กรมบังคับคดีแจงผลงานQ2 ปีงบ61เร่งดันทรัพย์สินได้กว่า 3.5หมื่นล.

22 เม.ย. 2561 | 04:54 น.
กรมบังคับคดีแจงผลงานไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2561 สามารถเร่งผลักดันทรัพย์สินได้กว่า 35,275 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีให้กับลูกหนี้สำเร็จไปแล้วกว่า 6,954 รายและดำเนินงานด้านต่าง ๆ เพื่ออำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เผยถึงผลการดำเนินงานของไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยกรมบังคับคดีได้เน้นการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาล นโยบายและหลักการบริหารงานที่สำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และการดำเนินงานที่ “เป็นธรรม ง่าย สะดวก และรวดเร็ว” รวมถึงมุ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาไปสู่ LED - Thailand 4.0 สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีดังนี้

1. ด้านการเสริมสร้างสภาพคล่องและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้ดำเนินการตามแผน “2 เร่ง” คือ เร่งรัดการประชุมกำหนดราคาทรัพย์ และเร่งรัดการประกาศขายทอดตลาด เพื่อเร่งผลักดันทรัพย์สินรอการขายของกรมบังคับคดี ในไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สามารถผลักดันทรัพย์สินได้เป็นเงินจำนวน 35,275,434,885 บาท คิดเป็นร้อยละ 32.07 ของเป้าหมายจำนวน 110,000,000 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ในไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สามารถผลักดันทรัพย์สินได้สูงกว่า คิดเป็นร้อยละ 11.10 ตลอดจนการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้าสนับสนุนการผลักดันทรัพย์ จัดขายทอดตลาดในวันหยุดราชการ จัดมหกรรมขายทอดตลาดนอกสถานที่ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผลการขายทอดตลาดรวม 4 นัด สามารถขายได้ 146 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,527,376,000 บาท ซึ่งราคาขายได้สูงกว่าราคาประเมิน คิดเป็นร้อยละ 83.58

pew4

การจัดมหกรรมขายทอดตลาดในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผลการขายทอดตลาดรวม 2 นัด สามารถขายได้ 250 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 438,677,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาประเมิน คิดเป็นร้อยละ 39.99 ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายใหม่ ได้เข้าร่วมประมูลซื้อทรัพย์ ทำให้มีนักลงทุนสนใจทรัพย์สินของกรมบังคับคดีมากยิ่งขึ้น

2. ด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี ภายใต้กลยุทธ์การไกล่เกลี่ย “เชิงรุก เชิงลึก และครอบคลุม” และได้ประสานเจ้าหนี้กลุ่มใหม่และจัดมหกรรมการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 6,954 เรื่อง ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 พบว่าจำนวนทุนทรัพย์ที่สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 คิดเป็นร้อยละ 8.72 และได้มีการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีร่วมกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ..) จำนวน 12 ครั้ง ในพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยะลา เบตง ปัตตานี กระบี่ สตูล สงขลา นาทวี พังงา ตะกั่วป่า กาฬสินธุ์ และระนอง

ซึ่งมีผลการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 1,930 เรื่อง ทุนทรัพย์ 220,315,184 บาท คิดเป็นร้อยละความสำเร็จ 98.92 % นอกจากนี้ ได้มีการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีร่วมกับกยศ. ณ จังหวังหวัดกาฬสินธุ์ ตามโครงการกาฬสินธุ์ happiness 2019 ซึ่งมีลูกหนี้เข้าร่วมไกล่เกลี่ย จำนวน 488 ราย สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จจำนวน 476 ราย ทุนทรัพย์จำนวน 28,246,824.08 บาท คิดเป็นไกล่เกลี่ยสำเร็จในอัตราร้อยละ 97.54 และในระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2561 มีกำหนดจัดอีก 24 ครั้ง

3. ด้านการบริหารการจัดการคดี (Case Management) กรมบังคับคดีมีการกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการคดี ได้แก่ 1.) กำหนดระยะเวลาในการจัดทำบัญชีรับ-จ่าย ภายใน 45 วัน 2.) ปรับปรุงการอายัดทรัพย์สิน โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ธุรการปฏิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 เป็นต้นไป และ3.) มีการกำหนด KPI เพื่อเร่งดำเนินการคดีค้าง 10 ปี สามารดำเนินการเสร็จร้อยละ 14.55

4. ด้านการสร้างความรับรู้ทางกฎหมายและการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย กรมบังคับคดีได้จัดทำคู่มือกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับเกษตรกรและประชาชน เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจทางกฎหมายให้กับเกษตรกรและประชาชน ประกอบด้วยเนื้อหาเรื่องการซื้อขาย การกู้ยืมเงิน การเช่าทรัพย์ การค้ำประกัน จำนอง จำนำ และการขายฝาก สาระสำคัญง่ายต่อการทำความเข้าใจ ระบุข้อพึงระวัง และยกตัวอย่างกรณีศึกษาประกอบการอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น

pew2

นอกจากนี้ ได้มีการลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับเรื่องราวร้องทุกข์ และให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพชรบุรี บึงกาฬ และกาฬสินธุ์ รวมถึงสำนักงานบังคับคดีจังหวัดทั่วประเทศยังได้ร่วมกับยุติธรรมจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่สร้างความรับรู้ทางกฎหมายและการให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชนแล้วในพื้นที่หลายทั่วประเทศ เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนจากความไม่รู้กฎหมายให้กับประชาชน ตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

5. ด้านการบูรณาการทำงานและการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยภาครัฐและเอกชนไปแล้วจำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และพิพากษาล้มละลาย 2.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล การจัดทำมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีและการเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลล้มละลาย และ3.) บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลล้มละลาย

6. ด้านการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัย มีมาตรฐานสากล และให้การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตามที่กรมบังคับคดีได้มีการเสนอร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบกระทรวงในปีงบประมาณ 2560 ในไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 มีผลบังคับใช้วันที่ 3 มีนาคม 2561 ได้มีประกาศอธิบดีกรมบังคับคดีทางเว็บไซต์กรมบังคับคดี เรื่อง กำหนดสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะเพื่อโฆษณาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล หรือประกาศหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย

นอกจากนี้ ได้จัดให้มีการบรรยายเพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561 แก่เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีจำนวน 936 คน และมีการบรรยายเพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 10)พ.ศ. 2561 แก่ประชาชน ไปแล้วจำนวน 2 รุ่น จำนวน 462 คน นอกจากนี้ กรมบังคับคดีได้ร่วมกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ในการหารือการเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลล้มละลายทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตรวจสอบและรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

7. การจัดตั้งสถาบันวิชาชีพบังคับคดีแพ่งและล้มละลาย หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Unit : SDU ) เพื่อให้บริการด้านการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับการบังคับคดีให้แก่บุคลากรของกรมบังคับคดี เพื่อพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพ และให้ความรู้กฎหมาย ฝึก อบรม กับประชาชนทั่วไปหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการจัดหลักสูตรเพื่อการฝึกอบรมเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน เพื่อให้สอดรับการถ่ายโอนงานภารกิจของกรมบังคับคดีในเรื่องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

โครงการศึกษาแนวทางและรูปแบบการบริหารจัดการ โดยมีกำหนดเปิดสถาบันเพื่อการบังคับคดีประมาณ
เดือนพฤษภาคม 2561 นอกจากนี้ กรมบังคับคดีได้รับเลือกให้เป็นหน่วยงานนำร่องการพัฒนาและการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ ( Sandbox) ในการเป็นหน่วยราชการ 4.0 จากคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนระบบราชการ 4.0

อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนกิจกรรมที่สำคัญของกรมบังคับคดี โดยในวันที่ 29 เมษายน 2561 กรมบังคับคดีจัดมหกรรมขายทอดตลาดของธนาคารกรุงไทย นัดที่ 1 ณ ห้อง Meeting room 1 - 2
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 กรมบังคับคดีมีกำหนดจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่

1.) ระหว่างวันที่1 – 4 พฤษภาคม 2561 กำหนดจัดประชุมคองเกรสนานาชาติกับสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 พ.ศ. 2561 (UIHJ XXXIII Congress : Bangkok 2018) ซึ่งเป็นการจัดประชุมในทวีปเอเชียเป็นครั้งแรก โดยได้รับเกียรติจากพลเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีหัวข้อการประชุมที่สำคัญ ประกอบด้วย

1.) หลักประกันความยุติธรรมด้านความปลอดภัยของข้อมูล 2.) หลักประกันความยุติธรรมด้านความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงานกับหลักธรรมาภิบาล 3.) หลักประกันความยุติธรรมด้านเครื่องมือระบบดิจิตอลเพื่อความยุติธรรมที่ยั่งยืน ตลอดจนการนำเสนอผลงานของสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ และการประชุมสามัญของสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ โดยมีผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนศาลยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานศาลปกครอง ผู้แทนสภาทนายความ ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซีย และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

2.) ระหว่างวันที่ 10- 13 พฤษภาคม 2561 จัดมหกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีร่วมกับสถาบันทางการเงินจำนวน 12 แห่ง และการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ภายใต้แนวคิด “ LED 4.0 WEALTH TRANSFORMATION มิติใหม่แห่งความมั่นคง” ภายในงานมหกรรมการเงินกรุงเทพ ครั้งที่ 18 ประจำปี 2561 : MONEY EXPO 2018” โดยมีทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และนครนายก รวมทั้งสิ้น 506 รายการ ราคาประเมินรวม 2,053,358,060.38 บาท ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

3.) ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2561 มหกรรมขายทอดตลาดทรัพย์ของบุคคลล้มละลาย นัดที่ 1 โดยเป็นทรัพย์ที่ประกาศขายของกองบังคับคดีล้มละลาย 1-6 ได้แก่ ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด จำนวนทั้งสิ้น 71 คดี 453 รายการ ซึ่งมีกำหนดขายทอดตลาดทรัพย์ทั้งหมด 4 นัด สำหรับนัดที่ 2 -4 กำหนดขายทอดตลาดทรัพย์ ดังนี้ นัดที่ 2 ในวันที่ 16 มิถุนายน 2561 นัดที่ 3 ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2561 นัดที่ 4 ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 (ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน 2561)

4.) ระหว่างวันที่ 15-17 พฤษภาคม 2561 ธนาคารโลก (World Bank) ตรวจการดำเนินงานตามตัวชี้วัดที่ 9 การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง (Enforcing Contracts) และตัวชี้วัดที่ 10 การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย (Resolving Insolvency) เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีแพ่งและคดีล้มละลายที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ ที่เป็นภารกิจหลักของกรมบังคับคดี

นอกจากนี้ มีกำหนดจัดมหกรรมขายทอดตลาดทรัพย์สินของบริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 และการจัดประชุมด้านการบังคับคดี ร่วมกับหน่วยงานด้านการบังคับคดีล้มละลายของประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจราจา (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายล้มละลาย และปรับปรุงอันดับของประเทศไทยภายใต้ Ease of Doing Business ในด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย ให้ดีขึ้น โดยมีกำหนดจัดขึ้นประมาณเดือนสิงหาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว