'Biy' ใช้ความต่างปลุกตลาด! ยึดออนไลน์จำหน่ายเมล็ดกาแฟ

21 เม.ย. 2561 | 13:19 น.
210461-2008

คนรุ่นใหม่เลือกที่จะทำธุรกิจเป็นของตนเองมากกว่าทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงมากกว่า ‘สิริชัย สาครวิศว’ เด็กหนุ่มที่เลือกแนวทางนี้เช่นเดียวกัน ให้คำตอบกับ ‘ฐานเศรษฐกิจ’ ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน โดยส่วนตัวแล้ว ตอนที่จบการศึกษาก็ถามตัวเองว่า จะเลือกทำงานประจำ หรือ ทำธุรกิจส่วนตัว หากไม่ทำธุรกิจและตัดสินใจเลือกทำงานประจำจะเสียใจหรือไม่ที่ไม่ได้เริ่ม แต่เมื่อพบเจอกับสิ่งที่ต้องการทำแล้ว หากไม่เริ่มก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอไปถึงเมื่อไหร่

เมื่อไตร่ตรองดูแล้วก็มองว่า หากทำงานประจำก็ต้องเหนื่อยไปคนละแบบกับการทำธุรกิจของตนเองจะต้องใช้หัวคิด หรือ แนวทางคิดมากกว่าเดิม และใช้พลังงานมากกว่า ไม่ได้สบายกว่า หรือ ดีไม่ดีอาจจะยากกว่าด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจึงตัดสินใจว่า หากไม่ทำวันนี้ วันหน้าก็คงไม่ได้ทำ ต้องล้มลุกคลุกคลานไปกับสิ่งที่เลือก อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด หากล้มตอนที่อายุยังน้อย ก็ยังมีแรงที่จะก้าวต่อไป หรือ ปรับเปลี่ยนแนวทางไปสู่เส้นทางอื่นได้


Old-Town-Cafe-hopping

เริ่มเส้นทางธุรกิจ
สิริชัย ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีนส์เฮียร์ จำกัด กล่าวต่อไปว่า ตนเลือกทำธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟภายใต้แบรนด์ ‘BIY’ โดยเลือกที่จะทำในสิ่งที่แตกต่าง เพื่อสร้างพื้นที่ทางการตลาดให้กับแบรนด์ ซึ่งธุรกิจดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากการได้เดินทางไปยัง จ.น่าน และมีโอกาสเข้าฟังเสวนาในหัวข้อเรื่องที่เกี่ยวกับกาแฟ เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยจากการฟังในครั้งนั้น ทำให้ค้นพบว่า ในความเป็นกาแฟนั้นมีความแตกต่างกัน ไม่ใช่เป็นแค่สิ่งที่รับประทานแล้วมีแต่ความขมและความเข้มของน้ำสีดำเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องสายพันธุ์ เรื่องการดูแล หรือแม้กระทั่งวิธีการปลูก และอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อรสชาติกาแฟ

จากความสลับซับซ้อนดังกล่าว ทำให้มองว่า กาแฟเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และคิดว่าน่าจะมีแนวทางในการต่อยอดให้กลายเป็นธุรกิจได้ แต่ธุรกิจของจนจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจน โดยกลยุทธ์การทำตลาดในสเต็ปแรก หรือ ช่วงแรกสุดจะเป็นการพัฒนาเว็บไซต์ เพราะจะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากการปล่อยเนื้อหา หรือ คอนเทนต์ (Content) ต่าง ๆ เกี่ยวกับกาแฟ ซึ่งตนจะพยายามย่อยเนื้อหาสิ่งที่ยากให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจได้ง่าย

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

หลังจากนั้น ในสเต็ปต่อมา จึงเริ่มดำเนินการเรื่องการจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับกาแฟ และสเต็ปสุดท้าย ที่แบรนด์ตั้งใจจะทำตั้งแต่ช่วงทีมีไอเดียในการทำธุรกิจ ก็คือ การจำหน่ายเมล็ดกาแฟ ทั้งที่เป็นแบบเมล็ดกาแฟสาร และเมล็ดกาแฟที่คั่วแล้ว โดยต่อเนื่องมาเป็นร้านคาเฟ่ ซึ่งจะเป็นทั้งออฟฟิศที่นั่งทำงาน รวมถึงพื้นที่ในการสต๊อกสินค้า หรือ โชว์รูม และสถานที่ให้ลูกค้าได้ทดสอบ และได้ทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ จึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ ‘Biy’ (Brew It Yourself) หรือ กาแฟที่ชงดื่มได้ด้วยตนเอง

“วัตถุประสงค์ที่แท้จริง ซึ่งแบรนด์ต้องการจะนำเสนอสู่ลูกค้า นั่นก็คือ การจำหน่ายเมล็ดกาแฟสายพันธุ์จากในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจุบัน มีอยู่ประมาณ 7-8 สายพันธุ์ เช่น จากที่ประเทศปานามา, แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ เป็นต้น”


Namura-Coffee

พัฒนาแบบเป็นขั้นตอน
สิริชัย กล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่แบรนด์เลือกที่จะจำหน่ายเมล็ดกาแฟมากกว่าจำหน่ายแบบแก้ว หรือเปิดเป็นร้านในรูปแบบคาเฟ่ทั่วไป เพราะด้วยรูปแบบหรือโมเดลของธุรกิจ หากจะเปิดร้านเหมือนทั่วไปก็เห็นว่า ในปัจจุบัน มีร้านเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก การแข่งขันก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้ามองลึกลงไปว่า หากนอกเหนือจากร้านที่เปิดกันมากมาย ซึ่งมีเงินทุน ก็สามารถทำได้ สเต็ปต่อไปจะอยู่ที่ตรงไหน เราจึงมองให้ลึกลงไปอีกว่า แล้วเมล็ดกาแฟผู้ใดเป็นคนจัดการ ผู้ใดเป็นคนคั่ว เราเลยไปดูว่า ผู้คั่วทำกันอย่างไร คั่วแบบไหน

“ลงลึกเข้าไปดูว่า ผู้คั่วนั้น หากมีเงินทุนก็สามารถซื้อเครื่องมาคั่วได้ ที่สำคัญได้ผลตอบแทนเยอะมากหลังจากที่หักต้นทุน แต่ผู้ที่ขายเมล็ดกาแฟสาร ซึ่งเป็นเกษตรกรอยู่ตรงไหนของห่วงโซ่ธุรกิจ มีผู้ใดที่เข้าไปดูแลหรือไม่ ดังนั้น เราเลยคิดว่าควรที่จะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เปลี่ยนแปลงไปบ้าง”


13-3353

เน้นทำตลาดออนไลน์
ส่วนกลยุทธ์การตลาดในปีนี้นั้น แบรนด์ ‘Biy’ จะมุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นเมล็ดกาแฟมากขึ้น ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยทำควบคู่ไปกับการจัดการให้ผู้บริโภคที่ได้มีโอกาสเข้ามาลิ้มลองรสชาติของกาแฟมากขึ้น เพื่อให้ได้เรียนรู้ว่า ความต่างของกาแฟแต่ละสายพันธุ์ และวิธีการคั่วนั้นเป็นอย่างไร พร้อมกันนี้ ยังจะมีวิธีการปรับเรื่องการค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต (Search Engine) ของแบรนด์ให้ดีขึ้น และการปรับเว็บไซต์ (www.Beanshere.com) ให้มีตารางของกิจกรรม เพื่อให้ลูกค้าได้ติดตามนอกจากเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งมักจะถูกดันลงไปอยู่ข้างล่างตามการออกแบบของโปรแกรม

ด้าน ลูกค้าหลักของแบรนด์ยังเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศ ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่นิยมทำกาแฟดื่มเองที่บ้านเป็นหลัก (Home User) ยังไม่ได้มุ่งเน้นไปยังต่างประเทศ แต่ก็เป็นแผนที่จะดำเนินการในอนาคต โดยกำลังอยู่ในขั้นของการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งอาจจะเป็นการปรับรูปแบบของธุรกิจให้สามารถเติบโตได้ง่าย เพราะเราไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า จะต้องเป็นรูปแบบธุรกิจที่ใช้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น โดยยังต้องมีรายละเอียดอีกเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อลุยตลาดต่างประเทศ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม คาดว่าน่าจะอีกประมาณ 1-2 ปี


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

“การขยายตลาดเราจะพยายามหาพาร์ตเนอร์ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่สามารถมีผลิตภัณฑ์เข้ามาจำหน่ายร่วมกันได้ แต่เราจะต้องดำเนินการเรื่องการจัดการระบบขนส่งให้ดี เช่นเดียวกับการหาพาร์ตเนอร์ในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาด โดยเราจะเน้นที่การขายอุปกรณ์เกี่ยวกับการชงกาแฟ แต่ที่จะเน้นมากยิ่งขึ้น ก็คือ เรื่องของเมล็ดกาแฟที่จะมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า
สิริชัย กล่าวต่อไปอีกว่า กลุ่มผู้มีรสนิยมการบริโภคกาแฟในรูปแบบดังกล่าวยังมีไม่มากในประเทศไทย โดยจะสังเกตได้จากการที่มีกาแฟแบบถุงชงเอง (Drip Coffee) เริ่มทำตลาดมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกาแฟแบบคั่วเข้ม และผู้บริโภคเริ่มอยากทดลองกาแฟใหม่ ๆ นอกเหนือจากที่จำหน่ายในตลาด แบรนด์ ‘Biy’ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ต้องการเลือกเมล็ดกาแฟ โดยเราจะมีทั้งรูปแบบที่เป็นเมล็ดกาแฟคั่วเข้มและคั่วอ่อนให้เลือก และในอนาคตอาจจะทำเป็นกาแฟแบบถุงชงเองจำหน่าย


Screen Shot 2561-04-21 at 20.13.59

ขณะที่ รายได้ปีนี้ยังไม่ได้ตั้งเป้าอย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมา อาจจะยังไม่ค่อยดีเท่าใดนัก เนื่องจากเราเริ่มจากไม่รู้อะไร แล้วก็เติบโตไปพร้อมกับธุรกิจ คาดว่าปีนี้รายได้น่าจะดีขึ้น เพราะระบบที่บริษัทวางไว้เริ่มมีความมั่นคง และจะทำให้การหารายได้ทำได้มากขึ้น

“ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาเข้าร้าน แล้วซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน โดยปัจจุบัน จะเน้นจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับการชงกาแฟมากกว่า ซึ่งส่วนมากผู้ซื้อก็จะเป็นร้านกาแฟและผู้รับประทานตามบ้าน ส่วนเมล็ดกาแฟจะนำขึ้นจำหน่ายบนเว็บภายใน 1-2 เดือนนี้ ตอนนี้กำลังดำเนินการนำเมล็ดกาแฟสารขึ้นเว็บอยู่ และจะมีเมล็ดกาแฟคั่วตามมา โดยเมล็ดกาแฟสารก็จะมีพวกกลุ่มโรงคั่วที่ซื้อ หรือผู้ที่ต้องการทดลองนำไปคั่วเองที่บ้าน เพราะเราไม่ได้ระบุว่า จะต้องจำหน่ายในปริมาณมาก แต่จะจำหน่ายเป็นกิโลกรัม ซึ่งคนก็จะเข้าถึงได้ง่ายกว่า โดยในระยะถัดไปเราจะเน้นที่การขยายเมล็ดกาแฟเป็นหลัก ส่วนอุปกรณ์ก็จะดูว่า ชิ้นไหนขายดี ก็จะคงไว้ แต่จะไม่เพิ่มไลน์สินค้าไปมากกว่านี้”


……………….
สัมภาษณ์ โดย นิธิโรจน์ เกิดบุญภานุวัฒน์ | ภาพ โดย สุกฤษฎ์ สืบสาย
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,353 วันที่ 1-4 เม.ย. 2561 หน้า 13

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คาด! ผลผลิต 'เมล็ดกาแฟโคลอมเบีย' ลดลง ส่อกระทบราคากาแฟทั่วโลก
ALLRIDE กับ3เป้าหมายอัพเกรดเมล็ดกาแฟไทยสู่ระดับพรีเมียม


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว