ส่งออกไตรมาสแรกโต 11.3% ... สูงสุดในรอบ 7 ปี คาดทั้งปี’ 61 อาจโตถึง 7%

23 เม.ย. 2561 | 10:40 น.
ส่งออกไตรมาสแรกโต 11.3% ... สูงสุดในรอบ 7 ปี คาดทั้งปี’ 61 อาจโตถึง 7%

การส่งออกสินค้าไทยในเดือนมี.ค. 2561 มีมูลค่าอยู่ที่ 22,363 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หนุนการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัวร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการเติบโตรายไตรมาสที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปี โดยในเดือนมี.ค. 2561 แม้ว่าจะมีปัจจัยเรื่องฐานสูง แต่การขยายตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ขยายตัวดีจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงอานิสงส์จากการเร่งนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ผลิตจีนและสหรัฐฯ ก่อนมีการบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ก็เป็นปัจจัยบวกช่วยหนุนมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยให้ขยายตัวดี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลการเจรจาต่อรองระหว่างสหรัฐฯ และจีนน่าจะออกมาในทิศทางที่ดี ซึ่งก็น่าจะทำให้ภาพการค้าโลกมีความผันผวนลดลง ส่งผลดีต่อทิศทางการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2561 นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง และแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2561 ที่คาดว่าจะอยู่สูงกว่าที่ประเมินไว้ที่ 55 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล จะเป็นปัจจัยช่วยหนุนภาพการส่งออกไทยในปี 2561 ให้เติบโตได้สูงกว่าร้อยละ 4.5

 ส่งออกเดือนมี.ค. 2561 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในเดือนมี.ค. สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 22,362.8 ล้านดอลลาร์ฯ หรือขยายตัวร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักๆ ยังมาจากโมเมนตัมการขยายตัวที่ต่อเนื่องและแข็งแกร่งของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ช่วยหนุนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมให้ขยายตัวดี อาทิ อาหารทะเล ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อุปกรณ์และส่วนประกอบยานพาหนะ เป็นต้น ซึ่งการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนการส่งออกของไทยตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนมี.ค. ที่โตสูงยังได้ผลบวกมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. อานิสงส์จากการเร่งนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ผลิตจีนและสหรัฐฯ แม้ในเดือนมี.ค ที่ผ่านมา ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยไปจีนจะหดตัวร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากการลดลงของการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางเป็นสำคัญ แต่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปจีนกลับเติบโตได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 21.9 YoY สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยไปยังสหรัฐฯ ที่สูงถึงร้อยละ 30.2 YoY สะท้อนให้เห็นถึงการเร่งนำเข้าของผู้ผลิตจีนและสหรัฐฯ ก่อนที่สหรัฐฯ จะมีการบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนจำนวน 1,333 รายการ ครอบคลุมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงเดือนพ.ค. 2561 ซึ่งเป็นไปตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ว่าจีนและสหรัฐฯ จะมีการเร่งนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากไทยก่อนสหรัฐฯ จะมีการบังคับใช้มาตรการทางภาษีศุลกากรกับจีน

ทั้งนี้ สหรัฐฯ และจีนกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาต่อรองทางการค้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สหรัฐฯ และจีนน่าจะสามารถตกลงและหาข้อยุติที่เป็นทางออกร่วมกันได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบโต้ทางการค้ากันไปมา ซึ่งจะนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างกันในที่สุด นั่นหมายถึง จีนอาจจะต้องมีการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อทำให้มูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯกับจีนลดลง ในขณะที่การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราร้อยละ 25จำนวน 1,333 รายการ ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 พ.ค. 2561 จะยังคงมีอยู่ แต่อาจจะไม่มีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมอีกมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ฯ

ซึ่งจากกรณีดังกล่าว จะมีผลให้การมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจีนและสหรัฐฯ ที่เติบโตในระดับสูงมากคงเป็นเพียงปัจจัยในระยะสั้น โดยการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจีนและสหรัฐฯ ในระยะถัดไปน่าจะผ่อนแรงลงจากการเร่งตัวในระดับสูงในเดือนมี.ค. แต่ผลจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้นก็ยังจะเป็นแรงหนุนให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในปี 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.7-8.8 ต่อปี

2. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ช่วยหนุนการส่งออกสินค้าที่มีราคาเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย โดยการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป, เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติกขยายตัวร้อยละ 49.0, 18.9 และ 15.8 ตามลำดับ

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลการเจรจาต่อรองระหว่างสหรัฐฯ และจีนน่าจะออกมาในทิศทางที่ดี และหาข้อสรุปทางด้านการค้าร่วมกันได้ ซึ่งก็น่าจะทำให้ภาพการค้าโลกมีความผันผวนลดลง ส่งผลให้เส้นทางการส่งออกของไทยในช่วง 8-9 เดือนที่เหลือของปี 2561 เติบโตเป็นบวกต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2561 ที่คาดว่าจะอยู่สูงกว่าที่ประเมินไว้ที่ 55 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล หนุนให้ภาพการส่งออกไทยในปี 2561 เติบโตได้สูงกว่าร้อยละ 4.5 ซึ่งถ้าการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นไปด้วยดีในช่วงการเยือนปักกิ่งของรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ก็น่าจะทำให้การส่งออกของไทยในปี 2561 ขยายตัวเข้าสู่กรอบบนที่ร้อยละ 7.0 (กรอบประมาณการอยู่ที่ร้อย 2.0-7.0) kb04223 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว