2 ก.ม.เลือกตั้ง รอศาลชี้ชะตา!

22 เม.ย. 2561 | 05:32 น.
ในที่สุด 2 ร่างกฎหมายลูกเพื่อการเลือกตั้ง ก็ถูกส่งไปชี้ชะตาในมือศาลรัฐธรรมนูญ โดย นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เผยว่า ขณะนี้มี สนช. 25 คน ลงชื่อ เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้ว

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ดีกว่าปล่อยไว้จนกฎหมายบังคับใช้ แล้วมีผู้ไปยื่นตีความภายหลัง อาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ สนช. สามารถยื่นตีความได้ ตราบใดที่นายกฯ ยังมิได้นำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ และไม่จำเป็นต้องรอนายกฯ ตีกลับร่างกฎหมายมาที่ สนช.


กราฟิคไทม์ไลน์เลือกตั้ง-ส.ส

ทำให้ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้าย ต้องไปรอชี้ชะตาในศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจใช้เวลาพิจารณา 45-90 วันจากนี้ โดยที่กฎหมายลูก 8 ฉบับ จาก 10 ฉบับ ที่เหลือนั้น สถานะถึงเวลานี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว 7 ฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ คือ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. สนับสนุนการยื่นตีความของ สนช. ว่า เป็นเรื่องดี และเป็นสิทธิของสมาชิก ถ้ายังติดใจกังวลใจว่า จะเกิดปัญหาในอนาคต ก็ยอมเสียเวลาตรงนี้เพื่อให้ตกผลึกในทุกประเด็น ส่วนจะกระทบโรดแมปเลือกตั้งหรือไม่นั้น ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน และขอความร่วมมือศาลรัฐธรรมนูญเร่งรัดการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ก็ไม่น่ากระทบ ขณะเดียวกัน ในส่วนของการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ก็อาจกระชับเวลาไม่ต้องถึง 150 วัน ก็จะเป็นเรื่องดี เพื่อชดเชยเวลาที่เสียไปในขั้นตอนนี้

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

หลังจากนี้ ประธาน สนช. จะตรวจรายชื่อ สนช. เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 เม.ย. ทำให้ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้าย ต้องไปรอชี้ชะตาในศาลรัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้ สนช. เข้าชื่อส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มา ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. เพื่อให้วินิจฉัยเช่นกัน โดยล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับไว้พิจารณาและให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงภายในวันที่ 18 เม.ย.

ก่อนหน้านี้ สนช. ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แม้จะมีเสียงทักท้วงจากหลายฝ่าย รวมทั้ง กรธ. จึงส่งร่างให้นายกฯ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ หรือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเอง แต่ท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เชิญนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. หารือที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่ 25 สนช. จะเข้าชื่อยื่นตีความดังกล่าว

 

[caption id="attachment_276628" align="aligncenter" width="503"] พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. พรเพชร วิชิตชลชัย
ประธาน สนช.[/caption]

การยื่นร่าง พ.ร.ป.ที่มา ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ อาจไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง ที่กำหนดเป็นเดือน ก.พ. 2562 หากมีคำวินิจฉัยว่า ไม่ขัดภายใน 90 วัน เพราะมาตรา 2 ของกฎหมายลูกการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น ขยายเวลาให้กฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 90 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่เมื่อส่งร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย ขยายเวลาการออกกฎหมายลูกออกไป ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะใช้เวลาเพียงใด ทำให้โรดแมปการเลือกตั้งอาจต้องขยับออกไป


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,353 วันที่ 1-4 เม.ย. 2561 หน้า 16
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"มีชัย" เชื่อ "ปีหน้ามีเลือกตั้ง" มั่นใจพรรคเกิดใหม่ เป็นทางเลือกให้ปชช.
พรรคการเมืองประสาน ขอคุยรบ.-คสช.ก่อนเดือนมิ.ย. “บิ๊กตู่” ย้ำ ไม่ต้องการขยับโรดแม็พเลือกตั้ง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว