"ข้าว-มัน" หายห่วง! "ยาง-ปาล์ม" อ่วม!

23 เม.ย. 2561 | 15:42 น.
230461-2214

ส่องสินค้าเกษตรไตรมาส 2 “ข้าว-มัน-ข้าวโพด” ดี๊ด๊าราคาดีต่อเนื่อง ... ‘ยางพารา’ รอมาตรการรัฐออกฤทธิ์ ลุ้นขยับ 60 บาท/กก. ... ‘ปาล์มน้ำมัน’ โวยรัฐไร้ฝีมือแก้ปัญหา ผลผลิตลดแต่ราคาไม่ขยับ เตรียมระดมพลประเมินสถานการณ์ จี้รัฐเร่งช่วยเหลือ ... ‘สับปะรด’ รอหวังครึ่งหลังโงหัว

ราคาสินค้าเกษตรถือเป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกรัฐบาลต้องตามแก้ไขและช่วยเหลือ เนื่องด้วยเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ (คนไทยอยู่ในภาคเกษตร 5.9 ล้านครัวเรือน) การขึ้น-ลงของสินค้าเกษตรจึงมีผลต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงภาระหนี้สินที่จะตามมา หากขายสินค้าได้ในราคาต่ำกว่าต้นทุน อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบพบว่า สินค้าเกษตรหลักที่ยังมีราคาที่ดีในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด และที่ราคายังไม่ดี เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสับปะรด เป็นต้น


rice

“ข้าว-มัน-ข้าวโพด” รุ่ง!
นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เวลานี้ ในส่วนของข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้น 15%) เฉลี่ยที่ 7,800-8,000 บาท/ตัน สูงกว่าไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ราคาเฉลี่ยที่ 7,600 บาท/ตัน ส่วนข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิราคาเฉลี่ยที่ 1.65-1.70 หมื่นบาท/ตัน สูงขึ้นจากไตรมาสแรกเช่นกัน แต่เวลานี้ข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ในมือเกษตรกรน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ขายออกไปหมดแล้ว และยังเหลืออยู่ในโครงการจำนำยุ้งฉางอีกเพียงกว่า 8 แสนตันเท่านั้น


GP-3359_180423_0017

“ราคาข้าวในไตรมาสที่ 2 เท่าที่ได้คุยกับโรงสีภาพรวมน่าจะใกล้เคียงกับไตรมาสแรก ในครึ่งปีหลังราคาก็คงไม่ต่ำไปกว่านี้ ส่วนจะดีขึ้นไปมากกว่านี้หรือไม่ ก็อยู่ที่ความต้องการของตลาดส่งออกและผลผลิตในประเทศไม่มากเกินไป”

นายบุญชัย ศรีชัยยงพาณิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ราคาหัวมันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้เวลานี้ 3.10-3.50 บาท/กก. สูงสุดในรอบ 3 ปี จากที่เกษตรกรขาดทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และหันไปปลูกพืชอื่น และส่วนหนึ่งจากผลผลิตเสียหาย เบื้องต้น ปีผลิต 2560/61 คาดจะมีผลผลิต 24-25 ล้านตัน จากปีผลิต 2559/2560 มีผลผลิต 30.9 ล้านตัน ราคาหัวมันในไตรมาส 2 น่าจะทรงตัวหรือสูงขึ้น เนื่องจากไม่มีหัวมันที่ครบอายุการเก็บเกี่ยวเหลือมาก

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

“โรงงานแป้งมันบางส่วนได้เริ่มหยุดผลิต ลานมันเส้นก็เกือบจะหยุดผลิต เพราะสู้ราคาโรงแป้งไม่ไหวจากโรงแป้งส่วนหนึ่งมีขายล่วงหน้า อีกส่วนหนึ่งต้องผลิตไว้เพื่อจัดส่งให้ลูกค้าประจำ ทำให้แข่งขันกันซื้อหัวมันที่ใกล้หมด และมีแนวโน้มที่จะขาดช่วงแบบไม่เคยเป็นมาหลายปีแล้ว”

ส่วนราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศถือว่าดี เฉลี่ยเวลานี้ 9.30-9.90 บาท/กก. จากความต้องการข้าวโพดของโรงงานอาหารสัตว์มีมาก และผลจากมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีของกระทรวงพาณิชย์ อัตรา 3:1 (นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เพื่อดันราคาข้าวโพดไม่ต่ำ 8 บาท/กก.)


apprubber

“ยาง-ปาล์ม-สับปะรด” อ่วม
นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ราคายางพาราในประเทศเดือน ม.ค. ปรับตัวดีขึ้นจากปลายปีที่แล้ว ราคาเดือน ก.พ. ถึง ณ ปัจจุบัน ยังทรงตัวเฉลี่ยยางทุกประเภทที่ 44-49 บาท/กก. ส่วนราคาในไตรมาส 2 จะดีขึ้นหรือไม่ ต้องรอดูมาตรการในการแก้ไขปัญหาราคายางของรัฐบาล ทั้งแผนหยุดกรีด 3 เดือน 3 ล้านไร่ การลดพื้นที่ปลูกและการเพิ่มการใช้ยางของส่วนราชการ จะทำได้จริงและบังเกิดผลได้เร็วแค่ไหน หากทำได้คาดราคายางในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้น และอาจได้เห็นที่ราคา 60 บาท/กก. จากเศรษฐกิจและความต้องการของตลาดโลกยังขยายตัว

ด้าน นายทวี ศรีสุคนธ์ นายกสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มประเทศไทย กล่าวว่า ปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้เวลานี้เฉลี่ย 2.55-2.90 บาท/กก. ถือว่าเกษตรกรขาดทุน เพราะมีต้นทุนเฉลี่ย 3.80 บาท/กก. มองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลไม่มีฝีมือในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็น การลดสต๊อกน้ำมันปาล์ม โดยการผลักดันการส่งออก หรือ ใช้ผลิตไบโอดีเซล จากเวลานี้เกษตรกรมีผลผลิตลดลงราคาน่าจะขยับขึ้น ตรงข้ามกับอินโดนีเซียที่มีพื้นที่ปลูกปาล์ม 30 ล้านไร่ มาเลเซีย 27 ล้านไร่ ส่วนไทยแค่ 4 ล้านไร่ แต่จากข้อมูลเวลานี้ผู้ปลูกปาล์มในมาเลเซียยังขายได้ถึง 4.20 บาท/กก. เร็ว ๆ นี้ ทางสมาคมจะประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ และนำเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมต่อรัฐบาล


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวถึงสับปะรดป้อนโรงงาน ว่า ไตรมาสแรกราคาเฉลี่ยที่ 3.80 บาท/กก. ณ ปัจจุบัน ราคายังไม่ดีขึ้น แนวโน้มไตรมาส 2 ราคาคาดจะอยู่ระดับใกล้เคียงกัน เพราะผลผลิตสับปะรดของคู่แข่งขันสำคัญ คือ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จะมีออกมามากเช่นเดียวกับไทย ส่งผลราคาสับปะรดกระป๋องส่งออกของไทยไม่สามารถขยับราคาขึ้นได้ และมีผลถึงราคาวัตถุดิบในประเทศ แต่ทั้งนี้หวังสถานการณ์ราคาครึ่งหลังจะดีขึ้น


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,359 วันที่ 22-25 เม.ย. 2561 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ส่งออกไตรมาสแรกโต 11.3% ... สูงสุดในรอบ 7 ปี คาดทั้งปี’ 61 อาจโตถึง 7%
ส่งออกไทยขยายตัวดีมูลค่าพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์มั่นใจทั้งปีโต8%


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว