เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ | 'ผู้สูงวัย' กับปัญหาการเล่นพนัน

23 เม.ย. 2561 | 06:28 น.
230461-1316

… เป้าหมายหนึ่งที่ปรากฏในแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ที่ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2561 คือ คนไทยมีหลักประกันทางรายได้ในวัยเกษียณที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ

ในเอกสารได้กล่าวถึงสถานการณ์และแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2561 ประชากรสูงวัยมีสัดส่วนเท่ากับสัดส่วนของประชากรวัยเด็ก แต่สัดส่วนของประชากรสูงวัยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ สัดส่วนของประชากรวัยเด็กกลับมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกัน ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2564 ดัชนีสัดส่วนของผู้สูงวัยต่อสัดส่วนของประชากรวัยเด็กจะอยู่ที่ระดับ 120% ซึ่งค่าดัชนีนี้นักประชากรศาสตร์ถือว่าเป็นจุดที่แสดงให้เห็นว่า โครงสร้างประชากรไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์


20180408_180423_0036

สำหรับประเทศในอาเซียนแล้ว สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และประเทศไทยกำลังเป็นประเทศที่ 2 แต่เมื่อเปรียบเทียบกันจะเห็นได้ว่า สิงคโปร์พัฒนาเศรษฐกิจโดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงต่อเนื่อง จนรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วหรือกลุ่มประเทศมีรายได้สูง แต่ประเทศไทยยังติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง รายได้เฉลี่ยต่อประชากรในสิงคโปร์สูงกว่าประเทศไทยประมาณ 10 เท่าตัว ดังนั้น การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วของประเทศไทยจึงถูกเรียกว่า แก่ก่อนรวย

ในเอกสารการปฏิรูปได้ระบุว่า ประชากรไทยโดยเฉลี่ยแล้ว มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายตลอดช่วงชีวิต เพราะมีการออมในระดับต่ำส่งผลต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตในวัยสูงอายุ ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุไว้ในเอกสารฉบับนี้ว่า ผู้สูงอายุ 24% ไม่มีเงินออม นอกจากนี้ ข้อมูลในปี 2560 ยังพบว่า การออมของครัวเรือนโดยเฉลี่ยลดลง แต่หนี้สินเฉลี่ยสูงขึ้น


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

ดังนั้น เป้าหมายหลักของการปฏิรูปที่เกี่ยวข้องกับประเด็นผู้สูงวัย คือ การทำให้เกิดการออมในรูปแบบการออมภาคบังคับและการออมโดยสมัครใจในช่วงวัยทำงาน โดยตั้งเป้าว่า เมื่อเกษียณแล้ว ควรจะมีเงินบำนาญไม่น้อยกว่า 30% ของรายได้ก่อนเกษียณ โดยมาตรฐานสากลอยู่ที่ 40% ดังนั้น งานการปฏิรูป คือ การผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญในรูปแบบการออมภาคบังคับ และการปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากสวัสดิการต่าง ๆ ให้เหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้น

สำหรับผู้สูงวัยแล้ว ปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตหลังเกษียณคงเป็นปัญหาสำคัญอันดับแรก ๆ แต่ชีวิตที่เปลี่ยนไป กิจกรรมในแต่ละวันที่เปลี่ยนไป และสุขภาพที่เปลี่ยนไป ย่อมทำให้ผู้สูงวัยต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตตัวเองมากพอสมควรและยังคงเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย


07-3359

ในรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันของคนไทยในปี 2560 ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบว่า ผู้สูงวัยเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการเล่นพนันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2558 มีสัดส่วนของผู้เล่นพนันในกลุ่มสูงวัยอยู่ที่ 60% ของประชากรสูงวัย แต่ในปี 2560 สัดส่วนของผู้เล่นพนันในกลุ่มสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็น 63% หรือคิดเป็นจำนวนประชากรประมาณ 3.3 ล้านคน โดยการพนันที่กลุ่มนี้ชอบเล่น 5 อันดับแรก คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน ไพ่ วัวชน/ตีไก่/กัดปลา และมวย/มวยตู้

เมื่อให้ประเมินตนเองว่า ติดพนันหรือไม่ ผู้เล่นพนันในกลุ่มสูงวัยกว่า 5 แสนคน ยอมรับว่า ตนเองติดพนันคิดเป็น 15% ของกลุ่มผู้สูงวัยที่เล่นพนัน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ประเมินตนเองว่า ติดพนันสูงกว่าผู้เล่นพนันกลุ่มอื่น ๆ และอีกประมาณ 5 แสนคนของกลุ่มผู้สูงวัยที่เล่นพนัน ยังไม่แน่ใจว่า ตนเองติดพนันหรือไม่ พฤติกรรมเหล่านี้แตกต่างจากการศึกษาเมื่อ 15 ปีที่แล้ว พบว่า ผู้สูงวัยมีแนวโน้มเล่นพนันน้อยลง

230461-1313
เมื่อประเมินสภาพปัญหาจากการเล่นพนันโดยใช้เครื่องมือประเมินพฤติกรรมการเล่นพนันที่เป็นปัญหา พบว่า มีนักพนันสูงวัยที่เล่นพนันจนถึงระดับที่เป็นปัญหาประมาณ 24,000 คน และที่มีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นนักพนันที่มีปัญหาอีกประมาณ 1.6 แสนคน โดยปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของการเล่นพนัน คือ ปัญหาหนี้สิน ผู้เล่นพนันสูงวัยประมาณ 1.2 แสนคน มีหนี้สินจากการพนัน โดยจำนวนหนี้พนันของกลุ่มนี้รวมกันประมาณ 1.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นหนี้สินเฉลี่ยต่อหัวประมาณ 12,700 บาทต่อคน นอกจากปัญหาหนี้สินแล้ว ผู้เล่นพนันกลุ่มนี้ยังระบุปัญหาผลกระทบเชิงลบอื่น ๆ จากการพนัน ได้แก่ ปัญหาความเครียด ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีปากเสียงทะเลาะกับคนในครอบครัว และสุขภาพเสื่อมโทรม

เมื่อสำรวจงานวิจัยในต่างประเทศในปัญหาดังกล่าว งานวิจัยในหลายประเทศพบปัญหาของผู้เล่นการพนันสูงวัยในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือ สัดส่วนจำนวนผู้สูงวัยที่เล่นการพนันต่อประชากรสูงวัยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย เป็นต้น ในปี 2557 เกือบครึ่งของผู้เข้าเล่นกาสิโนในประเทศสหรัฐอเมริกา มีอายุ 50 ปีขึ้นไป


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

งานวิจัยชี้ว่า การเล่นพนันที่มากขึ้นมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายใน ได้แก่ เวลาว่างที่เพิ่มมากขึ้น การเข้าหรือมีกิจกรรมทางสังคมน้อยลง ความรู้สึกเศร้า/หดหู่จากการสูญเสียคู่ชีวิตหรือเพื่อน และภาวะความเจ็บป่วยเรื้อรัง ส่วนปัจจัยภายนอกที่ส่งเสริมการเล่นพนัน ได้แก่ ความสามารถในการเข้าถึงการพนันทำได้ง่ายขึ้นจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมกาสิโนในพื้นที่ที่กลุ่มผู้สูงวัยอาศัยอยู่ การส่งเสริมการขายของกาสิโนเหล่านี้ เช่น อาหารกลางวันฟรี มีรถรับ-ส่ง  และการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ ที่กาสิโนจัดขึ้น เป็นต้น

แม้ว่าประเทศไทยจะให้การพนันส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย แต่ก็จะสามารถพบเห็นการพนันที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ได้โดยทั่วไปเช่นกัน สำหรับการพนันที่ถูกกฎหมาย เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล ได้กลายเป็นการพนันที่มีคนเล่นมากที่สุด จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณสลากกินแบ่งเป็นเท่าตัวในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เกิดการกระตุ้นตลาดโดยการรวมชุดเพื่อขายเกินราคา และตามด้วยคดีสลากกินแบ่งมูลค่า 30 ล้านบาท หาย ที่ทำให้เกิดคดีที่มีการรายงานข่าวต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 4 เดือน ก็ยังไม่จบ สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ยังมีข้อเสนอจะรวมชุดเอง เพื่อแก้ปัญหาสลากเกินราคา

 

[caption id="attachment_276819" align="aligncenter" width="503"] © Pixabay © Pixabay[/caption]

ควรถึงเวลาแล้วที่สำนักงานสลากกินแบ่งฯ จะต้องทบทวนตัวเองว่า จะแก้ปัญหาโดยการกระตุ้นตลาดการพนันให้เพิ่มมากขึ้น แล้วผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะแก้กันอย่างไร ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ


……………….
คอลัมน์ : เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.สถาบันเอเชียศึกษา และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,359 วันที่ 22-25 เม.ย. 2561 หน้า 17

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นายกฯขอคนไทยดูเเลผู้สูงวัยในบ้านเล่นสงกรานต์เเบบไทย
นายกฯขายตรงตั้งเป้าโต 5%เทรนด์สังคมผู้สูงวัยรักสุขภาพกระตุ้นตลาด

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว