ทางออกนอกตำรา : "ทรู-เอไอเอส" เสือ 2 ตัว อยู่ถ้ำเดียวกัน (ไม่) ได้

23 เม.ย. 2561 | 05:04 น.
255645

สำนวนโบราณว่าไว้ “เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้”

เพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าตนเองเก่งกาจ พยายามเป็นใหญ่ในถ้ำให้รู้กันไปว่าตัวไหนจะดุร้ายและมีกำลังมากกว่ากัน ต้องต่อสู้กันให้แพ้ชนะข้างหนึ่ง

“คนมีอำนาจ บารมี อิทธิพล พอๆ กันย่อมอยู่ร่วมกันไม่ได้”

เมื่อนำมาใช้เปรียบเทียบบุคคลที่อยู่ร่วมกันทำงานร่วมกัน แต่ละคนต่างชิงดีชิงเด่นว่า ตนเองเก่งกว่าใคร จนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้...ผมเห็นว่า จริงในบางเรื่องและอาจไม่จริงในบางเรื่อง

“เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้” เกิดขึ้นจริงๆ ณ การกีฬาแห่งประเทศไทย

เรื่องมีอยู่ว่า มูลค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2018 (2561) ที่มีราคาเพิ่มขึ้น 3 เท่า หรือมีมูลค่าสูงถึง 1,100-1,200 ล้านบาท เทียบกับครั้งก่อนที่ทางกลุ่มอาร์เอสได้มา 800-900 กว่าล้านบาท ทำให้ไม่มีทีวีช่องใดสนใจที่จะลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ บวกกับ กสทช.ออกกฎ MUST HAVE ให้คอนเทนต์ฟุตบอลโลกออกอากาศทางช่องฟรีทีวีเท่านั้น

ทำให้เอกชนที่ซื้อลิขสิทธิ์ ไม่สามารถทำกำไรได้ตามกลไกของตลาด หรือไม่สามารถทำรายได้จากสปอนเซอร์ได้

ครั้นทีวีจะรวมตัวกันเพื่อเข้าซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2018 ก็เป็นไปได้ยาก เพราะเป็นคอนเทนต์ที่มีต้นทุนสูง แต่เม็ดเงินโฆษณาต่ำ  ลูกค้าชะลอใช้งบโฆษณา “ฟุตบอลโลก 2018” จึงไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ

ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย และกสทช. พยายามแล้วพยายามอีกตั้งแต่ปลายปี 2560 ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

กระทั่งได้ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มานั่งหัวโต๊ะ เรื่องก็ทำท่าจะจบเดือนมกราคม 2561 ประกาศชัดว่า “คนไทยได้ดูบอลโลกฟรี” เพราะมีเอกชน 7-8 รายร่วมใจกันสมทบเงินเข้าประมูลลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดให้คนไทยได้ดูบอลฟรี

“เทพ 7 ราย” ประกอบด้วย  กลุ่มคิงเพาเวอร์ ของเจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา ที่มอบภารกิจนี้ให้ “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” เป็นคนตัดสินใจ

เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี มอบ “ภัคพล งามลักษณ์” รองประธานอาวุโส เป็นผู้ดำเนินการเจรจา และ มอบ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้ตัดสินใจ

กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) งานนี้ “เสี่ยหนุ่ม” ฐาปน สิริวัฒนภักดี รับปากตัดสินใจเองโดยตรง

บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอส) เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์ รับปาก

บริษัท กัลฟ์ อิเลคทริก จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ของเสี่ยกลาง-สารัชถ์ รัตนาวดี เจ้าพ่อโรงไฟฟ้าของไทย

บริษัท เอไอเอส ค่ายมือถือใหญ่ที่คุมตลาดในเมืองไทย มีฐานลูกค้ากว่า 40 ล้านเลขหมาย เป็นรายต่อมา

มีรัฐวิสาหกิจไทย 2 ราย พร้อมยื่นมือเข้ามา คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

นี่จึงเป็นที่มาของคำยืนยันจากปาก พล.อ.ประวิตร ว่า “ขอยืนยัน 100% ว่าคนไทยได้ดูการถ่ายทอดฟุตบอลโลกฟรี 64 นัดแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2561 การเจรจาหาทุนมาลงขัน เริ่มเสียงแตก มีการเสนอว่า การนำ ปตท.-สลากกินแบ่งรัฐบาลมาใช้งานอาจทำให้ดูเหมือนรัฐถลุงเงินรัฐวิสาหกิจเกินไป จึงมีการเจรจากับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เข้ามาแทนที่ ทุกอย่างดูเหมือนจะลงตัวว่า จะลงขันกันรายละ 200 ล้านบาท ได้เงินไป 1,400 ล้านบาท ไปซื้อลิขสิทธิ์

แต่เสือ 2 ตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ “ทางกลุ่มซีพีและทรู” มองเกมการใช้คอนเทนซ์ในมือถือช่วงมหกรรมฟุตบอลโลกแล้ว เห็นโอกาสในการขยายจำนวนผู้ใช้จาก 28-29 ล้านเลขหมายเป็น 30 ล้านเลขหมายได้ไม่ยาก จึงประกาศชัดว่า การสนับสนุนฟุตบอลโลก ถ้ามี “ทรูต้องไม่มี เอไอเอส” ถ้า “มีเอไอเอส ต้องไม่มีทรู”

เป็นงัยละมึนตึ้บสิครับ แต่ทางคิงเพาวเวอร์ และทางกกท.พลิกเกมทัน อาศัยใบบุญจาก “เจ้าพ่อกีฬา” ไปเจรจากับทาง “เสี่ยปั้น”-บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ได้ทันท่วงที งานนี้จึงมี “เซอร์ไพรส์”เมื่อ KBANK ร่วมลงขัน โดยเข้าแทนที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส โดยที่ผู้ร่วมสมทบทุนยังงงว่า KBANK มาได้อย่างไร

ส่วนทีวีดิจิทัลที่ถ่ายทอดตอนนี้ “ล็อกคอกันเนียนสุด” 4 ช่อง ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มทีวีของเจ้าสัวที่ร่วมลงขันทั้งสิ้น กลุ่มบริษัทซีพีและทรูขอใช้ ช่อง TNN24 และ True4You ถ่ายทอดฟุตบอลโลกที่รัสเซีย

กลุ่มเจ้าสัวเจริญขอใช้ช่อง AmarinTV และ GMM 25 ที่เครือไทยเบฟเวอเรจเข้าไปถือหุ้นใหญ่  ว่ากันว่า กำลังรวมพลังถีบช่อง 3 พ้นไฮไลต์....

เห็นมั้ยละครับว่า “คนมีอำนาจ บารมี อิทธิพล พอๆ กันย่อมอยู่ร่วมกันไม่ได้ เสือ 2 ตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้เป็นอย่างไร”

แต่บางเรื่อง “เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันได้” จริงๆ เรื่องนี้ เกิดขึ้น ณ ซอยสายลม ถนนพหลโยธิน

ผู้บริหารบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ ทียูซี บริษัทในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น และผู้บริหารบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น บริษัทในเครือแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ร่วมกันลงนามในหนังสือฉบับเดียวกัน ยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอผ่อนผันการชำระค่างวดเงินประมูลคลื่นในย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จากเดิมต้องจ่ายงวดสุดท้ายในปี 2563 จำนวน 60,218 ล้านบาท และ 59,574 ล้านบาท มาเป็นทยอยจ่าย 5 งวด จนถึงปี 2567

ผมย้ำนะครับว่า หนังสือที่ยื่นไปนั้นลงนามโดยผู้บริหารของ 2 บริษัทมือถือ ที่ปกติแล้วไม่ปรากฏว่าเคยมี แต่ครั้งนี้ลงนามร่วมกันของ 2 บริษัท ไม่รู้ว่าจะลงเลขหรือที่มาของบริษัททรู หรือบริษัทเอไอเอสดี จนบัดนี้ยังมึนตึ้บ...

เมื่อมีเสียงค้านอันหนักหน่วง แทบไม่น่าเชื่อ เสือ 2ตัว จะออกจากถ้ำมาคำรามยืนกรานในถ้อยแถลงการณ์ที่เหมือกันเปี๊ยบว่า เหตุผลที่ขอผ่อนผันชำระค่างวด ไม่ได้ขอลดจำนวนเงินค่าประมูล แต่ขอความช่วยเหลือเพื่อขยายจำนวนงวดชำระงวดสุดท้าย โดยมีหลักประกันธนาคารให้แก่ กสทช. ครบถ้วน ตามมูลค่าที่ต้องชำระ

ดังนั้น การขอแบ่งชำระไม่ได้ผิดนัดการชำระแต่อย่างใด จนต้องคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยค่าปรับ 15% หรือ ทำให้รัฐเสียประโยชน์จากการผิดนัด นอกจากนี้ หากบริษัทต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาชำระค่าคลื่นดังกล่าว ภาระดอกเบี้ยกู้เงินจะอยู่ที่ประมาณ 3-4% เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (1.5%) ไม่ได้เป็นตัวเลขความเสียหายของรัฐจำนวนสูงตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

เสือจึงอยู่ถ้ำเดียวกันได้หากประโยชน์ร่วมกัน....ถึงขนาดใช้ถ้อยแถลงเดียวกัน ออกมาคำรามให้ฝูงสัตว์ในป่ารู้ว่า ถิ่นของข้า ใครอย่าเตะ..

....................................
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา| หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3358 ระหว่างวันที่ 19-21 เม.ย.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว