​​กนอ.จัดสรรพท.รับดีมานด์อีอีซีสู่เขตส่งเสริมอุตฯคาดเงินลงทุนกว่า 1.3 ล้านล้านบาท

23 เม.ย. 2561 | 09:39 น.
กรุงเทพฯ 23 เมษายน 2561 – การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผย 21 นิคมอุตสาหกรรม ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม สำหรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อให้แต่ละนิคมฯ ในพื้นที่ EEC กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมกันนี้การลงทุน ในพื้นที่ EEC กนอ. ได้จัดเตรียมพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ สามารถรองรับการลงทุนของนักลงทุนได้ทันทีใน 14 นิคมฯ รวมพื้นที่กว่า 11,000 ไร่

นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มีนิคมฯ ในกำกับของ กนอ. จำนวน 31 แห่ง รวมพื้นที่ 113,000 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้ มีนิคมฯ ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแล้วจำนวน 21 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 86,775 ไร่ เป็นพื้นที่ลงทุน 28,666 ไร่ หรือคิดเป็น ร้อยละ 70 ของพื้นที่นิคมฯ ในเขต EEC ทั้งหมด ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถรองรับวงเงินลงทุนได้ 1.31 ล้านล้านบาท โดย กนอ.ได้จัดสรรพื้นที่ 21 นิคมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายประเภทต่างๆไว้ดังนี้

atpol

• นิคมฯ ในจังหวัดระยองจำนวน 8 แห่ง รองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ / อุตสาหกรรมการบินและชิ้นส่วน / อุตสาหกรรมไฮเทค อิเล็กทรอนิกส์ / อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร / อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ / อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

• นิคมฯ ในจังหวัดชลบุรี จำนวน 12 แห่ง รองรับอุตสาหกรรมไฮเทค อิเล็กทรอนิกส์ / อุตสาหกรรมดิจิตอล / อุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต และเมืองวิทยาศาสตร์

• นิคมฯ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 1 แห่ง รองรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ / อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนพลาสติก เพื่อเป็นส่วนประกอบในรถยนต์ และโลจิสติกส์

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

โดยวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อต้องการให้แต่ละนิคมฯ มีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาพื้นที่ในนิคมฯ ให้มีความทันสมัย เช่นจัดทำเขตนวัตกรรม หรือเขตนวัตกรรมดิจิทัล ฯลฯ และส่งเสริมให้แต่ละ นิคมฯ จัดทำโครงการเพื่อรองรับการประกอบอุตสาหกรรมที่มีการจัดสรรที่ดิน เพื่อขายหรือเช่าให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ สำหรับการเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ในพื้นที่ EEC กนอ. ได้จัดเตรียมพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ สามารถรองรับการลงทุนของนักลงทุนได้ทันทีใน 14 นิคมฯ กว่า 11,000 ไร่ และในอนาคต กนอ. จะมีการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีกประมาณ 15,000 ไร่ และส่วนพื้นที่ที่เหลือจะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมนอก กนอ. ที่อยู่ในการส่งเสริมของ BOI หรือ อยู่ในเขต/สวนอุตสาหกรรมซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในระดับต่างๆ ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม นายอัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว