารถบริหารได้ จึงปล่อยให้รกร้าง ทาง เกษตรกรจึงไปขอร้องให้ อบจ.ระยองเข้ามาช่วยดำเนินการ 9 ปีเศษแล้ว มีผลกำไรสูงกว่า 6 ตลาด กยท. กว่า 558 ล้านบาท

นอกจากนี้นายเยี่ยม ยังได้ให้ สยยท.ประสานกับแกนนำยางทั่วประเทศ เพื่อระดมความคิดที่จะแก้ปัญหาราคายางตกต่ำในสัปดาห์หน้า และทาง สยยท.ได้มอบพระพุทธรูปเพื่อแสดงความยินดีที่เข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้พร้อมกับนายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว